หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 14

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 14
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 14
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 14
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556

วัดของเราก็ พระก็มาเยอะ เริ่มจะมาเยอะทั้งมาบวชเพิ่ม ทั้งลางานมาบวชก็เยอะ ทั้งมาบวช ที่พักที่อาศัยก็ไม่เพียงพอกัน ก็อยู่กันตามอัตภาพฐานะของเรา อยู่ตามร่มไม้ชายคา หรือว่าอยู่ตามศาลารวมญาติ ศาลาธรรมจักร ไม่ถึงกับลำบากหรอก ไม่ถึงกับลำบากเท่าไร ไม่เหมือนกับสมัยก่อน สมัยก่อนยิ่งลำบาก ลำบากทุกอย่าง สมัยช่วงที่หลวงพ่อเข้ามาใหม่ๆ ตั้งแต่ยังไม่ได้มี ไม่ทำอะไร มีตั้งแต่กับข้าวกับปลา ถ้วยชามก็ยังเก็บเอาตามหลุมศพมาไว้ใส่กับข้าวกับปลา ที่พักที่อาศัยนี่อย่าไปพูดถึงเลย มีแต่ป่ารก ป่าหนาม ป่าเพ็ก ป่าหนามก็เยอะ ไม่เหมือนกับทุกวัน ทุกวันใครเข้ามาก็มีแต่ความร่มรื่นร่มเย็น เพราะว่าต้นไม้ก็ให้ความร่มรื่นร่มเย็น ที่พักที่อาศัยที่หลับที่นอนก็พอได้อาศัยกัน ห้องส้วมห้องน้ำก็พอที่จะได้อาศัยกัน มันฟุ้งเฟ้อเกินไป

แต่เราก็ต้องช่วยกันดูแลรักษากัน ดูแลรักษาทำความสะอาด ฝึกหัดความเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าไปปล่อยปละละเลย ไม่ว่าอยู่บ้านอยู่วัด ความเป็นระเบียบนี่ต้องมาเป็นที่หนึ่ง ความสะอาด สะอาดจากภายใน สะอาดจากข้างนอกข้างใน ความเป็นระเบียบ จัดระบบระเบียบของโลกธรรม จัดระบบระเบียบของความคิดของอารมณ์ จัดระบบระเบียบของกายของเรา ของใจของเรา ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง เราต้องพยายามเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์หาเหตุหาผล แล้วก็จัดระเบียบเราเสีย เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ตลอดเวลา อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง เสียดายเวลา

ภายในวัดนั้นก็เปรียบเสมือนกับบ้านหลังใหญ่ ยิ่งคนเยอะเท่าไร ความสกปรกก็ตามมากันมากเท่านั้น ถ้าไม่มีความเป็นระเบียบ ถ้าไม่รู้จักรักษาระเบียบ รู้จักรักษาวินัย ทิ้งมันเกลื่อน ยิ่งที่นั่ง ที่พักที่อาศัย ตามโต๊ะตามอะไร ซอกมุมต่างๆ มีแต่ถุงขยะเต็มกันไปหมด คนไม่ได้ฝึกก็เป็นอย่างนั้น ถ้าคนฝึกมาดีแล้ว แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่อยากจะให้ดูไม่สวยไม่งาม รู้จักความเป็นระเบียบทั้งภายในทั้งภายนอก ไปอยู่ที่ไหนก็จะมีตั้งแต่ความสงบความสุข อยากจะได้บุญ อยากจะได้ความสุข อยากจะได้ความสะอาด แต่ไม่รู้จักพิจารณา การกระทำไม่ถึงพร้อม อยากจะได้อยากจะรู้ธรรม การละกิเลสไม่มี มันก็ไม่เห็น อยากจะรู้ธรรมมีแต่ความอยาก พากายไปฝึก แต่ความอยากไม่รู้จักละ ความโลภไม่รู้จักละ สติปัญญาไม่รู้จักเอาไปวิเคราะห์ มันจะรู้ได้อย่างไร จะเห็นได้อย่างไร มีแต่ความอยาก

เพียงแค่การเกิดของใจปรุงแต่งมันก็ปิดกันไว้หมด ขันธ์ห้าความคิดมาปกปิด ปิดกั้นไว้อีก กายเนื้อมาปิดกั้นไว้อีก หลายอย่าง ทั้งที่ใจอยากจะได้บุญ อยากจะรู้บุญ อยากจะรู้ธรรม แต่การละ การดับ การสังเกต การพร่ำสอนใจไม่มี มีตั้งแต่ใจเป็นตัวบงการ ขันธ์ห้าเป็นตัวบงการ ปิดกั้นไว้หมด ใจจะสงบใจจะนิ่งได้อย่างไร ใจจะสะอาดได้อย่างไร บางครั้งใจก็สงบ สงบโดยที่สมมติเข้าครอบงำอยู่ เหมือนกับไม่มีอะไร ถ้ากำลังสติเร็วไว ทำความเข้าใจ รู้เห็นจริงๆ นั่นแหละ หาเหตุหาผลจริงๆ นั่นแหละ จนใจแยกได้คลายได้พลิกได้ตามดูได้ ใจถึงจะยอมรับความเป็นจริงได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะยอมรับง่ายๆ แต่ต้องให้เป็นคนขยัน ขยันหมั่นเพียรในการขัดเกลา ในการทำความเข้าใจ ทุกเรื่องที่จะดำเนินให้จิตวิญญาณของเราให้ถึงจุดหมายปลายทาง

พระเราชีเราก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามาบวชแล้วจะรู้ธรรมเลยทีเดียว ถ้าไม่ขยันหมั่นเพียรให้ถูกทางมันก็ยาก ยิ่งมาบวชแล้วเกียจคร้านแล้วก็ใช้การไม่ได้ หนักเข้าไปอีก คนที่มาบวชมาศึกษาที่จะเข้าถึงธรรมได้ก็ต้องเป็นคนขยันหมั่นเพียร มีความเสียสละ มีความอดทน รู้จักใช้ปัญญาในทางที่เป็นสัมมาทิฏฐิให้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าบวชเข้ามาแล้วก็งอมืองอเท้า บวชเข้ามาแล้วฉันก็ขอให้ฉันได้อยู่มีความสุขสบายอะไร หมู่คณะเป็นอย่างไรก็ช่าง สถานที่เป็นอย่างไรก็ช่าง ทำอะไรก็ไม่เป็น แทนที่จะฉลาดกลับโง่ลงไปอีก เราต้องหัดเป็นคนฉลาดรอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงจิต รอบรู้ในสมมติ เดินให้ถึงจุดหมายปลายทางของตัวเรา บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น บวชกายบวชใจ

ถ้าเราเข้าใจแล้วก็อยู่กับบุญ อยู่กับพระ ทำใจให้เป็นพระ ถึงกายจะเป็นฆราวาส ใจของเราก็เป็นพระได้ ถ้าเราเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย ความรับผิดชอบต้องสูง ความเสียสละ ความอดทน ความประหยัด ความมัธยัสถ์ ประโยชน์ ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ประโยชน์ส่วนตัวประโยชน์ส่วนรวม ความเห็นแก่ตัวนี้อย่าให้มี ยิ่งอยู่หลายคน ยิ่งอยู่เยอะคน ความรับผิดชอบ ความเสียสละ ก็พยายามให้เป็นเอกเป็นหนึ่ง บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น มองกลางใจของเราตลอดเวลา รู้ใจของเรา สติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา

คนทั่วไปมีตั้งแต่ความอยาก ความทะเยอทะยานอยาก แต่การกระทำมันไม่ค่อยมี มันจะไปได้ได้อย่างไร จะเอาตั้งแต่ผล แต่ต้นเหตุไม่เคยเข้าไปดูเข้าไปละ เข้าไปทำความเข้าใจ เหมือนกับเราขึ้นบนบ้านบนเรือนนั่นแหละ ต้องอาศัยบันได แต่ละขั้นแต่ละตอนขึ้นไป กว่าจะถึงตัวเรือนก็อาศัยบันไดตั้งหลายขั้น การปฏิบัติใจก็เหมือนกัน อาศัยกาล อาศัยเวลา อาศัยตบะบารมี ความเสียสละ ความอดทน ความอ่อนน้อมถ่อมตน อาศัยความจริง มีสัจจะกับตัวเรา ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น มองโลกในทางที่ดี คิดดีทำดี ไม่ใช่ไปเที่ยวเพ่งโทษแต่คนโน้น เพ่งโทษแต่คนนี้

การฝึกหัดปฏิบัติธรรม ท่านให้แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา เพ่งโทษตัวเรา แล้วก็แก้ไขปรับปรุง อะไรควรละอะไรควรเจริญ ฝึก ศึกษาธรรมะก็เพื่อที่จะศึกษาตัวเรา ไม่ใช่ศึกษาคนอื่น รู้เรื่องเราแล้วก็รู้เรื่องภายนอกหมดนั่นแหละ แต่ส่วนมากจะไปรู้ตั้งแต่ภายนอกกัน มีแต่เรื่องคนโน้นเป็นอย่างนั้นคนนั้นเป็นอย่างนี้ มีตั้งแต่อคติ มีตั้งแต่มลทิน มีแต่คนโง่เท่านั้นแหละมองอย่างนั้นคิดอย่างนั้น คนฉลาดเขาไม่เอาใส่ใจของตัวเองหรอกกิเลสต่างๆ

วันนี้ประมาณแปดโมงครึ่งนะ ฆราวาสญาติโยมท่านใดอยากจะไปบวชนาคด้วยก็ไปบวชนาค พักที่พักที่อาศัยก็พักที่ศาลารวมญาติ พอบังแดดบังลมบังฝน กลางค่ำกลางคืน ทุกเวลาทุกลมหายใจเข้าออก นั่นแหละคือการฝึก ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ อะไรคือความรู้ตัว การเจริญสติเป็นลักษณะอย่างไร ไม่ใช่จะให้ตั้งแต่คนอื่นเขาบังคับพาเดินพานั่ง ใช้การไม่ได้ ต้องให้เราบังคับตัวเรา แก้ไขโดยเรา ปรับปรุงตัวเราก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทางได้ มันก็ต้องอาศัยความเพียร อาศัยตบะอย่างยิ่งยวด ท่านถึงบอกว่าสวนทาง สวนทางกับสมมติ กิเลสถ้าใจมันคลายแล้ว มันก็ตกกระแสธรรม ถ้าใจมันไม่คลายนี่มันก็วิ่งพุ่ง ทั้งหลงด้วย ทั้งทะเยอทะยานอยากด้วย หลายอย่าง

เสร็จแล้ว ตั้งใจรับพรกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง