หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 56 วันที่ 15 มิถุนายน 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 56 วันที่ 15 มิถุนายน 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 56 วันที่ 15 มิถุนายน 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 56
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 15 มิถุนายน 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสลมหายใจของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ ถึงเราละไม่ได้เด็ดขาดก็ขอให้หยุดด้วยการสร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเรา ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน นี่แหละที่ท่านเรียกว่า รู้ตัว พยายาม เราสร้างความรู้ตัวตรงนี้ตั้งแต่ตื่นขึ้น ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงจนกว่ากําลังสติของเราจะเข้มแข็งขึ้น แล้วก็เอาไปอบรมใจของเรา

ส่วนใจ ส่วนการเกิดการดับของใจ การเกิดการดับของอาการของใจหรือว่าขันธ์ห้า ความคิดของเรานั่นแหละเขาเกิดๆ ดับๆ เรารู้อยู่เพราะว่าใจเป็นธาตุรู้ เรามาสร้างผู้รู้ คือมาเจริญสติเข้าไปอบรมใจของเรา ใจเกิดกิเลสเราก็รู้จักละ ใจเกิดความเกียจคร้านเกิดความตระหนี่เหนียวแน่น เราก็พยายามขัดเกลา จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากความคิด ซึ่งเรียกว่าแยกรูปแยกนาม นั่นแหละใจก็จะหงายขึ้นมา ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา

ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมาก็จะตามเห็นการเกิดการดับของอาการของขันธ์ห้าว่าเป็นเรื่องอะไร บางทีก็เป็นเรื่องอดีต หรือว่าเรื่องอนาคต บางทีก็กลางๆ บางทีก็เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง เราพยายามหัดสังเกตหัดวิเคราะห์ อบรมใจของเราตามดูอาการของขันธ์ห้า เห็นความเกิดความดับ เห็นเหตุเห็นผล ทุกเรื่อง จนใจยอมรับความเป็นจริงได้ ใจเขาถึงจะปล่อยวางได้

ขณะนี้เวลานี้กําลังสติของเรามีไม่เพียงพอ เพียงแค่ให้ต่อเนื่องกันสักนาทีสองนาที นี้ก็ทั้งยากอยู่ ส่วนการเกิดของใจเดี๋ยวก็คิดแว็บไปนู้นแว็บมานี่ บางทีก็เป็นเรื่องเป็นราว บางทีก็ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าเราตามดูรู้เห็น ควบคุมอบรมใจของเรา ท่านเรียกว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนตัวแรกก็คือตัวสติที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละ ต้นตัวที่สองก็คือตัวใจ ไปเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผล เข้าใจในเรื่องอัตตาอนัตตา เข้าใจในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามคําสอนของพระพุทธองค์ รู้ด้วยเห็นด้วยเข้าถึงด้วยตั้งแต่ตื่นขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย เราต้องจําแนกแจกแจงให้ชัดเจน

เรื่องความอยาก ความหิวก็เหมือนกัน กายหิวหรือว่าใจเกิดความยาก เราก็พยายามหยุด พยายามดับ ดับความอยากให้ได้เสียก่อนแล้วเราก็ค่อยทาน กําลังสติของเรามีมากขึ้นๆๆ จนรู้เท่าทัน เห็น รู้จักควบคุม ควบคุมแล้วก็เห็น จนใจของเราคลายจากขันธ์ห้า พลิกเหมือนกับหงายของที่คว่ำเขาเรียกว่าแยกรูปแยกนาม แยกรูปแยกนามเพียงแค่เริ่มต้นความเห็นถูกเท่านั้นเอง

ถ้าเราตามดูเห็นความเกิดความดับ เห็นกิเลสต่างๆ ถ้าเรารู้จักขัด รู้จักเกลา รู้จักละให้กิเลสของเราให้เบาบางลงเรื่อยๆ จิตใจของเราก็จะยกระดับเข้าสู่ความสะอาดความบริสุทธิ์ได้มากขึ้นๆ จนไม่มีความเกิดหรือว่าความอยากอะไรที่ใจของเรา แม้แต่การเกิดของใจ รู้ความจริงแล้วเขาก็ไม่เกิด การเกิดก็เป็นทุกข์ การไปยึดมั่น ยึดมั่นในสิ่งต่างๆ ก็เป็นทุกข์ กายเราทำหน้าที่อย่างไรเราต้องทำความเข้าใจ เราจะไปห้ามตา อย่าไปดูนะ ก็ไม่ได้ ห้ามหูอย่าไปฟังนะ ก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของเขา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ ก็ผ่านมาทางทวารทั้งหก ที่ท่านบอกสักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟัง มีสติปัญญาคอยดู คอยรู้ใจของเรามันเป็นอย่างไรบ้าง ตากระทบรูปใจเกิดความยินดียินร้ายไหม หูกระทบเสียงใจเกิดความยินดี ยินร้ายหรือเปล่า ผลักไสหรือเปล่า หรือว่าดึงเข้ามาหรือเปล่า ใจของเราเป็นกลางแล้วปกติ มีหลายเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้า ทุกเรื่องเลย จนกว่าจะหมดลมหายใจ

เพียงแค่เรื่องลมหายใจเข้าออกก็ขาดการวิเคราะห์ขาดการสังเกตกันมากเดียว คนเราอยู่เนื่องด้วยลมหายใจตั้งแต่เกิด ถ้าไม่หายใจแล้วภายในนาทีสองนาทีก็ไปแล้ว สองสามนาทีก็ไปแล้ว เราขาดการพิจารณา เพราะว่าใจของเรายังหลงอยู่ ทุกคนก็ถ้าไม่ได้เจริญสติให้ต่อเนื่อง เราก็ว่าเรามีสติมีปัญญาเต็มเปี่ยม สติปัญญาของเรานั้นมีเต็มเปี่ยมก็จริง แต่เป็นสติปัญญาของสมมติของโลก ไม่ใช่สติปัญญาที่เราจะเจริญขึ้นมา สร้างขึ้นมาเข้าไปขัดเกลากิเลส เข้าไปอบรมใจ ชี้เหตุชี้ผล เราต้องมาเจริญสติหรือว่ามาสร้างผู้รู้ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง จนเอาไปใช้รู้เท่ารู้ทันรู้กันรู้แก้ รู้จักพิจารณาอันนี้สมมติอันนี้วิมุตติ อันนี้เรื่องอัตตาอนัตตา อันนี้ภาษาธรรมภาษาโลก ถ้าใจของเราคลายแยกรูปแยกนามได้ ใจของเราก็เป็นธรรม อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนินก็ตามมา

แต่ละวันตื่นขึ้นมาเราพยายามสร้างความขยันหมั่นเพียร ถ้าเราไม่สอนใจของเราไม่มีใครจะสอนใจเราได้หรอกนอกจากตัวของเรา ก็พยายามเอา ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ เราสอนเราไม่ได้ ไม่มีใครจะสอนเราได้ ครูบาอาจารย์ก็เป็นแค่เพียงตําราเป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทางให้ เราพยายามดำเนินให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ท่านจึงบอกให้เชื่อ อยู่กับสมมติก็เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ ร่างกายของเรานี่แหละก้อนสมมติ สมมติว่าเป็นโน่นเป็นนี่ เป็นหญิงเป็นชาย เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง ในทางสมมตินั่นก็เป็นอยู่ ในทางวิมุตติในทางหลักธรรมแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมา เกิดมาแล้วก็เข้าสู่ความเสื่อมความสลายตามกฎของธรรมชาติ ถ้าเราขาดการวิเคราะห์ขาดการพิจารณาขาดการแยกแยะที่แท้จริงเราก็จะเข้าไม่ถึงตรงนี้

การฝึกหัดปฏิบัติต้องเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ หมั่นขัดเกลากิเลสออกทุกอย่าง ความเกิดความอยาก แม้แต่นิดหน่อยก็ไม่ให้เกิดขึ้นที่ใจ ให้เกิดด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติด้วยปัญญา อยู่ด้วยสติอยู่ด้วยปัญญา ถึงเอาการเอางานเป็นการปฏิบัติ ทำการทำงานไปด้วยใจรับรู้ไปด้วย มีความสุข ใจเกิดความอยาก หรือว่าเกิด

ความเกิดนั่นแหละคือความหลง เราดับความเกิด เราดับความอยากเสีย ตั้งแต่ต้นเหตุ กําลังของกิเลสก็จะเหือดแห้งไปเรื่อยๆ เหือดแห้งไปเรื่อยๆ ส่วนมากก็มีตั้งแต่ส่งเสริม หรือว่าไม่สนใจ เพราะว่ากิเลสมันก็ใช้การใช้งานเราตั้งแต่เกิดหลายภพหลายชาติมา เราก็ต้องพยายามเจริญสติเข้าไปเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผล สร้างตบะสร้างบารมี ให้มีให้เกิดขึ้นในใจของเรา

ใจของเรามีความเสียสละหรือเปล่า ใจของเรามีสัจจะ เรามีความเพียรด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติด้วยปัญญาหรือไม่ ชี้เหตุชี้ผลจนใจยอมรับความเป็นจริงได้นั่นแหละ เขาถึงจะปล่อยจะวางได้ ผิดพลาดแก้ไขใหม่ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็ต้องพยายาม พยายามสร้างอานิสงส์ สร้างบุญสร้างบารมี เป็นเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวของเรา

ในการทำบุญในการให้ทาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราทำบุญให้ตัวเราแล้วหรือยัง เราละความเกียจคร้าน สร้างความรับผิดชอบ สร้างความขยัน การกระทำของเราให้ถึงพร้อมแล้วหรือยัง ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย เพียงแค่สมมติเราก็พยายามดำเนินให้อยู่ดีมีความสุข ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ถึงไม่ร่ำไม่รวยเราก็พยายามมีความสุขในความเป็นอยู่ของเรา ถ้าถึงวาระเวลาเราก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางกัน

เอาล่ะ วันนี้ก็เจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง