หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 64 วันที่ 22 กรกฎาคม 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 64 วันที่ 22 กรกฎาคม 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 64 วันที่ 22 กรกฎาคม 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 64
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน อันนี้เป็นการย้ำเป็นการเตือน ตามความเป็นจริงนั้นพวกท่านต้องพยายามสร้างความรู้ตัวตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ แล้วก็พยายามทำให้ต่อเนื่อง ลึกลงไปอีกก็รู้เท่าทันการเกิดของใจ รู้เท่าทันการเกิดของขันธ์ห้า รู้จักละกิเลส รู้จักปรับสภาพใจของเราให้ได้ตลอดเวลา จนมองเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผลได้ทำไมใจถึงเกิด ความเกิดนั่นแหละคือความหลง ใจนี่หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด หลงมาตั้งแต่อยู่ในภพน้อยภพใหญ่ที่ผ่านๆ มา จนกระทั่งถึงเวลาได้มาเกิดเป็นมนุษย์

ตรงที่มาเกิดเป็นมนุษย์นี่แหละ ท่านพยายามให้เจริญสติเข้าไปอบรมใจ เข้าไปชี้เหตุชี้ผล จนใจคลายออกจากความคิด ซึ่งเรียกว่า แยกรูปแยกนาม ใจหงายขึ้นมา หรือเหมือนกับหงายของที่คว่ำ รู้จักจุดปล่อยจุดวาง ความรู้ตัวหรือว่าสติที่เราสร้างขึ้นมา ก็ตามไปดูตามเห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่าเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นกิเลสที่เกิดจากใจ เราก็รู้จักละรู้จักเอาออก รู้จักคลาย น้อมใจของเราเข้าสู่ความสงบความสะอาดความบริสุทธิ์ เราพยายามทำความเข้าใจให้กระจ่าง

การทำบุญให้ทานก็เหมือนกัน การทำบุญให้ทาน จุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย การฝึกหัดปฏิบัติธรรมก็คือการทำความเข้าใจให้ถูกต้อง อะไรคือส่วนรูป อะไรคือส่วนนาม ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความเสียสละ มีสัจจะกับตัวเราเอง แล้วก็หมั่นวิเคราะห์ทั้งโลกทั้งธรรม ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขาร ให้รอบรู้ในดวงวิญญาณในขันธ์ห้า รอบรู้ในโลกธรรมในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว รู้จักการสะสางกิเลส กิเลสหยาบกิเลสละเอียด ก็เป็นของเราทั้งนั้น เราพยายามหัดวิเคราะห์ หัดพิจารณา ทั้งรูปทั้งนาม อะไรคือรูปอะไรคือนาม พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องหลักของความจริงอันประเสริฐ คือหลักของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลักของอริยสัจความจริง

เราก็จงพยายามทำความเข้าใจขณะที่ยังมีกําลัง ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ จากน้อยๆ ไปหามากๆ ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย เรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ เรามีความอดทนอดกลั้นเพียงพอหรือไม่ เรามีความเสียสละออกจากจิตจากใจของเรา เรารู้จักหนุนกําลังสติปัญญาไปทำหน้าที่แทนทุกเรื่อง ก็ต้องพยายามกันนะ ไม่ใช่ว่าไปผัดวันประกันพรุ่ง จนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ ในการละ จนสติสมาธิปัญญาเขารักษาเรา ช่วงใหม่ๆ ความรู้ตัวหรือว่าสติไม่มี เราก็พยายามสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาแล้วก็รู้จักเอาไปใช้ ไม่ใช่ว่ารู้จักตั้งแต่การเจริญสติ แต่ไม่รู้จักเอาสติไปใช้ มันก็ดำเนินไม่ถึงจุดหมายปลายทาง

จิตใจของคนเรานี่ถ้าไม่ได้ฝึกเขาก็จะเป็นทาสของความเกิด ทาสของขันธ์ห้า ทาสของกิเลส ทาสของความโลภ ความโกรธ ความทะเยอทะยานอยาก ถ้าเราฝึกท่านถือว่าเป็นการฝืนเป็นการอดทนกระแสกิเลส ถ้าเราเข้าใจแล้ว ใจของเราจะตกกระแสธรรม อยู่กับความบริสุทธิ์ อยู่กับความว่างความบริสุทธิ์ มองเห็นโลกนี้เป็นของว่าง ถ้าใจว่างก็มองเห็นโลกนี้เป็นของว่าง ใจเป็นธรรมก็มองเห็นโลกนี้เป็นธรรม ธรรมดำธรรมขาว กิเลสภายนอกกิเลสภายใน เราต้องศึกษาค้นคว้าให้ละเอียด รู้จักจุดปล่อยจุดวาง ใจเขาถึงจะวางได้ ท่านถึงบอกว่าให้รู้เหตุรู้ผล เหตุทางสมมติก็มี เหตุทางวิมุตติก็มี เราต้องศึกษาให้ละเอียด

พากันสร้างความรู้ตัวให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจยาวๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ กายก็จะสบายขึ้นเยอะ ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ก็จะหยุดระงับลงไปได้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราหยุดไม่ได้เด็ดขาด ทำใจให้ว่าง สมองให้โล่ง ทำกายให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ

มาไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง