หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 37

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 37
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 37
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 37
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 11 เมษายน 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนแล้วก็ให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นเราสร้างความรู้ตัวตั้งแต่ตื่นตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน ฝึกสังเกต ฝึกสร้างความรู้ตัว การหายใจเข้าหายใจออกเป็นธรรมชาติที่ต่อเนื่องเป็นอย่างไร ถ้าเราฝึกให้เกิดความเคยชิน เราก็จะรู้ลึกลงไปอีก รู้อาการของใจ รู้ความปกติของใจ รู้อาการของความคิด อาการของขันธ์ห้า เห็นการเกิดการดับ เห็นการแยกการคลาย

แต่เวลานี้ความรู้ตัวของเรายังไม่ต่อเนื่องกันเลย ไม่ค่อยจะได้ฝึก อาจจะฝึก อาจจะดูรู้เป็นบางช่วงบางครั้งบางคราว เอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ เราต้องพยายามฝึก ฝึกบ่อยๆ แล้วก็รู้จักเอาไปใช้งาน เอาไปอบรมใจของเรา เอาไปแก้ไขใจของเรา ใจของเรามีความเกียจคร้าน ละความเกียจคร้าน ใจของเรามีกิเลส ก็พยายามละกิเลส ใจของเราเกิดปรุงแต่งส่งออกไปภายนอก เราก็พยายามหยุดพยายามดับ ต้องจำแนกแจกแจงให้ชัดเจน ใจกับสติปัญญาที่สร้างขึ้นมาใหม่

ต่อไปข้างหน้าใจกับอาการของใจอีก แยกออกไปซอยออกไปเรื่อยๆ นี่ที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์ กองหนึ่งคือกองใจกองวิญญาณนี้เขาเรียกว่า ‘กองหนึ่ง’ เขาเรียกว่า ‘กองวิญญาณ’ ส่วนกายเขาเรียกว่า ‘กองรูป’ ส่วนความคิดต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาที่เราไม่ตั้งใจคิด บางทีก็เป็นเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง ถ้าเป็นเรื่องอดีตเขาเรียกว่า ‘กองของสัญญา’ ความจำได้หมายรู้ ถ้าเป็นกลางๆ หรือเป็นอกุศล กุศล เขาเรียก ‘กองสังขาร’ ที่มันเกิดขึ้น ใจของเราเข้าไปหลงไปรวมจนเป็นตัวเดียวกันเป็นสิ่งเดียวกัน จนเราคิดว่าเราคิดก็รู้ ทำก็รู้ ใจของเราเข้าไปหลงเข้าไปรวม

ถ้ากำลังสติของเรามีเพียงพอ ในเมื่อเราเห็นการก่อตัวของขันธ์ห้า ของใจเคลื่อนเข้าไปรวมกันใจจะดีดออก คลายออก หงายออกมาทันที เหมือนกับขโมยจะเข้าบ้าน ถ้าเจ้าของบ้านรู้ทันขโมยก็จะรีบกระโจนหันหลังกลับ รีบกระโจนออกทันที อาการของความคิดตัวนี้ก็เหมือนกัน ถ้าใจจะเคลื่อนเข้ารวมปุ๊บเรารู้เท่าทันปั๊บ ใจจะดีดออกเหมือนกับเราดึงเชือกตึงๆ เอากรรไกรมาตัดจะดีดออกจากกันหงายทันที เขาจะแยกของเขาเอง แต่ก็ถ้าไม่มีความเพียรจริงๆ ก็ยากที่จะเข้าถึงตรงนี้ ส่วนมากก็หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเอง บางทีใจก็ปิดกั้นตัวเอง บางทีอาการของขันธ์ห้ากับใจก็รวมกันไป บางทีก็รวมไปทั้งสติปัญญาไปกันทั้งก้อน ถูกผิด ผิดก็ผิดทั้งก้อน ถูกก็ถูกทั้งก้อน อยู่ในระดับของสมมติ

แต่ในหลักธรรมท่านให้จำแนกแจกแจง ให้จำแนกแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน คำว่า ‘อัตตา’ เป็นลักษณะอย่างไร อนัตตาเป็นลักษณะอย่างไร หลักของของอริยสัจ ใจส่งออกไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างไร ใจรวมกับขันธ์ห้าเป็นลักษณะอย่างไร วิธีการแนวทางอย่างไรที่จะเข้าถึง แล้วก็ค่อยละ ค่อยสร้างตบะบารมี ตั้งแต่ศรัทธาความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย แล้วก็ตั้งแต่ทาน ทานกิเลสต่างๆ ทานวัตถุข้าวของต่างๆ ก็เพื่อให้ใจของเราเบาบางจากกิเลส ใจของเรามีความแข็งกร้าวเราก็พยายามละความแข็งกร้าว สร้างความอ่อนน้อมถ่อมตน สร้างพรหมวิหาร สร้างความเมตตาให้มีให้เกิดขึ้น ละอคติ ละมลทินต่างๆ กิเลสหยาบกิเลสละเอียด มีเยอะแยะมากมายที่จะต้องศึกษาค้นคว้า

แต่เวลานี้กำลังสติมีไม่เพียงพอ มีแต่แรงศรัทธากับแรงบุญบ้าง แต่กำลังสติปัญญาที่จะไปบั่นทอนกิเลส ไปชี้เหตุชี้ผล มีไม่ค่อยจะเต็มที่กันเท่าไร ก็ต้องพยายาม พยายามยังสติปัญญาของเราให้เข้มแข็งเอาไปใช้การใช้งาน แล้วก็ยังสมมติของเราให้สมบูรณ์แบบให้บริบูรณ์


ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณในกายของตัวเรา รอบรู้ในโลกธรรม อยู่ที่ไหนก็มีความสุขถ้าเราเข้าใจ อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุขเจริญสติก็เป็นเพื่อนใจ อบรมใจ มีเพื่อนคอยอบรมใจอยู่ตลอดเวลา มีความสุข ไปที่ไหนก็มีความสุข ก็ต้องพยายามกัน

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้เชื่อมโยง ให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำนะ

ไหว้พระพร้อมๆ กัน พยายามศึกษาค้นคว้าให้ได้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง