หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 18

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 18
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 18
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 18
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558

พากันดูดีๆ นะ พระเราชีเรา พิจารณาปฏิสังขาโย กะประมาณในการขบฉันของตัวเราเอง ทุกเรื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เรามีปัญญาหรือว่าสติรู้กาย รู้ใจของเราให้ต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงเวลานี้ แล้วก็เดี๋ยวนี้ เขาเรียกว่าปัจจุบันธรรม กายเป็นอย่างไร ใจปกติเป็นอย่างไร เวลาจะขบจะฉัน ใจของเราเกิดความอยากหรือว่ากายของเราเกิดความหิว สติปัญญาพิจารณาเอาอาหารมาให้กาย ไม่ใช่ไปปล่อยปละละเลย

ทุกเรื่อง ตื่นขึ้นมาก่อนที่จะลุก ลมหายใจของเรา รู้ลมหายใจ รู้ความปกติ จะทำธุระเข้าห้องส้วมห้องน้ำใจปกติ สติปัญญาพากายไปทำหน้าที่ จนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ ในการทำความเข้าใจ แล้วก็รู้จักละ รู้จักดับ รู้จักหยุด ไม่ใช่จะไปรอเวลาโน้น รอเวลานี้ พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ใจที่ปกติเป็นอย่างไร สติปัญญาไปเกิดทำหน้าที่แทนได้อย่างไร ทำไมใจหลงความคิด ทำไมใจถึงหลงอารมณ์ คําว่ารอบรู้ในกองสังขารเป็นอย่างไร สติพลั้งเผลอเป็นอย่างไร นิวรณ์ครอบงำเป็นอย่างไร เราต้องพยายามรู้ให้เท่าทัน

เมื่อคืนนี้ก็พากันอยู่ดึกเนอ ละนิวรณ์ อากาศก็หนาวๆ พากันปั้นน้ำตก ทำน้ำตกใหญ่ เข้ามาในป่านี่เสียงน้ำตกดังสนั่นหวั่นไหว ไปในป่าได้ยินน้ำตกนี่ก็เย็นชื่นใจ เหมือนกับมีความสุขอยู่ในป่าในเขา ได้ยินเสียงน้ำก็เย็น อีกไม่นานก็คงจะได้เห็น ใครเข้ามาก็มีความสุข เข้ามาแล้วใจก็มีความสุข มีความอิ่มเอิบ นั่นแหละบุญได้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว พอเข้ามาในป่าใจมันโล่ง มันโปร่ง เขาเรียกว่าสมาธิธรรมชาติ กาย ใจที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ใจที่ไม่มีความโลภความโกรธ ใจที่ไม่เกิด ได้มาเห็นธรรมชาติภายในวัด ได้มาเห็นพระพุทธรูปหยกใหญ่ ได้เข้ามากราบมาไหว้หลวงปู่ใหญ่ ใจก็เลยเกิดปีติ เกิดสุข แต่หารู้ไม่ว่านั่นแหละคือตัวบุญ มีความสุขว่างั้น เข้ามาแล้วมีความสุข บุญได้เกิดขึ้นแต่ไม่รู้จักรักษาบุญให้ได้ตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาอยู่บ้านก็ทำให้ใจมีความสุขเหมือนกับมาอยู่วัด เจริญสติเข้าไปอบรมใจ รักษาความสุขนั้นไว้ ใจเกิดกิเลสเราก็รู้จักละ รู้จักดับ ใจส่งปรุงแต่งไปได้อย่างไร เราก็ต้องพยายามดู อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง ภาระหน้าที่การงานสมมติเราก็ช่วยกันทำ จากน้อยๆ ไปหามากๆ ทำเรื่องของเราให้จบ ทำภาระหน้าที่การงานของเราให้ดี การกระทำของเรามี ความรับผิดชอบของเรามี อนาคตก็ออกมาดี ไม่ใช่ว่าไปที่โน่นก็ไปตำหนิคนโน้นเป็นอย่างนั้นคนนั้นเป็นอย่างนี้ ใจของเรามันไม่ดี มันถึงไปอคติไปเพ่งโทษของภายนอกกัน เรามาแก้ไขใจเรา ปรับปรุงตัวเรา ทำกายให้เป็นวัด ทำใจให้เป็นพระ เราก็จะได้ฟังธรรมะอยู่ตลอดเวลา ถ้าสติปัญญาของเราต่อเนื่อง หมั่นพร่ำสอนตัวเราเอง แก้ไขตัวเราเอง การละกิเลสเราก็ละเอา การทำความเข้าใจ เราก็ละอยู่ตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา อย่าให้คนอื่นได้บังคับ อย่าให้คนอื่นได้เคี่ยวเข็ญต้องทำ ต้องโน่นต้องนี่ ต้องเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง หมั่นเพียร หมั่นเสียสละ วิเคราะห์ แก้ไขตัวเรา อยู่ด้วยกันหลายคนก็เพิ่มความเพียร ความสมัครสมานสามัคคีกัน อยู่ด้วยกันก็ทะเลาะเบาะแว้งกันก็ไม่ไหวนะ ต้องแก้ไขตัวเรา อยู่ที่นี่อย่าให้ได้ยิน อย่าให้มี ถ้ามีแล้วก็ต้องแก้ไข ถ้าแก้ไขตัวเองไม่ได้ก็อยู่กับคณะไม่ได้ก็เท่านั้นเอง

ตั้งใจรับพรกัน

ขอให้ทุกคนทุกท่าน จงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน เราอย่าไปมองข้าม ถึงเราไม่ดูไม่รู้ เขาก็หายใจเข้าหายใจออกอยู่ เราปล่อยปละละเลย เราก็หายใจมาตั้งแต่เกิด ส่วนศรัทธาก็มีอยู่กันเต็มเปี่ยม ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศรัทธาในพระรัตนตรัย การทำบุญให้ทาน ความเสียสละก็มีกันอยู่ แต่การเจริญสติที่จะเข้าไปรู้ลักษณะของใจที่ปกติเป็นอย่างไร ใจที่ปรุงแต่งส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างไร ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม มาปรุงแต่งใจของเราได้อย่างไรซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม

ส่วนรูปธรรมคือร่างกายของเรานี่ยกเอาไว้ กําลังนั่งอยู่นี่แหละ ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมาใหม่นี่แหละ ถ้าเราสร้างให้ต่อเนื่อง เอาไปทำความเข้าใจ อบรมใจของเราได้ ควบคุมใจจนชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล จนใจปล่อยวางขันธ์ห้าละวางกิเลสได้ เขาถึงจะเรียกว่าปัญญาวิปัสสนา ถ้าแยกได้ ถ้าใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้ ใจก็จะพลิกจากของที่คว่ำอยู่ก็จะหงายขึ้นมา อยู่ข้างบนเหมือนกับฝ่ามือกับหลังมือ ฝ่ามืออยู่ข้างล่าง ถ้าแยกได้ ฝ่ามือก็พลิกขึ้นไปข้างบน หลังมือก็กลับไปอยู่ข้างล่าง นั่นแหละคือสมมติกับวิมุตติ ถ้าแยกได้

ทีนี้แหละการทำความเข้าใจ การละกิเลสต้องตามมาอีก การเจริญพรหมวิหารทุกอย่างต้องพร้อมมูลกันหมด เหมือนกับบันไดจะขึ้นถึงครัวเรือนก็อาศัยลูกบันได อาศัยราวบันได จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องสมบูรณ์แบบ เราก็ต้องพยายามสํารวจ สำรวมกาย วาจา แล้วก็ใจ แก้ไขใจของเรา ปัญญาของพระพุทธองค์ท่านสอนอย่างไร ปัญญาทางโลกสอนอย่างไร ทั้งโลกทั้งธรรมก็อยู่ด้วยกัน อะไรควรละ อะไรควรเจริญ

บุคคลที่มีบุญมีอานิสงส์จะไม่ปล่อยเวลาทิ้งโดยเด็ดขาดทั้งกลางวันทั้งกลางคืน จนหมดความสงสัย หมดความลังเล มีตั้งแต่จะเดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือพระนิพพาน คือไม่ต้องกลับมาเกิดกัน คําว่านิพพานของพระพุทธองค์หมายถึงลักษณะอย่างไร ใจที่ปราศจากกิเลส ใจที่คลายจากความยึดมั่นถือมั่น ใจที่สะอาด ใจที่บริสุทธิ์ นั่นแหละคือความว่าง ความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าตายไปแล้วถึงได้ ต้องรู้ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ วาง ว่างขณะอยู่ปัจจุบัน ทำใจให้สะอาดให้บริสุทธิ์อยู่ปัจจุบัน มองเห็นหนทางเดิน

แต่เวลานี้พวกเราทุกคนก็เดินกันอยู่ แต่จะเดินถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ หรือไปแวะไปเล่นไปเที่ยวตามข้างทางอยู่ ก็พยายาม ล้มลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่อยู่ตลอดเวลา ปฏิบัติธรรมต้องรู้จักธรรม เจริญสติต้องรู้จักลักษณะของสติปัญญาเอาไปใช้ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแบบหลงงมงาย เราต้องรู้ความจริงให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา เชื่อในความตรัสรู้พระพุทธองค์เสียก่อน แล้วปฏิบัติตามให้ปรากฏให้เห็นเสียก่อน ท่านถึงบอกให้เชื่ออีก ทำอย่างนี้ๆๆ อาการอย่างนี้จะปรากฏอย่างนี้ จะเห็นกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย ถ้าเราทำความเข้าใจ ละกิเลสดับความเกิดได้ สติ ปัญญา สมาธิเขาก็จะรักษาเรา ศีลสมาธิเขาก็จะรักษาเรา ยืนเดินนั่งนอนก็จะเป็นแค่เพียงอิริยาบถ

หลวงพ่อก็เพียงแค่พูดให้ฟัง แค่เล่าให้ฟัง ของเก่า เล่าของเก่าไม่เยอะ เอาของเก่านี่แหละ แต่ต้องทำให้รู้ให้เห็น จากน้อยๆ ไปหามากๆ ส่วนมากก็มีตั้งแต่จะคิดเอา หาเหตุหาผลมาทับมาถม แม้แต่สมมติก็ยังแก้ไม่ตก ก็เลยมาทับถมดวงใจของตัวเอง จะไปหาธรรมก็เลยไม่เจอสักที เพราะไม่ได้คลายออกจากใจของเราให้มันหมด บริหารด้วยปัญญาล้วนๆ แม้แต่กําลังสติก็ยังมีไม่เพียงพอ

สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี นาที 2 นาทีก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทุกอิริยาบถนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง