หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 60 วันที่ 5 กรกฎาคม 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 60 วันที่ 5 กรกฎาคม 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 60 วันที่ 5 กรกฎาคม 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 60
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสทางลมหายใจของตัวเราให้ชัดเจน และก็ให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ หายใจยาวหรือว่าหายใจสั้นก็ให้หายใจเป็นธรรมชาติที่สุด การสูดลมหายใจยาวๆ นี้สัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน

เราพยายามสร้างความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา ทั้งเวลาลมหายใจเข้าเวลาลมหายใจออก พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน จนต่อเนื่องจนเชื่อมโยง จนรู้ทัน รู้เท่ารู้ทัน รู้ลักษณะของใจ ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่เกิดปรุงแต่งส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างนี้ ใจที่รวมกับอาการของขันธ์ห้า ความคิดที่เราไม่ได้ตั้งใจคิดนั่นแหละ เขาเคลื่อนเข้าไปรวมกันได้อย่างไร

ตามปกติจิตใจของคนทั่วไปนี้เกิดมาตั้งนาน เขาหลงถึงได้เกิด หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ อยู่ในภพน้อยภพใหญ่ อันนั้นอย่าไปสนใจเขาเลย สนใจอยู่ในกายของเรา สนใจขณะที่เขามาก่อร่างสร้างภพคือกายก้อนนี้แหละ เข้ามาสร้างขันธ์ห้าแล้วก็มาปิดกั้นตัวเอง แล้วก็เกิดต่อ แล้วก็เป็นทาสของกิเลสต่อ ท่านถึงให้เจริญสติหรือว่ามาสร้างผู้รู้ตัวใหม่ทุกอิริยาบถ

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาพยายามให้เจริญสติให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงให้เข้มแข็ง หัดวิเคราะห์หัดสังเกต หัดสํารวจใจของตัวเรา สํารวจไม่ทันเราก็พยายามใช้สมถะดับอยู่กับลมหายใจบ้าง หรือว่าอยู่กับคําบริกรรมบ้าง ไม่เข้าใจเท่าไรเราก็ยิ่งเพิ่มความเพียรให้เป็นทวีคูณ ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย ถ้าเรามีสติคอยดู คอยรู้ คอยสังเกต คอยวิเคราะห์ เราก็จะเห็นสักวันหนึ่ง เห็นการแยกการคลาย การคลายจากขันธ์ห้า หรือว่าพลิกจากของที่คว่ำหงายขึ้นมา เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ ว่าอัตตาเป็นลักษณะอย่างนี้ อนัตตาเป็นลักษณะอย่างนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายในขันธ์ห้าเป็นลักษณะอย่างนี้ เราจงพินิจพิจารณารู้จักลักษณะของการเจริญสติให้ชัดเจน ใจของเราเกิดกิเลส กิเลสหยาบกิเลสละเอียด เราก็ต้องพยายามหัดรู้เท่ารู้ทัน ทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล เห็นการเกิดการดับ ส่วนรูปธรรม ส่วนนามธรรม

ท่านถึงบอกให้รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณของตัวเรา รอบรู้ในโลกธรรม ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว เราแสวงหาธรรม อะไรคือธรรม ตัวใจของเรานั่นแหละคือตัวธรรม แต่เวลานี้ใจของเรามันยังเกิดอยู่ ยังหลงอยู่ยังเป็นทาสกิเลสอยู่ เราต้องมาเจริญสติเข้าไปอบรม ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งนอนหลับ

กายเราทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณทำหน้าที่อย่างไร เจริญสติเข้าไปแสวงหาใจของตัวเรา ไม่ใช่ว่าใจกับขันธ์ห้านั้นเขาเกิดอยู่แล้ว เขาหลงมาตั้งนาน เขาเกิดอยู่แล้ว เขารวมกันไป แต่เรารู้เพียงแค่ปลายเหตุว่าเราคิดเราทำ ที่ไหนได้เขารวมกันไปหมด เขายึดกันไปหมด แต่ถ้าเราสังเกตทันใจจะเคลื่อนเข้าไปรวมกับความคิด เขาจะแยกออกจากกัน

เพียงแค่แยกเริ่มต้นสัมมาทิฏฐิความเห็นผิดถูก ถ้าขาดการตามทำความเข้าใจอีกเขาก็รวมกันไปอีก ไปเหมือนเดิมอีก เราก็ต้องพยายาม ถ้าสังเกตทันแยกแยะได้เมื่อไรกําลังสติ ตามดูทุกเรื่อง ถ้าใจเข้าไปร่วมก็ให้ดับ กําลังสติก็จะกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญาค้นคว้า ความเกิดความดับของขันธ์ห้า ความเกิดความดับของใจ ขัดเกลากิเลส ทำความเข้าใจ อะไรคือนิวรณ์ธรรม มลทินเป็นอย่างไรขัดเกลากิเลสออกจากใจของตัวเรา ถ้าเราไม่ทำดำเนินตัวเราแล้วไม่มีใครจะช่วยเราได้นอกจากตัวของเรา

การเจริญสติ ลักษณะของคําว่าสติอยู่ปัจจุบันที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นอย่างนี้ ถ้าพลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ เพียงแค่การเจริญสติก็ยังไม่ต่อเนื่อง มันก็ยากที่จะรู้เท่ารู้ทันการเกิดการดับของใจของตัวเรา เพราะว่าเขาเกิดมานาน เขาหลงมานาน เราจะไปแยกแยะให้ใจออกจากอาการของขันธ์ห้าเนี่ยมันก็ต้องมีความเพียร มีตบะ ขัดเกลากิเลส แต่ละวันๆ เรามีความรับผิดชอบหรือไม่ เรามีความเสียสละ เรามีความอดทน เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มองโลกในทางที่ดี คิดดี ทำดี การกระทำของเราให้ถึงพร้อม มีสัจจะกับตัวเรา หมั่นแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา

อะไรคือตัวใจ อะไรคือตัวปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา เราจะไปวิ่งหาภายนอก หาไม่เจอ ถ้าเราสังเกตวิเคราะห์อยู่บ่อยๆ ถ้าใจคลายได้แยกได้ จับหนังสือเล่มไหนมาอ่านเราก็จะเข้าใจ น้อมดูใจของตัวเรา เข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ทันที อย่าไป ถ้าเราวิ่งแสวงหาธรรม ถ้าใจมันยังเกิดยังวิ่งอยู่ หาเท่าไรก็ไม่เจอหรอก นอกจากบุคคลที่มาเจริญสติ แล้วก็อบรมใจ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล จนใจคลายได้ กว่าใจจะคลายจากขันธ์ห้าได้ อานิสงส์บุญบารมีที่เราสร้างสะสมมา ความเสียสละ การเอาออก การให้การคลาย การอภัยทานอโหสิกรรม เราชนะตัวเราแล้วเราก็จะชนะหมด

เราก็ต้องพยายามยิ่งพระบวชใหม่ ชีบวชใหม่ก็ต้องพยายามหัดสังเกต หัดวิเคราะห์ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ไม่ใช่ไปนึกเอาไปคิดเอา การนึกการคิดนั้นมันปิดกั้นตัวเองเอาไว้หมด เราต้องมาสร้างความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่องให้ได้ตั้งแต่ตื่นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ อันนี้สตินะที่เราสร้างขึ้นมา ใหม่ๆก็อาจจะพลั้งเผลอ พลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ๆ เริ่มใหม่อยู่ตลอดเวลาจนกว่ากําลังสติของเราจะเข้มแข็ง จนกว่าใจของเราจะช้าลงๆ จนกว่าจะเห็น จนกว่าจะแยกได้นั่นแหละ ถ้าแยกได้เมื่อไร ใจหงายขึ้นมาเมื่อไร สมาธิความเห็นถูกถึงจะเปิดทางให้ ตามดูรู้เห็นตามความเป็นจริงทุกอย่างจนใจยอมรับความเป็นจริง มันหลายเรื่อง เรื่องทุกเรื่องในชีวิตตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย เราต้องดู รู้ทุกอย่าง ให้ใจรับรู้ สติคอยดูว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ก็ต้องพยายามกัน

นี่ก็ใกล้จะเข้าพรรษาเหลืออีกสองสามวันก็จะได้เข้าพรรษากัน มีอะไรก็ช่วยกันทำ งานหนักก็จะเป็นงานเบา งานเบาก็ยิ่งจะเหมือนกับไม่มี ทางโรงครัวโรงทานมีอะไรก็ช่วยกันทำ ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน เราก็พยายามช่วยกันดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไปที่ไหนถ้าเรามีความเป็นระเบียบ ระเบียบจากข้างนอกด้วยส่งผลถึงข้างใน นี่เป็นผู้ให้ผู้เสียสละ ให้อภัยทานซึ่งกันและกัน อนุเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อยู่กันคนละทิศละที่ละทางมาอยู่ร่วมกัน มีบุญร่วมกันนั่นแหละถึงได้มาอยู่ร่วมกัน อยู่ร่วมกันหลายคนหลายท่านก็พยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่าไปอคติอย่าไปเพ่งโทษ อย่าไปว่าร้ายใส่ร้ายซึ่งกันและกัน กิเลสมีอยู่ที่เรา เราก็คอยแก้ไขที่เรา แก้ไขที่เราได้ใช้ตัวเองเป็น อยู่ที่ไหนก็มีความสุข ก็ต้องพยายามกัน

เอาล่ะ วันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง