หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 42 วันที่ 29 เมษายน 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 42 วันที่ 29 เมษายน 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 42 วันที่ 29 เมษายน 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 42
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 29 เมษายน 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบายวางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบายไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ที่เกิดจากใจ เกิดจากอาการของใจก็จะสงบระงับตั้งมั่นขึ้น

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พวกเราได้สร้างสติกันแล้วหรือยัง ได้เจริญให้มีให้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง ไม่ใช่ว่าปล่อยผัดวันประกันพรุ่ง เราต้องสร้างความรู้ตัวหรือว่าสติปัญญาตัวใหม่ลงที่กายของเรา ลงที่รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกให้ต่อเนื่อง ซึ่งเรียกว่า สัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม รู้กายแล้วก็รู้ใจ อบรบใจของเรา เจริญปัญญาไปอบรมใจของเราจนใจของเราคลายออกจากความคิดจากขันธ์ห้า ภาษาธรรมท่านเรียกว่า แยกรูปแยกนาม ใจหงายเหมือนกับหงายของที่คว่ำ ใจก็ว่าง กายก็เบา

ถ้าใจยังแยกไม่ได้ใจก็หลง ใจก็หลงความเกิด ความเกิดนี่เป็นความหลงอันละเอียด ใจนี่หลงเกิดมาตั้งแต่ยังไม่ได้อยู่ในภพของมนุษย์ แล้วก็หลงวนเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ อันนั้นเราอย่าไปสนใจ เราสนใจขณะที่กำลังอยู่ในภพของมนุษย์นี่แหละ ให้เจริญสติลงที่กายของเราจนรู้เท่าทันการเกิดของใจ รู้ไม่ทันการเกิดเราก็ใช้สมถะเข้าไปดับ สมถะคืออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดับ หยุด ฝืน แล้วก็ปรับสภาพใจของเราให้มีความอ่อนน้อมอ่อนโยน มีความเมตตามีความเสียสละ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทุกเรื่องๆ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา

สำรวจดูใจของเรามีความเสียสละหรือไม่ ใจของเรามีความเห็นแก่ตัวหรือว่ามีความตระหนี่เหนียวแน่น เราพยายามขัดเกลาเอาออกอบรมใจของเรา ใจของเราก็จะเบาบางจากกิเลสไปเรื่อยๆ กิเลสก็มีหลายอย่าง กิเลสความตัวโตๆ ความโลภ ความทะเยอทะยานอยาก ความโกรธ นานๆ ทีมันถึงจะเกิด แต่ความคิดที่เกิดๆ ดับๆ ทั้งฝ่ายอันนี้ฝ่ายรูปธรรม อันนี้ฝ่ายนามธรรม ฝ่ายนามธรรมก็คือความคิดของเรานั่นแหละ ซึ่งเป็นส่วนของนามธรรม แล้วพยายามหัดเจริญสติลงที่กายของเราให้ต่อเนื่องให้เข้มแข็ง แล้วก็เอาไปอบรมใจ รู้ไม่ทันต้นเหตุเราก็ใช้สมถะเข้าไปดับ ปรับปรุงใจของเราอยู่ตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมากายทำหน้าที่อย่างไร ตาทำหน้าที่ดู หูทำหน้าที่ฟัง ใจมีหน้าที่รับรู้ ตัวไหนเป็นตัวสั่งการสั่งงาน เราหัดสังเกตหัดวิเคราะห์ หัดสำรวจอยู่ตลอด ทำความเข้าใจอยู่ตลอดจนใจของเรานี่คลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น คลายออกจากขันธ์ห้า ขันธ์ห้าส่วนนามธรรม ส่วนรูปก็ร่างกายของเรานี่ก็มีอยู่เหมือนเดิม รูปกายของเราทำหน้าที่อย่างไร ตาทำหน้าที่ดูเราก็ห้ามไม่ได้ หูทำหน้าที่ฟังเราก็ห้ามไม่ได้ เราต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ส่วนกิเลสเกิดขึ้นที่ใจเราก็รู้จักดับ เจริญสติเข้าไปอบรมอยู่บ่อยๆ จนเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุเห็นผล จนหมดความกังวลต่างๆ ออกจากใจของเรา กิเลสก็ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งมลทิน ทั้งนิวรณธรรมต่างๆ มีเยอะๆ ถ้าเราเจริญสติเข้าไปให้เข้มแข็งให้ต่อเนื่องเราก็ยิ่งจะเห็นเยอะ เห็นเยอะเท่าไรเราก็ยิ่งทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจจนเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผลจนใจมองเห็นความเป็นจริงได้นั่นแหละ การเกิดก็เป็นทุกข์เขาก็จะไม่เกิด การเข้าไปหลงขันธ์ห้าว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระเขาก็ไม่เอา การเป็นทาสของกิเลสเขาก็ไม่เอา เอาอะไรมาฉุดมารั้งเขาให้เกิดเขาก็ไม่เกิด ถ้าเขารู้ตามความเป็นจริง

แต่ส่วนมากแม้แต่เพียงสติก็ยังไม่ค่อยจะเจริญให้ต่อเนื่องกัน อาจจะทำได้เป็นบางครั้งบางคราว กระท่อนกระแท่น ส่วนมากก็มีตั้งแต่ปัญญาที่เกิดจากใจ เกิดจากขันธ์ห้า เกิดจากส่วนสมองที่รวมกันไป เขาเรียกว่า ปัญญาโลกปัญญาโลกีย์ เราจงมาเจริญสติพลิกปัญญาโลกให้เป็นปัญญาธรรม ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล รู้ไม่ทันเราก็รู้จักหยุดรู้จักควบคุม

บารมีส่วนอื่นนั้นทุกคนสร้างกันมาดี การทำบุญบ้าง การให้ทานบ้าง ความเสียสละสิ่งต่างๆ ผ่านกาลผ่านเวลา ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการศึกษาผ่านการเล่าเรียน ใช้ปัญญาทางโลก อันนี้ก็ผ่านกันมาหมด เราจงมาพลิกปัญญาโลกให้เป็นปัญญาธรรม พลิกปัญญาโลกให้เป็นปัญญาธรรมได้อย่างไร เราก็คือการเจริญสติของเรานี่แหละ เจริญสติให้ต่อเนื่อง

คำว่า ปัจจุบันธรรม ให้รู้ตัวอยู่ปัจจุบันแต่เป็นอัตโนมัติ รู้ลมหายใจเข้าออก รู้ใจ รู้ทุกอย่างนั่นแหละ รู้ทุกอย่างในกายของเรา จนกระทั่งถึงรู้ใจของเรา ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่มีความกังวล ไม่มีความฟุ้งซ่านเป็นอย่างนี้ เราก็จะได้มองเห็นแนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบเอามาเปิดเผยให้สัตว์โลกได้เดินตาม สัตว์โลกก็คือพวกเรานี่แหละ ให้เดินตามทำความเข้าใจ

ช่วงใหม่ๆ ท่านอย่าให้เอาความคิดแบบโลกๆมาตัดสิน มาโต้แย้ง ให้ดำเนินตามทางที่ท่านบอกเสียก่อน จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้า ทำความเข้าใจได้ใช้ตัวเองเป็น ท่านถึงบอกให้เชื่อ ก็ต้องพยายามกัน ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่เข้าใจ ถ้าถึงเวลาแล้วเอาอะไรมาปิดมากั้นเอาไว้ก็ไม่อยู่ ถ้าบุญอานิสงส์บุญบารมีของเรามีความเข้มแข็งต่อเนื่องขึ้น

บุญสมมติเราก็ทำ ภาษาธรรมภาษาโลกเราก็ต้องศึกษา สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟังเป็นลักษณะอย่างไร ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย เราต้องดูรู้ใจปรับสภาพใจของเราให้เป็นทาสรู้ สติปัญญาของเราก็จะเป็นผู้รู้ เขาซ้อนกันอยู่ในกายของเรานี่แหละ ถ้าเราหัดสังเกตดูดีๆ เราก็จะเห็น แต่ส่วนมากก็มีตั้งแต่ใจ มีใจส่งออกไป ใจรวมกับความคิดกับขันธ์ห้า ส่งออกไปซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ก็รู้ๆอยู่ คิดก็รู้ ทำก็รู้ แต่เขาหลงอยู่ในความคิด หลงอยู่ในการกระทำนั้นๆ

ท่านถึงให้มาเจริญสติเข้าไปสังเกตเข้าไปวิเคราะห์จนใจคลายออกจากความคิด คลายออกจากขันธ์ห้า หงายของที่คว่ำขึ้นมาตามดูเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผลทุกอย่าง ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ หมั่นสร้างอานิสงส์ หมั่นสร้างบุญบารมี เป็นเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเราไป ตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่จนกระทั่งถึงเวลาใจไม่เกิด มองเห็นหนทางเดินคือนิพพานนั่นแหละ ไม่ต้องกลับมาเกิดกัน ก็ต้องพยายามนะ

จิตแต่ละดวงเขาปรารถนาหาทางดับทุกข์หาทางหลุดพ้น แต่จะหาถูกที่ถูกทางหรือไม่ บางคนก็แล้วแต่วิบาก ท่านเรียกว่า วิบากของกรรม เราต้องทำความเข้าใจ กายของเรานี่แหละก้อนกรรม มีอะไรบ้างที่ท่านบอกว่าเป็นกองเป็นขันธ์ มีวิญญาณเข้ามาครอบครอง วิญญาณในกายของเราเป็นลักษณะอย่างไร วิญญาณหรือว่าตัวใจที่ปราศจากการเกิด ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร หรือว่ามีตั้งแต่กิเลสเข้าไปห่อหุ้มเอาไว้ มีตั้งแต่เรื่องสารพัดเรื่องไปห่อหุ้มเอาไว้ ก็เลยปิดกั้นตัวเองเอาไว้หมด

แม้ตั้งแต่การเกิดของใจนั่นแหละคือความหลงอารมณ์ลุ่มลึก ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด มาเกิดอยู่ในภพมนุษย์มาสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเอง แล้วก็มายึดต่อ แล้วก็เกิดต่อ ความคิดของเราแต่ละวันๆ นั่นแหละ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเขาคิดตั้งกี่เรื่อง ไปตั้งกี่ครั้ง เหตุการณ์ภายนอกทำให้เกิด หรือเกิดขึ้นจากภายใน เราก็พยายามเจริญสติเข้าไปอบรมชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล

ท่านถึงบอกให้เชื่อ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ต้องเข้าใจในชีวิตของตัวเรา ว่าเราเกิดมาแล้วจะไปอย่างไร อยู่อย่างไร ทำอย่างไร ถึงจะมีความสุขขณะที่เรายังมีลมหายใจ เราจะทำอย่างไรสมมติของเราถึงจะมีความสุข วิมุตติของเราถึงจะมีความสุข เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็อิงอาศัยกันอยู่ เหมือนกับการที่จะขึ้นถึงเรือน เราก็ต้องอาศัยบันได อาศัยราวบันได ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ทาน ศีล สมาธิ และก็ปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง เราต้องรู้ขณะทุกลมหายใจเข้าออกนี่แหละ จนเป็นอัตโนมัติ รู้หนทางเดิน รู้แนวทางเดินนั้นก็ตื่นขึ้นมารีบดูใจ รู้ไม่ทันก็รู้จักดับ เจริญสติลงที่กายของเราจนเอาไปใช้การใช้งานได้ หัดวิเคราะห์หัดสังเกตอยู่บ่อยๆ ทำความเข้าใจอยู่บ่อยๆ

ถ้าใจคลายจากขันธ์ห้า แล้วก็แยกรูปแยกนามได้เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ว่าท่านสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องชีวิต ชีวิตของคนเรานี่ประกอบขึ้นมาด้วยอะไร คำว่า ขันธ์ห้า ที่ว่าเป็นกองเป็นขันธ์ กองรูป กองนาม กองวิญญาณเป็นอย่างไร เราต้องรู้ด้วยเห็นด้วยเข้าถึงด้วย อบรมใจของเราให้ได้ด้วย

คนที่จะขึ้นสู่ที่สูงได้ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ ความเพียรในการขัดเกลากิเลส ความเพียรในการสำรวจสำรวม ทำความเข้าใจอยู่ตลอดเวลา ตาทำหน้าที่อย่างนี้ ใจทำหน้าที่อย่างนี้ ภาษาธรรมเป็นอย่างไร ภาษาโลกเป็นอย่างไร กิเลสตัวใหญ่ๆ เป็นอย่างไร แต่ส่วนมากจะไปมองเห็นได้ตั้งแต่ตัวใหญ่ๆ ความเกิดๆ ดับๆ ความเกิดของความคิด ความเกิดของตัวใจนั่นแหละ ไม่ค่อยจะสังเกตวิเคราะห์

กิเลสตัวละเอียดนั่นแหละที่มาปิดกั้นความสะอาดความบริสุทธ์เอาไว้ ความกังวลบ้าง ความฟุ้งซ่านบ้าง นิวรณ์ธรรมต่างๆ บ้าง มีมลทินบ้าง มองเห็นคนอื่นดีกว่าเรา หรือมองเห็นคนอื่นต่ำกว่าเรา ยกตัวเองสูงมองเห็นคนอื่นต่ำ อคติเพ่งโทษ สารพัดอย่างที่มีกัน ถ้าเรามาวิเคราะห์สำรวจทำความเข้าใจอยู่บ่อยๆ จะเห็น ถ้าเห็นแล้วเท่ากับเราขาดการตามทำความเข้าใจ เขาก็ซึมเข้าสู่สภาพเดิม

ถ้าเราทำความเข้าใจบ่อยๆ จนกำลังสติเป็นมหาสติ จากมหาสติกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญากลายเป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณของเรา จะเข้าสู่วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาภูมิ ท่านก็ว่ารู้แจ้ง รู้แจ้งหรือเห็นจริง รู้แจ้งอะไร ก็รู้แจ้งความคิดของเรานี่แหละ ตัวใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่เกิดเป็นอย่างนี้ ขันธ์ห้าที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งเป็นเรื่องอะไรบ้าง เรื่องอดีตเรื่องอนาคต เป็นกลางๆ หรือว่าเป็นอกุศล การได้ยิน การได้ฟัง การได้อ่าน ทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม แต่การลงมือทำให้ต่อเนื่อง ตรงนี้แหละต้องพยายามทำให้รู้ให้เห็นตั้งแต่ตื่นขึ้นมา

ตั้งแต่ตื่นลุกขึ้นมาแล้ว สติรู้ใจรู้กายของเรา ตัวไหนเป็นตัวสั่ง สั่งพากายไปนู้น พากายทำนู้นทำนี่ แต่ส่วนมากก็เป็นปัญญาที่เกิดจากใจซึ่งเป็นปัญญาโลกีย์ มันก็อาจจะถูกต้องอยู่ระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วใจยังเกิด ความเกิดนี่แหละคือความหลง ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด หลงมากหลงน้อยเราก็เอามาขัดเกลา ทีนี้เราก็แยกแยะได้ ทำความเข้าใจได้ จะเอาจะมีจะเป็นก็เป็นเรื่องของปัญญา อยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ ไปไหนมาไหนก็ให้ใจรับรู้ อยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ

การฝึกฝนตัวเรา ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่แก้ไขใหม่ ใจของเราฝึกได้ ใจของคนเรานี้ถ้าน้อมเข้ามาในหลักธรรมจริงๆ รู้เห็นตามสภาพจริงๆ เขาก็ยอมรับความเป็นจริงได้ ขณะที่เขายังแยกรูปแยกนามไม่ได้ เขาก็จะหาเรื่องปิดกั้นตัวเองอยู่ตลอดเวลา คือความเกิด หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเอง ทั้งขันธ์ห้าก็หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเอง ท่านถึงเรียกว่า ใจหลอกใจ หรือว่า จิตหลอกจิต เราต้องพยายาม พยายาม

แม้แต่สติปัญญาเนี่ยก็ยังหลอกตัวเอง เข้าข้างตัวเอง กายของเราชอบอย่างนู้น กายของเราชอบอย่างนี้ สารพัดอย่าง ให้ใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้าให้ได้เสียก่อน เอาความเป็นกลาง ความว่างเป็นเครื่องตัดสิน ไม่เข้าข้างตัวเอง เข้าข้างคนอื่น ถ้ารู้ด้วยเห็นด้วยทำความเข้าใจได้ด้วย หมดความสงสัย หมดความลังเลได้ด้วย นั่นแหละท่านถึงบอกให้เชื่อ ก็ต้องพยายามกัน ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุมีผล

พระพุทธองค์ท่านชี้ลงที่ต้นเหตุ ให้เห็นเหตุ เห็นการเกิด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด ขณะนี้เขาเกิดมาสร้างภพมนุษย์มาสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเอง ตัวใจก็ยังเกิดต่อแล้วกลับมาอาศัยอยู่ในกายนี้อยู่ เราต้องพยายามจำแนกแจกแจงให้เห็นชัดเจน ท่านถึงบอกให้เชื่อ ก็ต้องพยายาม อานิสงส์ผลบุญผลทานเราก็พยายามหมั่นสร้าง หมั่นทำให้มีให้เกิดขึ้น ปรับระบบระเบียบใจของเราให้เป็นคนที่มีความเป็นระเบียบ มีความขยันหมั่นเพียร ละความเกียจคร้าน สร้างความขยันหมั่นเพียรให้มีให้เกิดขึ้น

ให้เป็นผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้รับรู้ ผู้ตื่น ตื่น ผู้เบิกบานนั่นแหละ ท่านถึงบอกตนเป็นพึ่งของตน ตนตัวแรกคือสติที่เราสร้างขึ้นมา เข้าไปแยกแยะเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผล จนใจอยู่ในความสงบ ใจอยู่ในความสะอาด สติจะเป็นพี่เลี้ยงใจ ทำความเข้าใจจนใจมองเห็นความเป็นจริง จนใจไม่เอาอะไรสักอย่าง ใจปล่อยวาง รับรู้ตามความเป็นจริงหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สติปัญญาของเราก็อบรมใจของเราอยู่บ่อยๆ อบรมใจของเราอยู่ตลอดอยู่เนืองๆ สักวันหนึ่งเราก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน ก็ต้องพยายามกันนะ พยายามกัน

ล้ม ลุกขึ้นใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ ไม่ใช่ว่าจะไปเที่ยวให้คนนู้นเขาสอนคนนี้เขาสอน เราจงเจริญสติเข้าไปอบรมหมั่นพร่ำสอนตัวเรา บอกตัวเองให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น ครูบาอาจารย์ตำราก็เป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทางให้ ถ้าเราไม่เอา ไปทำไปสร้างให้มีให้เกิดขึ้น ก็ยากที่จะเข้าใจ ก็ต้องพยายาม

เอาล่ะ วันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจ ให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง