หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 73 วันที่ 4 สิงหาคม 2563 (2/2)

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 73 วันที่ 4 สิงหาคม 2563 (2/2)
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 73 วันที่ 4 สิงหาคม 2563 (2/2)
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 73
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 4 สิงหาคม 2563 (2/2)

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออก ที่ปลายจมูกของเราให้ชัดเจนฟังไปด้วย น้อมมองเข้าไปดู รู้ ข้างใน

การหายใจเข้าหายใจออกให้เป็นธรรมชาติที่สุด นั่งตามสบาย ไม่ต้องพนมมือก็ได้ วางกายให้เป็นธรรมชาติที่สุด ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ดูสิ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ การสูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาวนี่ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า 'สติรู้กาย' ถ้าความรู้ไม่ชัดเจน ความรู้สึกไม่ชัดเจน เราก็สูดลมหายใจยาวๆ

เพียงแค่รู้เรื่องการหายใจเข้าหายใจออกให้ต่อเนื่อง ตรงนี้ก็ยังทำกันได้ยากอยู่ ก็ต้องพยายาม หลวงพ่อถึงเน้นตั้งแต่ตัวนี้แหละ ตั้งแต่ต้นเหตุตัวนี้ก่อน ถ้าเรามีความรู้สึกที่ต่อเนื่อง ยาวเข้มแข็งขึ้น เราก็จะรู้ลึกลงไปอีก รู้ลักษณะของใจ รู้ความปกติของใจ เวลาใจเกิดส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างไร หรือความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิดผุดขึ้นมา ใจเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร ตรงนั้นมันจะรู้ตามมาอีก ถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง ภายใน 5 นาที 10 นาที กลายเป็นชั่วโมง กลายเป็นวัน กลายเป็นเดือนเป็นปี จนกลายเป็นมหาสติ

ก่อนที่สติของเราจะกลายเป็นมหาสติได้ สติของเราก็จะสังเกตเห็น ใจกับขันธ์ห้าเคลื่อนเข้าไปรวมกัน ถ้าเห็นตรงนั้นใจจะพลิกออกจากขันธ์ห้าทันที หงายออกจากขันธ์ห้าซึ่งท่านเรียกว่า 'แยกรูปแยกนาม' แยกได้ตรงนี้ใจก็จะเบา กายก็จะเบา เราก็จะเข้าใจภาษาธรรม ภาษาโลก เห็นเข้าใจคำว่า ‘อัตตา อนัตตา’ เข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกายของเรา เข้าใจหมดเลย

ทีนี้เราจะทำความเข้าใจ เราจะละได้อีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของเรา เหมือนกับเราขึ้นบันได ขึ้นบันไดกว่าจะถึงตัวเรือนได้ ก็อาศัยบันไดแต่ละขั้นแต่ละชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ จนถ้าแยกรูปแยกนามได้ เราก็จะก้าว เพียงแค่ก้าวขึ้นถึงตัวเรือน การทำความเข้าใจ ปัดกวาดความสกปรกรกรุงรังอยู่บนตัวเรือน หรือว่าอยู่ในใจของเราออกอีก เราก็จะเข้าสู่ขั้นของวิปัสสนา ความรู้แจ้งเห็นจริงเปิดทางให้

ใจของเราเบาบางจากกิเลสระดับไหน สติของเราพลั้งเผลอได้อย่างไร นิวรณธรรมเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใจส่งออกไปภายนอกเรื่องอะไร นั่นแหละก็จะเข้าสู่หลักอริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ เราก็จะตามเห็น ตามดู ตามรู้

ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่ลงที่ไตรลักษณ์ ลงที่ความว่าง แต่คนเรานั้น ทั้งอยาก ทั้งหวัง สารพัดอย่าง แม้แต่ปฏิบัติธรรมก็อยากได้ธรรม อยากรู้ธรรม ตัวความอยาก ตัวความเกิดที่เกิดจากใจนั่นแหละปิดกั้นเอาไว้หมดเลย เราต้องสร้างความรู้ตัว หรือว่าเอาสติของเรา ให้เอาไปใช้ให้ได้ แต่เราไม่ได้สร้าง สร้างขึ้นมาก็นิดๆ หน่อยๆ มันก็เลยเอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ เราต้องพยายามสร้างตัวนี้แหละ

ลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นอย่างไร ความรู้สึกที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างไร เราพลั้งเผลอได้อย่างไร เริ่มใหม่ พลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ เริ่มอยู่บ่อยๆ ช่วงใหม่ๆ นี้จะอึดอัดทุกอย่าง เพียงแค่สังเกตวิเคราะห์ จะนั่งที อันนู้นก็มาฉุดไป จะทำที อันนู้นก็มาฉุดมาลากไป เพราะกิเลสสมมติยังไม่คลายให้เรา เราต้องพยายามคลาย ละความโลภ ละความโกรธ ด้วยการให้อภัยทาน อโหสิกรรม ละความเกียจคร้าน สร้างความขยัน มีความเพียร ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ยืนเดินนั่งนอนกินอยู่กับถ่าย

เราแก้ไขเรา เรื่องของเรา ปรับปรุงตัวเรา ส่วนมากก็มีแต่เรื่องของคนอื่น ตื่นขึ้นมา คนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ กิเลสมันเล่นงานโดยไม่รู้ตัว เขาก็อยู่ส่วนเขา เราก็อยู่ส่วนเรา เราห้ามคนอื่นพูดได้ไหม เราห้ามคนอื่นคิดได้ไหม เรามาจำแนกแจกแจงที่เรา แก้ไขที่เราอย่างเดียว ตำหนิตัวเอง แก้ไขตัวเอง มีความเพียร ไม่ต้องไปกังวลว่าเราจะไม่รู้ไม่เห็น เราพยายามดับความเกิดของใจ ดับทีนั้นทีนี้ ใจของเราก็นิ่งขึ้น จนใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้ เราก็จะรู้ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน สติปัญญาของเราจะตามค้นคว้า จนหยุดยั้งไม่ได้โน่นนั่นแหละ จนหมดความสงสัยจริงๆ จนทะลุปรุโปร่งหมดนั่นแหละ สติปัญญาถึงจะหยุด ถึงจะเป็นมหาสติ มหาปัญญา

แต่เวลานี้เพียงแค่สร้างให้ 5นาทีก็ยังทำไม่ได้ มันก็เลยยากที่จะเข้าถึงจุดมุ่งหมายอันสูงสุด ไม่ว่าคนไหนก็ช่างเถอะ ก็พยายามรีบ อย่าปล่อยวันเวลาทิ้ง รีบด้วยสติ รีบด้วยปัญญา หาเหตุหาผลด้วยสติด้วยปัญญา

ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนเกิดแต่เหตุ พระพุทธองค์ท่านถึงชี้ลงที่เหตุ เหตุเกิดที่เรา เหตุเกิดขึ้นที่ใจ ความเกิด ความดับความคิด มันก่อตัวอย่างไร ท่านบอกว่าอันนี้สวนนามธรรมนะ อันนี้ส่วนรูปธรรมนะ ทำอย่างไรเราถึงจะแยกรูป รส กลิ่นเสียง ออกจากใจของเราได้

ภาษาธรรมภาษาโลก สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟัง เราต้องแยกต้องคลายให้ได้เสียก่อน เราถึงจะเห็น แต่เวลานี้กำลังสตินี้มีไม่เพียงพอ มีบ้างนิดๆหน่อยๆ มันก็เลยเข้าไม่ถึงทรัพย์อันใหญ่ เราต้องดำเนินให้ถึงที่สิ้นสุด มีความเพียรเป็นเลิศ มีความขยันเป็นเลิศ มีความเสียสละเป็นเลิศ ถ้าถึงแล้วเราจะรู้เอง เหมือนกับเราทานข้าว ทานไปทานไปถึงเวลาก็อิ่ม อิ่มแล้วเราจะรู้เอง แต่ในหลักธรรมแล้ว พระพุทธองค์ท่านให้ชี้ลงไปก่อนที่จะทาน กายมันหิวหรือใจมันอยาก ให้รู้จักวิเคราะห์ พิจารณาความอยากเป็นอย่างนี้ ความหิวเป็นอย่างนี้ เราดับความอยากได้ไหม ดับความอยากดับไม่ได้ก็นั่งดูจนมันหายอยาก ค่อยว่ากัน แต่คนทั่วไปไม่! อะไรมันนั่นก็เอาเลย โดยที่ปล่อยวาง ขอให้อิ่ม มันยังไม่ถึงเวลาคิด... สารพัดอย่าง มันเล่นงานอยู่ตลอดเวลา

ไม่ต้องไปกังวลว่าจะไม่ได้คิด คนไม่ตายก็ต้องคิด แต่คิดด้วยเหตุด้วยผล คิดด้วยสติด้วยปัญญา ให้ใจเป็นกลางว่างรับรู้อยู่ ให้อยู่ในวิหารธรรม อยู่ในเครื่องอยู่คือความว่าง ความบริสุทธิ์ ทุกคนก็มีกันหมด แต่เอากิเลสมาปิดกั้นเอาไว้เท่านั้นเอง แต่อย่าน้อยใจ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ อยู่คนเดียวเราก็ดูรู้เรา อยู่หลายคนเราก็ดูรู้เรา แก้ไขเรา ปรับปรุงตัวเรา

อย่าปล่อยวันเวลาทิ้ง อย่าให้ความหลงเข้าครอบงำ หลง เกิด ยังไม่พอ ก็หลงเป็นทาสกิเลสอีก กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เราต้องจำแนกแจกแจง เราก็อยู่กับกิเลสนั่นแหละ กายของเรานี่แหละคือก้อนกิเลส ทุกคนก็มีกิเลสกันหมดนั่นแหละ เรารู้ทันเราก็รู้จักทำความเข้าใจ แล้วค่อยละ ไม่ใช่ว่าไปมองไปดูแต่เรื่องโลกๆ อย่างเดียว เราต้องคลายใจออกให้อยู่เหนือโลกเลยทีเดียว ก็ต้องพยายามกันนะ

สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องกันสักนิดก็ยังดี ทำใจให้โล่งสมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา อยู่คนเดียวเราก็ดูเรา อยู่หลายคนเราก็รู้เรา ดูรู้ให้ชัดเจน

พากันไหว้พระพร้อมๆ กันค่อยไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง