หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 71 วันที่ 2 สิงหาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 71 วันที่ 2 สิงหาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 71 วันที่ 2 สิงหาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 71
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 2 สิงหาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา ตั้งแต่ลุกจากที่ เราได้สร้างความรู้ตัว น้อมเข้าไปสำรวจใจ สำรวจกายของเราแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ เพียงแค่การสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องกัน ตรงนี้พวกเราก็ยังทำกันยากอยู่ส่วนการสร้างบุญ สร้างบารมี ศรัทธา ทุกคนก็มีกันเต็มเปี่ยมอยู่ระดับหนึ่ง

ทีนี้เราก็มาสร้างความรู้ตัว เพียงแค่สร้าง แล้วก็ทำให้ต่อเนื่อง แล้วก็รู้จักเอาไปใช้ ส่วนการเอาไปใช้นั้นยังอยู่ เพียงแค่สร้างให้มันได้เสียก่อน สร้างความรู้ตัว ความรู้ตัว คำว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ การหายใจเข้าเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกของการหายใจออกเป็นอย่างนี้ เพียงแค่ดู รู้ การหายใจบางครั้งก็อึดอัด บางครั้งก็ตึงเครียด เราก็ต้องพยายามหัดสังเกตบ่อยๆ ทำความเข้าใจบ่อยๆ

ผิดพลาดเราก็เริ่มใหม่ แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา จนรู้เท่ารู้ทันรู้จักทำความเข้าใจ รู้เรื่องการแยก การคลาย การละกิเลส กิเลสหยาบกิเลสละเอียด อย่างเวลาเราโกรธอย่างนี้ เราก็พยายาม โกรธ...เรารู้จักควบคุมไหม หรือว่าปล่อยออกทางกาย ทางวาจา หรือว่าเริ่มต้นตั้งแต่คิด

ทุกเรื่องในชีวิตของเรา เราก็ต้องพยายามหัดวิเคราะห์ หัดสังเกต ความเป็นอยู่ทางสมมติของเราเป็นอย่างไร เราขาดตกบกพร่องอะไร แต่ละวันเรามีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบเพียงพอหรือไม่ เราพยายามสร้างความขยันให้มีให้เกิดขึ้น แล้วก็สร้างความรับผิดชอบให้มีให้เกิดขึ้น ไล่เรียงลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง ใจของเราก่อตัวอย่างไร เกิดอย่างไร อาการของความคิด หรือว่าอาการของขันธ์ห้าเขาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

เราต้องจำแนกแจกแจง อันนี้ส่วนสติที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้ส่วนใจ อันนี้อาการของใจ ที่ท่านเรียกว่าแยกออกเป็นกองเป็นขันธ์ ในขันธ์ห้าของเรา ซึ่งมีอยู่ 5 กอง เราอาจจะได้ยินได้ฟังอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ แต่เรายังไม่เห็น เพราะว่าเขารวมกันไปอยู่ ทั้งใจ ทั้งปัญญา ทั้งขันธ์ห้า รวมกันไปทั้งก้อน หากจะผิดก็ผิดทั้งก้อน ถูกก็ถูกทั้งก้อน เขายังหลงอยู่

นอกจากบุคคลที่มาเจริญสติให้ได้ต่อเนื่อง แล้วก็มีความรับผิดชอบ ไปวิเคราะห์ ไปทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผลเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ทำหน้าที่ของเราให้จบ ละกิเลสให้หมด อันนี้ก็ยากอยู่นะ พูดง่าย พูด 1 นาที พูด 1 นาที 2 นาที เวลาเราไปทำจริงๆ เป็นปีเป็นหลายๆ ปียังไม่เข้าใจเลย นอกจากบุคคลที่มีอานิสงส์ มีบุญบารมี ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ

ถ้าเรามีความเกียจคร้าน นั่นก็ค่อยสะสมความเกียจคร้านไปทีละเล็กทีละน้อย มันก็มากขึ้นๆ เป็นดินพอกหางหมู เรามีความเสียสละหรือไม่ เรามีความเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ทุกเรื่องเลยแหละในชีวิตตั้งแต่ตื่นขึ้น จนกระทั่งนอนหลับ จนกระทั่งถึงวันตาย กายเนื้อแตกดับ ใจของเราจะไปไหนต่อ ถ้าเราดับความเกิดไม่ได้ ละกิเลสไม่ได้ ก็ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ ไม่ได้สูญหายอะไร เราก็จะได้มีเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเรา

การได้ยินได้ฟัง ถ้าบุคคลที่มีอานิสงส์ มีบุญเพียงพอ เพียงแค่วิธีการแนวทางนิดเดียว แล้วก็ไปทำต่อ การเจริญสติเป็นอย่างนี้นะ การควบคุมใจเป็นอย่างนี้นะ การละกิเลสเป็นอย่างนี้นะ กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเป็นอย่างนี้ ภาษาธรรมภาษาโลกเป็นอย่างนี้ อนิจจังทุกขังอนัตตา ในกายของเราเป็นอย่างนี้ การรอบรู้ในกองสังขาร ในวิญญาณในกายของเราเป็นอย่างนี้ มันมีหมดทุกคน ถ้าเราแยกแยะได้ อันนี้สวนสติ อันนี้ปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้ส่วนใจ อย่าไปปิดกั้นตัวเอง จงเปิดทางให้ตัวเรา แล้วก็ทำความเข้าใจให้ได้ ใช้ตัวเราให้เป็น

แต่เวลานี้ ความเกิดของใจ ของขันธ์ห้า ทั้งกิเลส บงการชีวิตของเรา เราจงมาบงการชีวิตของเราด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติด้วยปัญญา ชี้เหตุชี้ผลด้วยสติด้วยปัญญา สมมติเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี ไม่ใช่ว่าจะเที่ยวไปไล่จิกคนโน้นคนนั้นคนนี้ คนโน้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี ตัวเราดีอย่างเดียว อันนี้มีแต่คนโง่เท่านั้นนะไม่จิกตัวเอง แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง มีตั้งแต่อัตตา อำนาจของกิเลส พรหมวิหารไม่มี ความเสียสละไม่มี อย่าไปหวังทรัพย์ภายในเลย เพียงแค่ทรัพย์ภายนอกก็ทำให้มีให้เกิดขึ้น แล้วก็รักษาให้อยู่ด้วยเหตุด้วยผล ตรงนี้ก็ทำให้ได้ก่อน

ถ้าสมมติของเรายังไม่พร้อม จะทำอะไรก็ลำบาก เพราะปากท้องของเราก็ยังมีการกินอยู่ขับถ่ายอยู่ จะเอาตั้งแต่ทรัพย์ภายใน เอาแต่ความหลุดพ้น มีตั้งแต่ความเกียจคร้าน มีตั้งแต่กิเลส มันก็ไม่ได้ ทุกอย่างก็ต้องอิงอาศัยกัน ท่านถึงบอกว่าให้เจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ ตามทางในอริยมรรค ในองค์แปดที่พระพุทธองค์ท่านได้ชี้เอาไว้

คำว่า 'อริยมรรค' หนทางข้อแรกก็คือสัมมาทิฎฐิ ทำไมถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ใจของเราต้องคลายออกจากขันธ์ห้าให้รู้ด้วย ให้เห็นด้วย นั่นแหละเห็นถูก เขาเรียกว่า 'สัมมาทิฏฐิ' เห็นการเกิดการดับ เห็นการแยกการคลาย ชี้เหตุชี้ผล ละกิเลสหยาบ ละกิเลสละเอียด ท่านถึงว่าเห็นหนทางเปิด สัมมาทิฏฐิเปิดทางให้ พูดจาถูกต้อง ดำเนินงานถูกต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเรา

เราก็แก้ไขเรา ใจของเราผิดพลาดตรงไหน เราก็แก้ไข เราปรับปรุง เราปรับสภาพใจของเราให้อยู่ในความอ่อนน้อมให้อยู่ในความอ่อนโยน อ่อนโยน หนักแน่น ไม่หวั่นไหวกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่หวั่นไหวกับกิเลสต่างๆ

กายทวารทำหน้าที่อย่างไร หู ตา จมูก ลิ้น กาย เขาทำหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว แต่เราไม่มีกำลังสติเพียงพอที่จะไปดู ไปรู้ไปเห็น มันอาจจะรู้ได้เป็นบางครั้งบางคราว ท่านบอกให้รู้ได้ทุกขณะลมหายใจเข้าออกทุกขณะจิต ถ้ากำลังสติปัญญาของเราแก่กล้า ปรับกำลังใจ ปรับใจของเรา ปรับสติปัญญาของเราให้สมดุล

ถึงเราดำเนิน ใช้พิจารณาตรงนั้นไม่ได้ ก็ขอให้ใจของเราน้อมเข้าไปอยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ ให้รู้จักขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ รู้จักทำ รู้จักสร้างให้มีให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเอาแต่ความหลงเข้าไปครอบงำ เอาแต่กิเลสเข้าไปครอบงำ อันนั้นก็เป็นวิบากกรรมของแต่ละบุคคล

เราจงเป็นนายตัวของเรา แก้ไขตัวของเรา ปรับปรุงตัวของเรา ไม่ว่าสมมติภายนอกเราก็ทำหน้าที่ อะไรที่จะเป็นประโยชน์ อะไรที่จะไม่เป็นประโยชน์ แต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี แต่ละทุกลมหายใจเข้าออก เราไม่ให้ปล่อยเวลาทิ้งเราพยายามยังประโยชน์ให้เต็มที่ ผิดพลาดเราก็แก้ไขใหม่

อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง รักษาบุญเอาไว้ บุญก็รู้จักรักษา บุญก็รู้จักสร้าง การละกิเลส การชำระจิตใจ ก็ต้องรู้จักแก้ไขถ้าเราไม่แก้ไขเราแล้ว ไม่มีใครจะแก้ไขให้เราได้เลย นอกจากตัวของเรา เป็นเรื่องกรรมของแต่ละบุคคล

ทำอะไรก็ถ้าไม่รู้จักแก้ไข มันก็จะหนักไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้จักแก้ไข ชำระ ใจของเราเกิดกิเลสเราก็ละกิเลส ใจของเราเกิดความโกรธ เราก็พยายามดับความโกรธ ให้รู้จักให้อภัย อโหสิกรรม จากเรื่องเล็กก็ทำให้ไม่มี จากเรื่องใหญ่ก็ละลายไปจนเหลือน้อย จนปล่อยวางได้หมดทุกอย่าง

อย่าไปพลาดโอกาส จงตักตวงหากำไรสร้างบุญสร้างกุศลในกายก้อนนี้ให้ได้ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ เพราะว่าทุกคนเกิดมาเท่าไหร่ก็ตายหมด ความตายมีกันทุกคนถ้าถึงเวลา ถ้าไม่ถึงเวลาจะทำยังไง อยากจะไปก็ไม่ได้ไป ถ้าถึงเวลาแล้วอะไรมาฉุดไว้ก็ไม่อยู่

ขณะที่ยังมีลมหายใจนี่แหละ พยายามแก้ไขตัวเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ตั้งแต่ตื่นขึ้น อยู่ที่ไหนก็เป็นวัดถ้าเราเข้าใจทำบ้านให้เป็นวัด ทำกายให้เป็นวัด ทำใจให้เป็นพระ แล้วเจริญสติที่หลวงพ่อพูดอยู่ทุกวันนี้ เข้าไปอบรมจิตใจของเราไม่ใช่ว่าทำปุ๊บมันได้ปั๊บ เราต้องค่อยๆ ทำ ค่อยเป็นค่อยไป วิบากกรรมสมมติมันคลายเมื่อไหร่ เราก็จะเข้าใจในชีวิตของเรา ก็ต้องพยายามกัน

พยายามทำธรรมชาติให้เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติภายนอก ธรรมชาติภายใน ธรรมชาติภายนอกก็คือสิ่งแวดล้อมของเรานั่นแหละ เรามาช่วยกันแก้ไข มาช่วยกันปรับปรุง ดูแลรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้าเราไม่มีความเสียสละเราก็ทำไม่ได้

เราไม่มีพรหมวิหาร เราก็ปกครองหมู่คณะไม่ได้ เราต้องพยายามเจริญพรหมวิหาร มีความเสียสละ มีความอดทน มีการแก้ไขปรับปรุงตั้งแต่ความคิด ถ้าคิดไม่ดีเราก็พยายามละ พยายามดับ

วาจา ออกมาทางวาจา เราดับวาจาไม่ได้ ดับข้างในไม่ได้ก็ออกทางวาจา ทางวาจาเราดับไม่ได้ เราก็ใช้ปัญญาหลบหลีก ค่อยแก้ไข ส่วนสมมติเราก็แก้ไข ขยันหมั่นเพียร ยังประโยชน์ ประโยชน์มากประโยชน์น้อย ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์สูงสุด ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า เราพยายามแก้ไขกัน

เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง