หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 50

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 50
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 50
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 50
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง นั่งตามสบายวางกายให้สบายแล้วก็วางใจให้สบาย ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราหยุดไม่ได้ตลอดหยุดไม่ได้เด็ดขาดฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย

ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว อย่าไปบังคับลมหายใจ อย่าไปเพ่งลมหายใจ อย่าไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ ให้หายใจให้เป็นธรรมชาติที่สุด การสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ ความรู้สึกรับรู้เวลาลมกระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน ความรู้สึกรับรู้นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้ตัว สติรู้กาย’ หายใจเข้าก็รับรู้อยู่จุดที่ปลายจมูกของเรา หายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม

คนเราทั่วไปมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไปเอาตั้งแต่อันใหญ่ๆ ก็เลยมองไม่เห็นตัวเล็กๆ น้อยๆ เห็นความเกิดความดับของความคิด เห็นความเกิดความดับของขันธ์ห้า เห็นความเกิดความดับของจิตวิญญาณในกายของเรา ท่านถึงให้เจริญสติลงที่กายของเราเพื่อที่จะไปอบรมใจของเรา

เวลานี้กำลังสติของเรามีน้อยนิดมีไม่เพียงพอ เพียงแค่สร้างขึ้นมาก็ยังยากลำบาก แล้วก็พยายามทำให้ต่อเนื่องก็ยังยากลำบาก อยากที่จะเอาไปใช้การใช้งาน เพียงแค่สร้างกับทำความต่อเนื่องให้ได้เสียก่อนตรงนี้ก็ยากอยู่ อาจจะมีเป็นบางช่วงบางครั้งบางคราว แต่ไม่ค่อยจะต่อเนื่องเท่าไหร่ ก็เลยไม่รู้ความจริง อาจจะมองอาจจะรู้อยู่เห็นอยู่ ทำความเข้าใจได้อยู่ในระดับของสมมติ ศรัทธาอยู่ในระดับของสมมติ

การสร้างตบะการสร้างบารมีในส่วนอื่นนั้นมีอยู่ แต่การเจริญสติที่จะเข้าไปดูรู้เห็นการเกิดการดับการแยกการคลาย รู้ลักษณะของใจ ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่คลายจากขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ใจที่ละจากกิเลสเป็นอย่างนี้ อันนี้คือสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้คือใจ อันนี้คืออาการของใจ ลึกลงไปใจเกิดส่งออกไปภายนอกได้อย่างไร ใจเกิดกิเลสความกิเลสหยาบกิเลสละเอียดเป็นลักษณะหน้าตาอาการอย่างไร เรารู้ตั้งแต่อยู่ในภาพรวม แต่เรายังไม่เคยเห็นต้นเหตุการก่อตัวการเริ่ม ก็ต้องพยายามหมั่นวิเคราะห์หมั่นสังเกตหมั่นทำความเข้าใจ เจริญสติอบรมใจของเราอยู่บ่อยๆ เจริญสติเข้าไปเป็นเพื่อนใจอยู่ตลอดเวลา ยืนเดินนั่งนอนให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ

ถ้าเราไม่เจริญสติไปหมั่นพร่ำสอนเราแล้ว ไม่มีใครที่จะสอนเราได้นอกจากตัวของเรา คำว่า ‘เรา’ ในที่นี้หมายถึงสติหมายถึงสติปัญญาแล้วก็ใจ เรา..ตัวเรา เราคือใจกับสติปัญญาแล้วก็อบรม แต่กายสมมตินั้นก็มีอยู่ เราก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจ ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขารรอบรู้ในวิญญาณในกายรอบรู้ในปัจจัยสี่ รอบรู้ในโลกธรรมในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวสมมติวิมุตติอาศัยกันอยู่ อัตตาอนัตตาก็อาศัยกันอยู่ เหมือนกับเราพลิกจากฝ่ามือเป็นหลังมือจากหลังมือเป็นฝ่ามือ แต่เขาก็อยู่ร่วมกันอยู่ แต่ให้อยู่คนละด้านอยู่คนละข้าง ซึ่งเรายังแยกแยะไม่ได้เราก็เลย..ก็เลยยังไม่เข้าถึงตรงนี้

เราก็ต้องพยายามหมั่นสร้างอานิสงส์ สร้างตบะสร้างบารมีให้มีให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ไปปล่อยปละเลยผัดวันประกันพรุ่ง อย่างน้อยๆ ก็ให้จิตใจของเราอยู่ในมีกองบุญกองกุศลอยู่ในคุณงามความดี หมั่นขัดเกลาหมั่นละกิเลส จิตใจของเราก็จะเบาบางจากกิเลสไปเรื่อยๆ ถึงวาระเวลากำลังสติปัญญาของเราเข้มแข็งเราก็อาจจะเดินเข้าไปถึงจุดหมาย คือความสะอาดความบริสุทธิ์ความหลุดพ้นข้องใจได้ แต่เวลานี้กำลังสติมีน้อยเราก็ต้องพยายามสร้างขึ้นมาแล้วเอาเจริญสติเอาไปใช้การใช้งานให้ได้ บอกตัวเองให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออก ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำนะ ฝากกันไว้ ไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปศึกษาทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง