หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 57 วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 57 วันที่ 1 กรกฎาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 57 วันที่ 1 กรกฎาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 57
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ต่อเนื่อง แล้วก็ให้เชื่อมโยง นั่งตามสบายวางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย

ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ อย่าไปฝืนลมหายใจการสูดลมหายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ กายก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ก็จะหยุด ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็ชัดเจน ความรู้สึกของการหายใจเข้าออกมีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา หายใจเข้ามีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกมีความรู้สึกรับรู้อยู่อันนี้เขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้าเรารู้ทั้งหายใจเข้าหายใจออกเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’

ทำอย่างไรเราถึงจะรู้ให้ต่อเนื่อง ถ้าความรู้สึกพังเผลอเราก็เริ่มใหม่ ตรงนี้แหละเราขาดการสร้างความรู้ตัว ส่วนการนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ความคิดต่างๆ นั้นมีอยู่เดิม แล้วก็มีมากด้วย เขาเรียกว่า ‘ปัญญาโลกีย์’ ปัญญาตัวนี้แหละ มันปิดกันตัวเองเอาไว้

ท่านถึงให้มาเจริญสติ มีศรัทธา มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อบุญเชื่อบาปเชื่อกรรม แล้วก็เจริญสติให้รู้เท่ารู้ทันรู้จักทำความเข้าใจลักษณะของใจที่ปกติ เป็นอย่างนี้ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ ใจที่หลงความคิดจนใจคลายออกจากความคิด หรือว่าแยกรูปแยกนาม อันนี้ต้องเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรจริงๆ ถึงจะรู้เท่ารู้ทัน รู้จักทำความเข้าใจ รู้กันรู้แก้ มองเห็นหนทางเดิน ว่าเราจะได้เดินหรือไม่ หรือได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน

ส่วนการสร้างบารมีการทำบุญให้ทาน ทุกคนตรงนี้มีกันอยู่ แต่การเจริญสติอาจจะมีกันอยู่เป็นบางครั้งบางคราว ไม่ต่อเนื่อง แล้วก็เอาไปใช้การใช้งานยังไม่ได้ เราต้องเจริญสติรู้จักเอาสติปัญญาไปใช้ ไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล คำว่าสมมติวิมุตติเป็นอย่างไร อัตตาอนัตตาเป็นอย่างไร อนิจจังทุกขังอนัตตาในกายในขันธ์ห้าของเราเป็นลักษณะอย่างไรอะไรคือส่วนรูปอะไรคือส่วนนาม

การสังเกตการวิเคราะห์การแยกแยะจนใจคลายออกจากขันธ์ห้า เห็นการเกิดการดับเห็นกิเลสหยาบกิเลสละเอียด ที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์ เขาว่าเป็นกองเป็นขันธ์ได้ยังไง พระพุทธองค์มองเห็นเป็นของว่าง ของไม่เที่ยง แต่พวกเรามองเห็นเป็นตัวเป็นตนเป็นก้อน เป็นของเที่ยง มันจะกลับกัน จะกลับกันทันที

ถ้าใจคลายออกจากสมมติไปหาวิมุตติ เราก็จะเข้าใจคำว่า ‘อัตตาอนัตตา’ ถ้ากำลังสติปัญญาของเราตามเห็นการเกิดการดับ เกิดทางกายเนื้อก็ร่างกายของเรา เกิดทางจิตวิญญาณคือความคิดของเรา เกิดๆ ดับๆ ในความคิดนั้นจำแนกแจกแจงออกไปอีก เกิดจากตัวใจโดยตรง หรือว่าเกิดจากตัววิญญาณ หรือว่าเกิดจากอาการของขันธ์ห้า เขารวมกันได้อย่างไร จนเป็นตัวเดียว จนเกิดเป็นตัวตนของเราได้ยังไง

นี่แหละทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนประกอบขึ้นด้วยแรงกรรม ถ้าเรามาศึกษา มาทำความเข้าใจให้ละเอียดเราก็จะเห็น ส่วนแนวทางวิธีการแนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบ แล้วก็มาเปิดเผยจำแนกแจกแจง แนวทางนั้น วิธีการนั้นมีอยู่ธรรมชาตินั้นมี อยู่ประจำโลก มีอยู่ประจำทุกคน เพราะว่าใจที่ไม่มีกิเลสเขาก็บริสุทธิ์ ใจที่ไม่เกิดเขาก็นิ่ง แต่เวลานี้ทั้งหลง ทั้งเกิด ทั้งยึด ทั้งเอากิเลสหยาบกิเลสละเอียดมาปกปิดเอาไว้ แต่เราก็ไม่รู้ เพราะว่าเราไม่ได้เห็นต้นเหตุ ถ้าเราเห็นต้นเหตุชี้เหตุลชี้ผล

พระพุทธองค์ท่านถึงค้นคว้าลงที่เหตุ ให้เจริญสตินี่แหละเอาไปสังเกต ไปวิเคราะห์ แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีไม่เพียงพอก็เลยไปใช้การใช้งานไม่ได้ อาจจะใช้ได้ทีละครั้งสองครั้ง ใช้ได้นิดๆ หน่อย แต่ไม่ค้นคว้าให้ถึงต้นเหตุ ตามชี้เหตุชี้ผลหาความจริงในชีวิตของเรา ก็ต้องพยายามกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนอิริยาบถใดก็ช่าง ยืนเดินนั่งนอนกินอยู่ขับถ่าย ก็เป็นเรื่องของเรานั่นแหละไม่ใช่เรื่องของคนอื่น มันเป็นเรื่องของเราแก้ไขเราให้ดีทำหน้าที่ของเราให้ดี แล้วก็ค่อยล้นออกไปสู่ภายนอก

อะไรที่จะเป็นประโยชน์ ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์สูงสุด ประโยชน์ในระดับสมมติวิมุตติ มีเหตุมีผลกันทั้งนั้น ก็ต้องพยายามเอาไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี อะไรที่จะเป็นบุญเป็นกุศล อะไรที่เป็นอกุศลแล้วก็ละเสีย อะไรที่เป็นกุศลเราก็เจริญให้มีให้เกิดขึ้น เป็นเรื่องของเราทุกคนไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แต่เราก็ยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยสี่ กับสังคมกับโลกธรรม กายของเราเข้าร่วมสมมติให้ใจรับรู้ ผิดถูกชั่วดียังไง สติปัญญาแก้ไข ทำหน้าที่ของเราให้เดินให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสรรค์ต่อ ทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง