หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 92 วันที่ 3 ธันวาคม 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 92 วันที่ 3 ธันวาคม 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 92 วันที่ 3 ธันวาคม 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 92
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 3 ธันวาคม 2560

มีความสุขกันทุกคน ดูดีๆ นะ พระเราชีเราพิจารณาปฏิสังขาโย อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง ตั้งแต่ตื่นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ รู้กาย รู้ลมหายใจเข้าออก รู้ความปกติของใจ แล้วก็รู้ลักษณะการเกิดการดับของใจ ของความคิด ของอารมณ์ต่างๆ ถ้าเราไปปล่อยปละละเลย เราจะไปดูเมื่อเราตั้งใจตั้งสติดูมัน ก็ไม่ทัน เราต้องพยายามเจริญสติเข้าไปอบรมใจของเราให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็นอยู่ตลอดเวลาทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกระทั่งหลับ จนกระทั่งหมดลมหายใจ จุดมุ่งหมายโน่นไม่ต้องกลับมาเกิดกัน ละกิเลสให้หมด ดับความเกิดให้หมดจด

จิตใจของทุกคนนี้ ‘หลง’ หลงมาเกิดตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ หลงวนเวียนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ แล้วก็มาก่อร่างสร้างขันธ์ห้า แล้วก็มาอาศัยขันธ์ห้าก็คือร่างกายของเรา วิญญาณก็คือตัวใจของเราเข้ามาหลงมายึดขันธ์ห้า แล้วก็เกิดต่อก็คือความคิดส่งออกไปภายนอกต่อแล้วก็ยึดต่อ ขณะยังอยู่ในกายอยู่

พระพุทธองค์ท่านให้เจริญสติลงที่กายให้ได้จนเป็นอัตโนมัติ ดูรู้ใจของเรา อบรมใจของเราอยู่ตลอดเวลาให้ใจของเราอยู่ในกองกุศลอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเราจะไปปล่อยปละละเลย คนทั่วไป คนทั่วไปนั้นก็จะไปมั่นหมายเอาความคิด เอาความคิดที่เกิดจากใจเกิดจากขันธ์ห้าซึ่งมีอยู่เดิม อาจจะถูกต้องอยู่ในระดับของสมมติแต่ยังไม่ถูกต้องในหลักธรรม ถูกต้องอยู่ในระดับของสมมติ อยู่ในสัมมาทิฏฐิ ใจอยู่ในกองบุญกองกุศลแต่ยังหลงอยู่ หลงเกิด หลงยึด หลงติด

ท่านให้เจริญสติลงที่กายของเราให้ได้จนเป็นมหาสติ จนใจคลายออกจากขันธ์ห้า เพียงแค่ใจคลายออกจากขันธ์ห้าหรือว่าแยกรูปแยกนาม อันนี้ก็เข้าสู่สัมมาทิฏฐิ เริ่มต้นความเห็นถูกทางด้านปัญญา การตามดู ตามรู้ ตามเห็น เราก็จะเข้าใจใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกายในขันธ์ห้าของเรา เข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ว่าท่านสอนเรื่องชีวิต การดำเนินชีวิต คําว่า อัตตา อนัตตา เป็นอย่างไรเราก็จะเข้าใจ ถ้าเราแยกแยะได้สมมติวิมุตติเราก็จะเข้าใจ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าก็จะเข้าใจ ละกิเลสหยาบกิเลสละเอียดเข้าสู่วิปัสสนาญาณวิปัสสนาภูมิจนดับความเกิด ละกิเลสได้หมดจด ถ้าเราหมั่นสนใจดูรู้อยู่ในกายของเรา เราก็จะเห็น

แต่ส่วนมากก็ไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องการเดินปัญญาเท่าไร สนใจในเรื่องของการทำบุญให้ทานกับแสวงหาการปฏิบัติ แทนที่จะเจริญสติลงที่กาย ทำความเข้าใจ อันนี้คือวิญญาณในกาย อันนี้คือรูป อันนี้คือนาม อันนี้คือใจ ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ตรงนี้ถึงจะเป็นการเข้าวัดที่แท้จริง ทำกายให้เป็นวัด ทำใจให้เป็นพระ เจริญสติเข้าไปเยี่ยมพระอยู่บ่อยๆ สนุกทำบุญ อะไรที่จะเป็นกุศลเราก็ทำ สนุกทำบุญ ละอกุศลเจริญกุศลแต่ไม่ยึด อยู่เหนือบุญเหนือบาปนั่นแหละ มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิด หรือไม่กลับมาเกิดกัน

หลักสำคัญในศาสนาพุทธคือเรื่องอนัตตา ความว่างเปล่า แต่เราก็มองเห็นเป็นตัวเป็นตนเพราะว่าใจยังไม่ได้คลาย ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมาเท่าไรเข้าสู่กฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ถ้าเรามาเห็น เห็นความเกิดความดับของความคิดของอารมณ์ซึ่งเป็นนามธรรมเราก็เห็นความไม่เที่ยง การเกิดของใจเกิดๆ ดับๆ เราก็เห็นความไม่เที่ยง การยึดติด ยึดอยู่ในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ยึดอยู่ในโลกธรรมนี่แหละที่เป็นกิเลสปิดบังอำพรางเอาไว้

แม้แต่การเกิดของใจ การเกิดของใจก็ปิดบังตัวใจเอาไว้หลายชั้น มีหลายชั้นมากเลยทีเดียว ถ้าเราไม่หมั่นสนใจจริงๆ ก็ยากที่จะเข้าใจ เราก็ต้องพยายามเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ใจของเรา วิเคราะห์กายของเรา น้อมใจของเราให้มาอยู่ในพระรัตนตรัย เชื่อบุญ เชื่อบาป เชื่อกรรม แล้วก็ปฏิบัติ กายวาจาใจของเราให้อยู่ในกองบุญเราก็จะมีความสุข ถึงใจไม่หลุดพ้นก็อยู่ในกองบุญเอาไว้ ทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่ในกาย

พระพุทธองค์ท่านชี้แนะเรื่องเหตุเรื่องผล เหตุผลภายใน เหตุผลสมมติ เหตุผลวิมุตติ วิมุตติหลุดพ้น หลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราจะเดินปัญญาขั้นสูงกันจริงๆ ก็ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ แต่เราก็ยังพากันเดินอยู่ เดินขึ้นสู่กองบุญกองกุศลเหมือนกับเราขึ้นตัวเรือน เราก็กําลังจะก้าวขึ้นบันไดได้สองสามขั้นคือ ทาน ศีล สมาธิเล็กๆ น้อยๆ ไม่ยอมเดินปัญญา ละกิเลสหยาบกิเลสละเอียดเข้าสู่วิปัสสนาที่แท้จริง มันเป็นปัญญาโลกียะที่จะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในระดับบุญระดับกุศล ตรงนี้เราก็ต้องพยายามเอา ค่อยสร้างสะสมคุณงามความดี ค่อยสร้างสะสมบุญบารมีไปเรื่อยๆ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่แก้ไขใหม่ปรับปรุงตัวเราใหม่ ถ้าเราสอนเราไม่ได้ไม่มีใครจะสอนเราได้เลย นอกจากตัวของเรา

ทั้งพระฆราวาสญาติโยมก็พากันช่วยกัน สมมติเราก็ช่วยกัน ส่วนกิเลสภายในเราก็จัดการ กิเลสหยาบเป็นอย่างนี้ กิเลสละเอียดเป็นอย่างนี้ อย่าไปเสียดาย ขัดเกลาเอาออกให้มันหมด ใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์ พลิกปัญญาโลกให้เป็นปัญญาธรรม กายของเราก็ยังเป็นกายของเราอยู่ดีๆ ครอบครัวของเราก็เป็นครอบครัวของเราอยู่ดีๆ แต่เราต้องทำความเข้าใจ ให้ใจรับรู้แล้วก็ทำหน้าที่ด้วยพรหมวิหารด้วยความเมตตา ไม่ให้ใจเข้าไปหลงเข้าไปยึด สนุกทำบุญ ให้อภัยทานอโหสิกรรม ละกิเลสออกจากใจ ละความตระหนี่เหนียวแน่นออกจากใจ มองโลกในทางที่ดี คิดดีทำดี

โลกภายนอกก็คือโลกธรรมแปด ปัจจัยสี่โลกธรรมแปด โลกภายในก็คือใจของเรากายของเรา ท่านถึงว่ากายเป็นก้อนโรค กายเป็นก้อนโรคเป็นรังแห่งโลก ทั้งเป็นก้อนโรคทั้งเป็นรังแห่งโลก เราก็ต้องพยายามศึกษาจําแนกแจกแจงให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น ที่ว่าเป็นกองเป็นขันธ์แต่เราก็มองเห็นเป็นก้อน ไปรวมกันเป็นก้อน ทั้งสติปัญญา ทั้งใจ ทั้งกิเลสรวมกันไปเป็นก้อน ท่านให้เจริญสติตัวใหม่

ใจเป็นธาตุรู้ สติเป็นผู้รู้ เราต้องสร้าง ‘ผู้รู้’ เข้าไปอบรม ‘ธาตุรู้’ เพราะว่าใจของเรายังหลง ทั้งหลง ทั้งเกิด ทั้งรู้ ทั้งยึด ต้องไปวิเคราะห์หาเหตุหาผลชี้เหตุชี้ผล กว่าเขาจะเปิดเผยตัวออกมาให้เราได้เห็นนี่ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียร เป็นบุคคลที่มีความเสียสละ เป็นบุคคลที่ฝักใฝ่สนใจอยู่ตลอดเวลาจนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ ในการสร้างคุณงามความดี ก็ต้องพยายามกันนะ อย่าไปเลือกกาลเลือกเวลา อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง

คําว่า ปัจจุบันธรรม คือทุกขณะลมหายใจเข้าออกทุกขณะจิต ก่อนจะเป็นทุกขณะลมหายใจเข้าออก ก่อนจะเป็นทุกขณะจิต เราต้องรู้ แยกแยะ แยกรูปแยกนาม ตามดูจากกําลังสติพลั้งเผลอ แล้วก็กําลังสติของเราต่อเนื่องจนเห็นเหตุเห็นผล วันหนึ่งภายใน 5 นาที สติของเรามีต่อเนื่องหรือไม่ หรือว่ามีตั้งแต่ความคิดที่เกิดจากวิญญาณเกิดจากอาการของขันธ์ห้า เราต้องแจงให้ได้ว่าเราจะเอาอะไรไปใช้ เอาอะไรไปละ ไปเห็นเหตุเห็นผล

การฝึกหัดการทำบุญให้ทาน ความเสียสละมีอยู่เป็นพื้นฐาน แต่การเจริญปัญญาอาจจะมีบ้างแต่ไม่ได้เป็นเต็มร้อย เป็นมหาสติมหาปัญญาค้นคว้าจนกิเลสออกหมดจากใจของเรา มีอะไรเราก็พากันพยายามทำ มนุษย์เกิดมาก็มีแต่เรื่องบุญกับบาป เพราะว่าทุกคนเกิดมาเท่าไรตายหมด ไม่ตายช้าก็ตายเร็ว ขณะที่ยังไม่ถึงเวลานี้แหละสำคัญ ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ได้

--------

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสทางลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน อดทนไปอีกสักนิดหนึ่ง สร้างตบะสร้างบารมี ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย หลวงพ่อก็เพียงแค่บอกวิธีการแนวทาง แล้วพวกท่านจงพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่หลวงพ่อพูด แล้วก็ทำตาม นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ก็จะหยุด

ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละเขาเรียกว่า สติรู้กาย เราพยายามรู้ เวลาลมสัมผัสเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ลมหายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ความรู้สึกตรงนั่นแหละ สติ คอยดูความรู้สึกนั่นแหละเรียกว่า สติ ลมหายใจเข้าก็เหมือนกับเราเฝ้าอยู่ประตูทวาร รถคันไหนวิ่งเข้าก็มี ก็รู้ รถคันไหนวิ่งออกก็รู้ รู้ให้ต่อเนื่อง ความรู้ตัวที่ต่อเนื่องเขาเรียกว่า สัมปชัญญะ อันนี้เพียงแค่รู้ตัว รู้กายเฉยๆ

ลึกลงไปอีกเราก็จะเห็น เห็นการเกิดการดับของใจหรือว่าวิญญาณในกายของเรา เกิดส่งไปภายนอก เกิดกิเลสบ้าง ปรุงแต่งบ้าง บางทีก็เห็นความคิดที่ผุดขึ้นมาอันนี้เป็นอาการของขันธ์ห้าซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม เขาผุดขึ้นมาใจของเราจะเคลื่อนเข้าไปรวม ถ้าเขาเข้าไปรวมแล้ว เขาจะเป็นตัวเดียวไปด้วยกัน ถ้าเราหัดสังเกต สังเกตไม่ทันเราก็หยุดเอาไว้ดับเอาไว้ ท่านถึงเรียกว่า เป็นการฝืน เป็นการทวนกระแส

เพราะว่าจิตของทุกคนชอบคิด ชอบเที่ยว ชอบปรุงแต่ง ชอบเป็นทาสของกิเลส เขาหลงเกิดมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด เกิดมาแล้วก็หลงมาเกิด มาสร้างขันธ์ห้า มาสร้างภพมนุษย์ แล้วก็มาอาศัยในขันธ์ห้า หลายสิ่งหลายอย่างที่เขาสร้างปิดกั้นตัวเองทั้งกายทั้งความคิด ส่วนนามธรรมแล้วก็เป็นทาสกิเลสต่อ ทั้งความโลภ ความโกรธ ทั้งความหลง ทั้งความทะเยอทะยานอยาก ทั้งอยากทั้งไม่อยาก

เพราะว่าการเกิดของใจนั่นแหละคือความหลงของใจอันละเอียด เราจงเจริญสติเข้าไปเห็นเหตุเห็นผล ตามดู รู้ เห็น กําลังสติก็จะกลายเป็นมหาสติ มหาปัญญา หมดความสงสัยลังเลที่จะทำความเข้าใจ มีตั้งแต่จะละกิเลสออกให้มันหมดจด พูดง่าย แต่การกระทำการลงมือต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ ความฝักใฝ่ ความสนใจเป็นเลิศ ความฝักใฝ่ที่ถูกที่ ถูกทาง ถูกแนวทาง

แนวทางนั้นคําสอนของพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบแล้วก็เอามาเปิดเผย การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การสร้างบารมีเป็นอย่างนี้ การละกิเลสเป็นอย่างนี้ ละกิเลสได้ ได้มากได้น้อย กิเลสหยาบกิเลสละเอียดจนไม่เหลือ จนเหลือตั้งแต่สมมติคือก้อนร่างกายของเรา จนกว่าเขาจะหมดลมหายใจ ที่ท่านบอกว่าเป็นกองเป็นขันธ์ในร่างกายของเรา ทำไมท่านถึงว่าเป็นกองเป็นขันธ์ ท่านให้เจริญสติเข้าไปดู อันนี้กองของวิญญาณหรือว่าตัวใจ อันนี้กองอาการของรูปของนาม เป็นกุศลบ้างอกุศลมาก มีอยู่ในกายของเราหมด

บุคคลที่ขยันหมั่นเพียร การเจริญสติเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ เราจะทำยังสมมติของเราให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างนี้ก็จะมีความสุข อย่าพากันไปทิ้งบุญเด็ดขาด การทำบุญ การให้ทาน ความเสียสละ จนออกจนหมดจากจิตจากใจของเรา เราอย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง ทำได้เท่าไรก็เอา ดีกว่าไม่ได้ทำ ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่แก้ไขใหม่ ยิ่งฝึกไปเท่าไรยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไรยิ่งทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจแล้วก็ค่อยละให้เหลือตั้งแต่ปัญญา ใจเป็นธาตุรู้ สติเป็นผู้รู้ เขาจะรู้พร้อมกันในขั้นสุดท้าย ปัญญาเป็นตัวเกิด ใจเป็นตัวรับรู้อยู่ในกายของเรา ได้บ้างไม่ได้บ้างก็พากันทำ

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน อย่าไปเพ่ง ถ้าเราไปเพ่งสมองก็จะตึง ถ้าเราเอาใจไปจดจ่อหน้าอกก็จะแน่น เพียงแค่เราหัดวิเคราะห์ สร้างความรู้ตัวที่ลมหายใจเข้าออกให้เป็นธรรมชาติที่สุด ก็ต้องพยายามกัน ทำความเข้าใจให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดีนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง