หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 59

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 59
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 59
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 59
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2558

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง เราได้สำรวจใจของเรา สำรวจกายของเราแล้วหรือยัง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ ให้เป็นธรรมชาติที่สุด

การสูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาว กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้ากระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน ความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา ภาษาธรรมท่านเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องทั้งขณะลมหายใจเข้าลมหายใจออกทุกเวลาเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมแล้วก็รู้ให้ต่อเนื่อง จงพยามเจริญตรงนี้ให้มากๆ

ทั้งที่ใจก็ปรารถนาอยากจะได้บุญ ใจก็เป็นบุญนั่นแหละ อยากมาทำบุญ อยากรู้ธรรม อยากเห็นธรรม ความอยากก็เลยปิดกั้นตัวใจเอาไว้หมด อานิสงส์บุญบารมีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี่ก็มีอานิสงส์มีบุญอยู่ส่วนหนึ่ง ถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ กว่าจะพัฒนาจากเด็กขึ้นมาหาผู้หลักผู้ใหญ่ได้ผ่านกาลผ่านเวลา ได้รับการศึกษา ได้รับการเล่าเรียน มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ มีความขยันหมั่นเพียร บางคนบางท่านก็ยังสมมติมาดี บางคนบางท่านก็ลําบาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ก็ต้องพยายามมาสร้างมาสานต่อทำความเข้าใจ

แต่ละวันตื่นขึ้นมาเรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ เรามีจิตใจที่อ่อนน้อมถ่อมตน มีจิตใจที่มีพรหมวิหาร มีความเมตตา หรือว่าจิตใจมีความแข็งกร้าวแข็งกระด้าง เราก็พยายามแก้ไขปรับปรุง ทั้งภาระหน้าที่การงานสมมติ เรายังสมมติของเราให้ถึงพร้อมให้เกิดประโยชน์แล้วหรือยัง เราก็ต้องพยายามหมั่นสํารวจทั้งโลกทั้งธรรม ทั้งสมมติวิมุตติ

แนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบเอามาเปิดเผย เอามาจําแนกแจกแจงให้สัตว์โลกก็คือพวกเรานี่แหละได้เดินตาม การเจริญสติเป็นอย่างนี้นะ ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นลักษณะอย่างนี้ ใจที่คลายจากความยึดมั่นถือมั่น หรือว่าแยกรูปแยกนามในขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ความเกิดความดับ อาการ ลักษณะอาการ หน้าตาอาการของความคิด ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม อันนี้ส่วนรูปธรรม กายทำหน้าที่อย่างนี้ วิญญาณในกายทำหน้าที่อย่างนี้ ทำไมใจถึงเกิดกิเลส ทำไมใจถึงเกิดความยินดียินร้าย ทำไมใจถึงปรุงแต่งส่งไปภายนอก อะไรคือลักษณะของสติรู้ตัวที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นอย่างไร

บุคคลที่มีอานิสงส์มีบุญ จะไม่ปล่อยเวลาทิ้ง หมั่นสํารวจ หมั่นตรวจตรา หมั่นแก้ไข หมั่นปรับปรุง ทั้งภายนอกทั้งภายใน จนกว่าจะหมดลมหายใจ ก็ต้องพยายามกัน อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง อย่าไปปิดกั้นตัวเราเอง เสียดายเวลา พยายามสร้างประโยชน์ สร้างอานิสงส์ สร้างตบะบารมีให้เต็มเปี่ยม ขณะเรายังมีลมหายใจอยู่ แต่ละวันตื่นขึ้นมา สติรู้กายรู้ใจของเราตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ จะลุกจะก้าวจะเดิน จะเข้าห้องส้วมเข้าห้องน้ำ ทำภาระหน้าที่ต่างๆ มีปัญญารู้ใจ มีสติรู้ใจ สติก็จะกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา ถ้าเรารู้เท่าทันใจ คลายออกจากความคิด แยกรูปแยกนาม ตามดู ตามรู้ ตามเห็นเราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ ว่าท่านสอนเรื่องอะไร

คําว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะอย่างไร เราต้องรู้ด้วย เห็นด้วย ไม่ใช่ว่าไปนึกเอาไปคิดเอา ทีนี้เราต้องละกิเลสตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ ชี้เหตุชี้ผล ตามดู รู้เห็นตามความเป็นจริงจนลงไตรลักษณ์ ลงความว่างหมดแต่กายของเราก็มีอยู่ เราต้องทำความเข้าใจกับโลกธรรม ไม่ให้ใจของเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ในชีวิตเรามีโอกาสมาก เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็พอที่จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ได้

อย่าไปโทษคนโน้น อย่าไปโทษคนนี้ จงโทษตัวเราเอง แก้ไขตัวเราเอง ปรับปรุงตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา เป็นหน้าที่ของเรา เป็นเรื่องของเราส่วนการชําระสะสางกิเลส เราต้องขัดเกลา ละเอา จะไปเที่ยวให้คนโน้นเขาละให้ คนนี้เขาละให้ อย่างนั้นจะไปไม่ถึงไหน กิเลสเกิดขึ้นเมื่อไรเราก็ละ

แนวทางวิธีการเราพอที่อธิบายขยายความ สื่อภาษาสมมติให้เข้าถึงตรงนั้นได้ แต่การละกิเลสเราก็ต้องละเอาทำเอา ไม่ว่าจะกิเลสจะขึ้น เกิดขึ้นเมื่อไร เกิดขึ้นที่ไหน เวลาไหนเราต้องรีบจัดการ แม้แต่ความอยากแม้แต่นิดเดียว อย่าให้มีให้เกิดขึ้น ให้เป็นความต้องการของสติปัญญา แก้ไขด้วยสติด้วยปัญญา อยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ

ก่อนที่จะเข้าถึงตรงนี้ได้ เราก็ต้องพยายามเจริญสติ รู้จักลักษณะของสติ ปฏิบัติธรรมไม่รู้จักธรรม เจริญสติไม่รู้จักสติ คนที่ฝึกหัดปฏิบัติขัดเกลา ปฏิบัติธรรมต้องเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ ขยันทั้งทางโลก ทั้งทางธรรม ถ้ามีตั้งแต่ความเกียจคร้าน งอมืองอเท้า ความเสียสละก็ไม่มี เอาตั้งแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ นิวรณ์เข้าครอบงำ ไปที่ไหนก็ไม่มีความเจริญ อยู่คนเดียวก็ไม่เจริญ อยู่หลายคนก็ไม่เจริญ หนักตัวเอง หนักคนอื่น หนักสถานที่ เราต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลา ทั้งภายนอกทั้งภายใน ไปที่ไหนก็จะมีแต่ความสุข อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุข ก็ต้องพยายามกัน

สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ทำ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง