หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 73 วันที่ 8 ตุลาคม 2561

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 73 วันที่ 8 ตุลาคม 2561
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 73 วันที่ 8 ตุลาคม 2561
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 73
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 8 ตุลาคม 2561

มีความสุขกันทุกคน วันนี้อากาศก็เริ่มหนาวเริ่มเย็นสงสัยคงจะเปลี่ยนฤดูกาลจากฝนไปเป็นหนาว ความไม่เที่ยงความผันแปรทั้งบรรยากาศทั้งอากาศทั้งชีวิตของคนเราแต่ละคน เมื่อคืนนี้ก็ประมาณช่วงตีห้า หลวงพ่อเจ้าคณะตำบล หลวงพ่ออุปัชฌาย์บ้านโคกหรือหลวงพ่อเขมาภิยุต ท่านได้มรณภาพในช่วงตีห้าในเวลาที่สวยงามมีความสุข เพราะคนมีบุญก็จะไปช่วงก่อนแต่เช้าๆ เวลาย่ำรุ่ง มีโอกาสใครอยากจะไปร่วมก็ขอเชิญ หลวงพ่อว่าจะนําศพของท่านมาทำพิธีที่วัดของเรา ไปคุยกับทางโน้นเขาจะว่าอย่างไรก็ยังไม่รู้อยู่ ได้มาทำฌาปนกิจ ความตายไม่ได้เลือกกาลเลือกเวลา

ทั้งพระทั้งโยม พวกเราก็อย่าพากันประมาท ตื่นขึ้นมารีบสํารวจใจสํารวจกาย สํารวจความเป็นอยู่ของเรา มองเห็นใจของตัวเองแก้ไขใจของเราขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ถ้าหมดลมหายใจก็หมดสภาพกัน คนเราอยู่ด้วยลมหายใจ นี่ถ้าไม่หายใจสัก 5 นาที ลองดูสิถ้าอยู่ได้หรือไม่ นี่แหละลมหายใจก็ไม่ได้ซื้อหรอก แต่ไม่ค่อยจะสนใจดูเท่าไร

แต่การทำบุญให้ทานตรงนั้นมีกันอยู่ การฝักใฝ่สนใจ การทำบุญให้ทานบารมีส่วนอื่นนั้นมีอยู่ แต่การเจริญสติการอบรมใจ การเกิดของใจ การแยกรูปแยกนาม การละกิเลส ตรงนี้อาจจะมีอยู่เป็นบางช่วงบางครั้งบางคราว ไม่มีอยู่ให้ได้ตลอด ตามให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา

พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องชีวิต คําว่า ชีวิต หมายความว่าอย่างไร คําว่า อัตตา อนัตตา หมายความว่าอย่างไร ถ้าเราแยกแยะไม่ได้ ใจคลายออกจากขันธ์ห้าไม่ได้ แยกรูปแยกนามไม่ได้ เราก็จะไม่เข้าใจคําว่าอัตตา อนัตตา เราอาจจะรู้อยู่เฉพาะปัญญาของโลกีย์ว่าชื่อ อนัตตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอย่างนี้ แต่ในหลักธรรมเราต้องให้เห็น เห็นอาการเห็นลักษณะใจที่ไม่มีกิเลส ใจที่คลายจากขันธ์ห้า ใจที่ปล่อยวาง ใจที่แยกรูปแยกนาม กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเราขัดเกลาเอาออกแล้วเป็นอย่างนี้ ตรงนั้นเราเข้ายังไม่ถึง

แต่การทำบุญให้ทานสร้างบารมีส่วนอื่นเราก็อย่าไปมองข้าม ตื่นขึ้นมาทำบุญให้กับตัวเรา ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความเสียสละ เราต้องพยายามสร้างขึ้นมา ให้มีความกล้าหาญ ให้ละอายในสิ่งที่ควรละอาย ให้กล้าหาญในสิ่งที่ควรกล้าหาญ ขณะยังมีกําลังมีลมหายใจอยู่เราก็ต้องพยายามกัน เดินไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว

เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมาถึงเวลาก็ต้องได้พลัดพรากจากกัน ไม่ได้พลัดพรากจากกันตอนเป็นก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย เพราะว่าความตายนี้มีทุกคน เกิดมาเท่าไรก็ตายหมด ไม่ตายช้าก็ตายเร็วเพราะว่ามันเป็นกฎของไตรลักษณ์ เรายืมโลกเขามาอยู่ หมดลมหายใจกายของเราก็กลับคืนสู่สภาพเดิมคือ ดินน้ำลมไฟ ท่านถึงบอกว่าธาตุสี่ขันธ์ห้ามีวิญญาณหรือว่ามีตัวใจเข้ามาครอบครอง กายหมดสภาพใจก็ไปต่อ

ตราบใดที่ยังดับความเกิดไม่ได้ก็ขอให้เกิดอยู่ในบุญในกุศล ให้ระลึกนึกถึงบุญกุศลเป็นที่พึ่ง เป็นเสบียง เป็นเครื่องเดินทาง พวกเราก็จะมีความสุขก็ต้องพยายาม ทำมากทำน้อยก็ขอให้ได้ทำ เห็นคนอื่นทำเราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วยเราก็มีส่วนแห่งบุญ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้อยู่ไกลอยู่ที่ไหน อย่าไปคิดว่ามีเงินเยอะๆ ถึงได้ทำบุญ ไม่มีเงินเราก็ทำได้ คิด กําลังกายกําลังใจ น้อมกายน้อมใจเข้ามา มีความเสียสละ ละความเกียจคร้าน สร้างความขยัน มีความรับผิดชอบ ขยันหมั่นเพียร รู้จักควบคุมใจควบคุมอารมณ์ ส่วนสมมติมันไม่มีเราก็ทำให้มีเพื่อเอื้ออํานวยความสะดวกในทางสมมติไม่ให้ได้ลําบาก ถ้าเราไปเกียจคร้านเข้าไปอีก ก็หนักเข้าไปอีก ทั้งสมมติทั้งวิมุตติเขาอาศัยกันอยู่

ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชีก็ต้องพิจารณาเหมือนกันหมด อยู่ด้วยกันคนละทิศละที่มาอยู่ร่วมกันก็ให้รู้จักวิเคราะห์พิจารณา ความเสียสละของเรามีหรือไม่ ความเอื้ออาทร เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา อะไรคือสมมติอะไรคือวิมุตติ กายเข้าไปร่วมสมมติให้ใจรับรู้ ให้รีบแก้ไข ไม่ใช่ว่ามาแล้วก็มีตั้งแต่ความเห็นแก่ตัว มีตั้งแต่ความเกียจคร้าน สร้างความเกียจคร้านเข้าครอบงำ งานไม่ทำ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ มีตั้งแต่เป็นทาสของกิเลสอยู่อย่างนั้นก็ใช้การไม่ได้

เราต้องเป็นผู้ใหม่ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ขวนขวายฝักใฝ่ ทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้อง ไปอยู่ที่ไหนเราก็จะได้ฟังธรรม ถ้าใจเราเป็นธรรมไม่ต้องไปพูดมากนะ หมั่นพร่ำสอนใจของเรา สติเป็นเพื่อนกายเป็นเพื่อนใจ แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลาเราก็จะมีความสุข

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย สูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ สัก 2-3 เที่ยว อย่าไปบังคับลมหายใจ ให้หายใจเป็นธรรมชาติที่สุด การสูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาว กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราก็ชัดเจน ให้สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้ชัดเจนกันนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง