หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 67 วันที่ 30 กรกฎาคม 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 67 วันที่ 30 กรกฎาคม 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 67 วันที่ 30 กรกฎาคม 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 67
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของตัวเราให้ต่อเนื่องให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ที่เกิดจากใจก็จะหยุด ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน อย่าไปบังคับลมหายใจ อย่าไปบีบลมหายใจ

หายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ เป็นการผ่อน ผ่อนคลายทางด้านร่างกาย หายใจก็ไม่อึดอัด เวลาเราหายใจเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา ความรู้สึกไม่ชัดเจน เราก็สูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ สัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน เราพยายามฝึกตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บ ก็รู้สัมผัสของลมหายใจเข้าออกปั๊บ หายใจเข้าหายใจออกให้ต่อเนื่อง รู้ให้ต่อเนื่อง อันนี้ที่เรียกว่า สติรู้กาย เราต้องสร้างขึ้นมา แล้วก็พยายามสร้างให้ต่อเนื่อง เราก็จะได้มองเห็นว่าตั้งแต่ผ่านๆ มา ความรู้ตัวตรงนี้ของเรามีไม่มาก เราพยายามสร้างขึ้นให้ต่อเนื่องให้เข้มแข็ง แล้วก็รู้จักเอาไปใช้ เอาไปรู้ รู้ใจ รู้ลักษณะของใจ

ส่วนการเกิดของใจนั้นเขาเกิดอยู่ตลอด เขาหลงมาตั้งนาน หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด แล้วก็มาเกิดมาสร้างภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเรา ขณะอยู่ในร่างกายก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆๆๆ เป็นเด็ก จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่เป็นเด็กได้รับการศึกษาเล่าเรียน ผ่านกาลผ่านเวลา ความรับผิดชอบผิดถูกชั่วดี ความเสียสละความอดทนอยู่ในระดับของสมมติตรงนี้มีอยู่ อันนี้แหละที่เรียกว่า ปฏิบัติฝึกหัด ปฏิบัติธรรม

แต่เราไม่เข้าใจในส่วนลึกๆ ในส่วนใจที่เกิดส่งไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างไร ใจที่มารวมมายึดกับขันธ์ห้าเป็นลักษณะอย่างไร เราต้องเจริญสติตามแนวทางของพระพุทธองค์ ท่านได้สอนเรื่องชีวิต สอนเรื่องการดำเนินชีวิต สอนวิธีการจําแนกแจกแจงว่าวิญญาณในกายของเราเป็นลักษณะอย่างไร ทำไมวิญญาณหรือว่าใจถึงเกิด ถึงมายึด แล้วก็เป็นทาสของกิเลสต่อ ทั้งความอยากความไม่อยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้ต้องเจริญสติเข้าไปสังเกตวิเคราะห์จนกว่าใจของเราจะแยกรูปแยกนามหรือว่าคลายจากขันธ์ห้าได้ ถึงจะคลายความหลง เพียงแค่คลายเพียงแค่เริ่มต้น สัมมาทิฏฐิความเห็นถูก

ถ้าความรู้ตัวของเราไม่ตามดูตามรู้ตามเห็น ชี้เหตุชี้ผลให้ได้ทุกเรื่อง เขาก็จะซึมเข้าสู่สภาพเดิม การสร้างบุญสร้างบารมีทุกคนมีกันมาดีในระดับของสมมติ มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย มีความขยันหมั่นเพียร ฝ่าฟันอุปสรรคในระดับของสมมติมาได้ระดับหนึ่ง แต่การทำความเข้าใจกับ ใจคลายใจออกจากขันธ์ห้าตรงนี้มีไม่เพียงพอแล้วก็มีไม่ต่อเนื่อง เราก็จงพยายาม

ถ้าเราเจริญสติเข้าไปสังเกตใจของเรา รู้ไม่ทันต้นเหตุ เราก็รู้จักหยุดรู้จักดับ น้อมเข้าไปดูบ่อยๆ ทำความเข้าใจบ่อยๆ ไม่เข้าใจเท่าไร เราก็ยิ่งเพิ่มทำความเพียร จนรู้ จนรู้จนเห็น จนชี้เหตุชี้ผลได้ ใจยอมรับความเป็นจริงได้ เราถึงจะมองเห็นหนทางเดิน กิเลสตัวไหนมาเล่นงานเรา เราละกิเลสได้หรือไม่ กิเลสใกล้ กิเลสไกล กิเลสภายนอกมาทำให้เกิดหรือว่าเกิดจากกิเลสตัวภายใน กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร เราต้องรู้ ต้องเข้าถึง ต้องทำความเข้าใจ รู้ความจริงในชีวิตของตัวเราแล้วก็ค่อยละ การละเรียกว่า การปล่อยการวาง

พยายามจัดระบบระเบียบของจิตใจของเราให้ได้ ใจของเรามีความสงบ มีความปกติ ใจของเราคลายจากขันธ์ห้า เราละกิเลสได้ ตัวไหนเรายังละไม่ได้ เราก็พยายามละ การฝึกหัดปฏิบัติตัวเราก็คือการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงวันตาย อันนี้ส่วนรูปอันนี้ส่วนนาม ถ้าเราแยกจําแนกแจกแจงได้ เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ คําว่าอัตตาเป็นลักษณะอย่างไร อนัตตาเป็นลักษณะอย่างไร วิญญาณในขันธ์ห้าเป็นลักษณะอย่างไร การรอบรู้ในกองสังขาร การรอบรู้ในดวงวิญญาณ การรอบรู้ในปัจจัยสี่ การรอบรู้ในโลกธรรม เราจะดำเนินชีวิตของเราอย่างไร เราต้องรู้ด้วยเห็นด้วย ประกาศให้ตนเองได้ด้วย ว่าจิตใจของเราขณะนี้เป็นอย่างไร

แต่เวลานี้ทั้งใจ ทั้งขันธ์ห้า ทั้งสติปัญญา เขารวมกันไปหมด รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน อาจจะเห็นถูกอยู่ในระดับของสมมติ ในหลักธรรมแล้วก็ยังต้องคลายออกให้หมด มีปัญญาทางโลกีย์ทั้งร้อยก็ต้องคลายออกทั้งร้อย ให้เหลืออยู่ที่ความว่างความบริสุทธิ์ของใจ หนุนกําลังสติปัญญาไปทำหน้าที่แทน ทุกเรื่องในการฝึกหัดปฏิบัติขัดตัวขัดกายขัดใจของเรา ไม่ใช่ว่าเวลาโน้นถึงจะปฏิบัติ เวลานี้ถึงจะปฏิบัติ

เราปรับสภาพใจของเราให้อยู่ในความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้อยู่ในความเมตตา ให้อยู่ในความเสียสละ ให้อยู่ในความเป็นระเบียบ ระเบียบของกายของวาจาของใจ เราต้องพยายามศึกษาจนหนุนกําลังสติปัญญาไปการใช้งานได้ งานสมมติเราก็พยายามทำให้ดี เพราะว่าเรายังอาศัยสมมติอยู่ เพราะว่ากายของคนเรา วิญญาณมาสร้างภพมนุษย์ พัฒนามาเรื่อยๆ เขาก็มาอาศัยกายของเราก็ยังอาศัยปัจจัยสี่ เราก็ต้องพยายามทำดำเนินให้ถูกที่ ถูกวิธีถูกทาง เราก็จะมองเห็นหนทางเดิน อย่าพากันผัดวันประกันพรุ่ง อย่าพากันปิดกั้นตัวเราว่าไม่มีโอกาส ทุกคนมีโอกาส ทุกคนมีบุญกันหมดทุกคน บุญมากบุญน้อย เราก็พยายามสร้างขึ้นมา พยายามทำให้ปรากฏขึ้นที่กายที่ใจของเรา ให้ปรากฏขึ้นที่สมมติที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว คําว่าสมมติเป็นอย่างไร วิมุตติเป็นอย่างไร มีอยู่ในกายของเราหมด ก็ต้องพยายาม ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี

วันสองวัน สองสามวันมานี้รู้สึกว่าพายุจะเข้ามาในเมืองไทย เกิดในอุทกภัย เกิดน้ำท่วมกันหลายทิศหลายที่หลายทาง ไม่ว่าอยู่ที่ไหน อยู่ที่วัดของเราก็โดนเยอะอยู่เหมือนกัน ทั้งต้นไม้ก็หักโค่นลงมาหลายจุดหลายที่ นี่พระเราก็ช่วยกัน พยายามช่วยกันไปเอาออกจากที่โค่นลงมาตรงห้องน้ำฝั่งตะวันตก หอฉันของเราก็ต้นเบ้อเริ่มเลย จะโค่นลงมาทับห้องส้วมห้องน้ำ แต่ยังไม่ถึงดีเท่าไร พากันไปช่วยไปตัดไปนั่นออก ค่อยทำ ค่อยเป็นค่อยไป ตัดทีละเล็กทีละน้อยเอาไว้เผาถ่าน เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เราก็จะได้ไม่ได้ลําบาก ทั้งพระทั้งชีมีอะไรก็ร่วมกันก็ช่วยกัน ไม่ใช่ว่ามองหาหนทางไม่เจอ เราก็พยายาม

การเจริญสติเป็นอย่างนี้ ความรู้ตัวที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ การละกิเลสเป็นอย่างนี้ เราต้องพยายามทำให้ได้ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย จําแนกแจกแจงให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น เอาไปใช้กับการกับงาน ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่คลายจากขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ใจที่ละกิเลสได้เป็นอย่างนี้ เราก็ดำเนินให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน ถ้าเราสอนเราไม่ได้ไม่มีใครจะสอนให้เราได้เลยนอกจากตัวของเราเอง เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ อันนี้ภาษาธรรมอันนี้ภาษาโลก โลกกับธรรมก็อยู่ด้วยกัน สมมติกับวิมุตติก็อยู่ด้วยกัน อัตตากับอนัตตาก็อยู่ด้วยกัน นอกจากจะหมดลมหายใจ จนคลายใจออกจากขันธ์ห้าได้ เราถึงจะรู้เรื่องอนัตตา รู้เรื่องความว่าง ใจที่ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ว่างจากกิเลสต่างๆ กิเลสหยาบกิเลสละเอียด เราก็ต้องพยายามศึกษาเอาทำความเข้าใจเอา

แนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบมานาน เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะดำเนินให้ถึงจุดหมายปลายทางกันหรือไม่ บุญสมมติเราก็พยายามทำให้เต็มเปี่ยมไม่ว่าอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็พยายามทำความเข้าใจให้ได้ อันนี้คือสมมติ อันนี้คือวิมุตติ อยู่ใกล้ๆตัวของเรา กายของเรานี่ก็ก้อนสมมติ ตัวใจคลายออกจากขันธ์ห้า แยกรูปแยกนามได้เราก็จะเข้าใจในเรื่องวิมุตติ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ต้องไปศึกษากันนะ

เอาล่ะ วันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง