หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 10 วันที่ 2 มีนาคม 2563 (1/2)

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 10 วันที่ 2 มีนาคม 2563 (1/2)
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 10 วันที่ 2 มีนาคม 2563 (1/2)
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 10
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 2 มีนาคม 2563 (1/2)

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเรา วางกายวางใจให้เป็นอิสรภาพ ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ หยุดเอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราดับไม่ได้ก็ขอให้หยุดขณะที่เรากำลังนั่งฟังอยู่นี้

น้อมดูรู้ สัมผัสของลมหายใจของเรา ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว อันนี้เป็นแค่เพียงอุบาย อุบายในการหายใจ การสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกของลมหายใจนั่นแหละที่ท่านเรียกว่า “สติรู้กาย” หายใจเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ อย่าไปบังคับลมหายใจให้เป็นการหายใจแบบธรรมชาติ

ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็พยายามหัดสร้างความรู้ตัวบ่อยๆ ทำความเข้าใจบ่อยๆสังเกตบ่อยๆ ตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ ถ้าเรามีความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง สติสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมก็จะต่อเนื่องกัน ส่วนการเกิดของใจการเกิดของความคิด อันนี้มีอยู่เดิม เราก็พยายามหัดรู้จัก อันนี้ส่วนสติ ส่วนปัญญานะ อันนี้ส่วนใจ ใจไม่สงบเราก็ควบคุมใจให้สงบ แล้วก็ควบคุมกายของเราด้วย ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ สำรวจบ่อยๆ

แต่ละวัน ใจของเรามีความแข็งกร้าว เราก็พยายามละความแข็งกร้าว ใจของเรามีความแข็งกระด้าง หรือว่าใจของเรามีความโลภ ความโกรธ เราก็พยายามรู้จักดับ รู้จักหาอุบาย ใจเกิดความโลภ เราก็พยายามละความโลภด้วยการให้ ด้วยการช่วยเหลือ ด้วยการอนุเคราะห์ ใจเกิดความโกรธ เราก็พยายามดับความโกรธของเรา ด้วยการให้อภัยอโหสิกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นธรรมถ้าเราเข้าใจ

ถ้าใจของเรายิ่งคลายออกจากขันธ์ห้า หรือว่า “แยกรูปแยกนาม” ได้ใจก็จะโล่ง ใจก็จะโปร่ง ใจคลายออกจากความคิดซึ่งท่านเรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” ความเห็นถูก เห็นถูกในหลักธรรม แต่เรายังแยกแยะไม่ได้ชัดเจน เราก็เห็นถูกอยู่ในระดับของสมมติ

หมั่นน้อมใจของเราให้อยู่ในบุญในกุศลอยู่ตลอดเวลา เรารู้จักวิธีการ ลักษณะของสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันเป็นลักษณะอย่างนี้ ใจที่สงบด้วยการข่มเอาไว้เป็นลักษณะอย่างนี้ ใจที่คลายออกรู้เห็นตามความเป็นจริงเป็นลักษณะอย่างนี้ ใจเกิดกิเลสเราก็รู้จักดับรู้จักหยุด เราดับความเกิดได้ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ หรือว่าปลายเหตุ อยู่ที่ใจ แล้วก็อยู่ที่กาย แล้วก็อยู่ที่วาจา

ส่วนศรัทธาความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยตรงนี้มีอยู่ การทำบุญการให้ทานตรงนี้มีอยู่ การปฏิบัติน้อมกายน้อมใจของเราเข้ามา บางทีใจของตัวเราก็หลอกตัวเองให้มาปฏิบัติ หลอกตัวเองให้ทำ ทำโน่นทำนี่ อยากปฏิบัติ ใจก็บังคับกาย นั่นแหละความเกิดของใจปิดกั้นตัวเองอยู่ตลอดเวลา

เราพยายามตั้งสติความรู้ตัวให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องไปควบคุมใจ ไม่ใช่ว่าให้ใจเป็นตัวสั่ง ยิ่งสั่งเท่าไหร่ ยิ่งปฏิบัติเท่าไหร่ มันก็ยิ่งปิดกั้นตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว ทั้งที่ใจก็เป็นธรรม ทั้งที่ใจก็เป็นบุญ

เรามาเปลี่ยนสภาพ อันนี้ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ หรือว่าเจริญสติให้รู้จักคำว่า “สติรู้ตัวรู้กายอยู่ปัจจุบัน” ไม่ใช่ว่าใจไปนึกเอาไปคิดเอา ถ้าใจนึกเอาใจคิดเอา ใจเกิดอยู่ตลอดเวลาความเกิดนั่นแหละ คือกิเลสอันละเอียดที่สุด ถ้าเราไม่รู้จัก

อันนี้สติที่เราสร้างขึ้นมาเอาไปใช้การใช้งาน อันนี้คือใจที่เราไปหยุดไปดับไปควบคุม ต่อไปข้างหน้าก็คือความคิดที่เราไม่ได้ตั้งใจคิดหรือว่าอาการของขันธ์ห้าผุดขึ้นมา ใจเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร อันนี้ต้องเป็นบุคคลที่มีสติที่ต่อเนื่อง แล้วก็หมั่นอบรมใจบ่อยๆ ถึงจะเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไปฝึกอยู่เฉพาะที่กาย ฝึกทั้งวันทั้งเดือนทั้งปีก็ไม่รู้เรื่องหรอก ถ้าฝึกอยู่ที่กาย ถ้าใจไปฝึกกาย

เราก็ต้องมาเจริญสติเข้าไปอบรมใจ ถ้าเรารู้จักใจแล้ว ยืนเดินนั่งนอนก็เป็นแค่เพียงอิริยาบถ จะยืนจะเดิน จะนั่งจะนอน เราก็ดูใจ เราจะละได้หรือไม่ เราละกิเลสได้หรือไม่ เราควบคุมใจของเราได้หรือไม่ กิเลสของเราเบาบางหรือเปล่า ช่วงใหม่ๆ ทุกคนก็แสวงหาสถานที่ แสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อที่จะหาแนวทางการฝึกหัดปฏิบัติ ถ้าเราเข้าใจแล้ว ตั้งแต่ตื่นขึ้นมานู่น ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ สติตั้งมั่นไหม ใจปกติหรือไม่ จะลุกจะก้าวจะเดิน สติปัญญาเป็นตัวสั่ง ให้ใจรับรู้ จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำ อันนี้เรื่องของกาย อันนี้เรื่องของใจ

ทำกับข้าวกับปลา ใจเกิดความยินดีไหม ผลักไสไหม ใจเกิดความยินร้าย ผลักไสหรือเปล่า เราดูที่ต้นเหตุ ตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ การยืนการเดิน การนั่งการนอน อันนี้ก็จะเป็นแค่เพียงอิริยาบถของกาย ถ้าเราหมั่นฝึก หมั่นฝึก

โอ้ย... สมัยก่อนโน้น... ตั้งแต่ 30 ปีหลวงพ่อมาฝึกละความกลัวอยู่ในป่า มาฝึกเดินจงกรม มาฝึกนั่งสมาธิไม่มีใครเห็นหรอก เราเห็นเราก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปฝึกให้คนโน้นเขาเห็น คนนี้เขาเห็น คนโน้นเขาดู คนนี้เขารู้ว่าเราปฏิบัติ อันนั้นเขาเรียกว่าความหลงอยู่ ความหลงอยู่

ถ้าเราปฏิบัติ อยู่กลางโรงหนัง อยู่กลางตลาด ตากระทบรูปใจเป็นอย่างไร หูกระทบเสียงใจเป็นอย่างไร เราดูที่ใจของเราเป็นต้นเหตุ เรารู้จักจำแนกแจกแจง แยกรูปรสกลิ่นเสียงออกจากใจของเรา ว่าใจของเราเกิดความยินดีไหม ตากระทบรูป หูกระทบเสียง ลิ้นกระทบรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจของเรายังปกติดีอยู่หรือไม่

การเจริญสติที่ต่อเนื่อง ความกลัวเป็นยังไง เราดับได้หรือไม่ เรามาเดินมาฝึก ไม่จำเป็นต้องไปฝึกให้คนโน้นเขาดูคนนี้เขาเห็น เราเอาตั้งแต่ตื่นขึ้น ตื่นขึ้นมาปุ๊บ เราดูปั๊บ แก้ไขปุ๊บ จะลุกจะก้าวจะเดินมีความรู้สึกสัมผัสอยู่ที่การเดินบ้าง ของลมหายใจบ้าง แล้วก็สำรวจใจของเรา ใจของเรามีพรหมวิหารไหม หรือมีความเมตตาหรือไม่ หรือว่ามีตั้งแต่ความอาฆาตพยาบาท หรือว่ามีตั้งแต่มลทิน เราให้รู้จักฐานของใจ

ทีนี้เราจะละได้หรือไม่ เราดับได้หรือไม่ การฝึกหัดเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่ว่าไม่ดี อยู่ที่ไหนก็ดีหมด อยู่กับครูบาอาจารย์ท่านไหน ครูบาอาจารย์ทุกองค์ทุกท่านก็อยากจะให้เราเข้าถึงจุดหมายปลายทาง บางทีบางท่านก็ไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดำเนินทางผิดก็ผิดไปตลอด ถ้าโชคดีก็ไปเจอครูบาอาจารย์ที่ชี้แนะได้ถูกทาง ก็จะไปได้เร็วได้ไว

ถ้าเรามาทำความเข้าใจ รู้จักแก้ไขตัวเราปรับปรุงตัวเรา ความโกรธของเราเบาบางหรือไม่ เราดับความอยาก อยากในรูปในรสในกลิ่นในเสียง แล้วก็ดับความเกิดของใจ ความเกิดของใจนั่นแหละ คือกิเลสอันละเอียดที่สุด

ไม่ใช่ว่าวันนี้จะปฏิบัติธรรม วันโน้นจะปฏิบัติธรรม จะไปปฏิบัติธรรมที่นู่นที่นี่ ถ้าเราเข้าใจแล้วการไปที่โน่นไปที่นี่ไปเพียงแค่หาประสบการณ์ ว่าเราจะทำอย่างไร จะจัดการกับกิเลสของเราได้อย่างไร ใจของเราถึงจะสงบ ใจของเราถึงจะสะอาดไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วได้ไว

ถ้าใจคลายออกจากขันธ์ห้า เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ว่า ความเกิดความดับเป็นอย่างไร อริยสัจ ใจส่งออกไปภายนอกได้อย่างไร การสร้างบารมีวิธีไหน ความเสียสละ ละความเกียจคร้าน สร้างความขยันหมั่นเพียร สร้างความอดทน มีจิตใจอ่อนน้อมถ่อมตน มีพรหมวิหาร มีความเมตตา มีความกตัญญูกตเวที มองเห็นคนอื่นต่ำ ยกตัวเองสูง เราก็พยายามรีบแก้ไข สิ่งละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามองข้ามนั่นแหละ จะปิดกั้นตัวใจของเราเอาไว้ บางทีก็ความกังวลบ้าง บางทีก็ปฏิบัติทางโน้นจะถูกไหม ปฏิบัติทางนี้จะถูกไหม

หลักของการปฏิบัติ จะคร่ำเคร่งมากมาย วิธีการอะไรก็ช่าง ปฏิบัติเพื่อคลายความหลง แล้วก็เพื่อละกิเลส ละกิเลส กิเลสทั้งอยากทั้งไม่อยากนั่นแหละ ถ้าใจไม่เป็นกลาง ถ้าแยกแยะไม่ได้ความเกิดของใจทั้งอยากทั้งไม่อยาก ความทะเยอทะยานอยาก การพูดง่ายอยู่ แต่การลงมือปฏิบัติจริงๆ เราต้องเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรจริงๆ ถ้าเพียรไม่ถูกทางเพียรไม่ถูกที่ เพียรจนกระทั่งถึงวันตายก็ไม่รู้เรื่อง

ถ้าเราทำความเข้าใจได้ถูกต้อง ยืนเดินนั่งนอนก็เป็นแค่เพียงอิริยาบถ ช่วงใหม่ๆกำลังสติของเราไม่ต่อเนื่องเอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ เราก็วางภาระหน้าที่ทางสมมติมาทำความเข้าใจ จนชี้เหตุชี้ผล ให้ใจมองเห็นความเป็นจริงได้ เห็นความเกิดความดับได้ ซึ่งท่านเรียกว่า “เห็น” ภาษาธรรมะท่านเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ความเกิดความดับของขันธ์ห้าซึ่งมีอยู่ในกายของเรา กายของเรามีขันธ์ห้า มีวิญญาณ ตัววิญญาณนี่แหละตัวมายึด มาครอบครอง ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม 4 ส่วนส่วนรูปธรรมคือร่างกายของเรานี้ 1 ส่วน อันนี้มีอยู่

ใจของคนเรานี้หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด เพราะหลงมาสร้างภพมนุษย์ แล้วก็มายึดติดตรงนี้อีกแล้วก็เกิดต่ออีก เกิดต่ออีกแล้วยังเป็นทาสกิเลสอีก ถ้าเรามาคลายใจได้ แยกแยะได้ เราก็จะมองเห็นเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์

ใจส่งออกไปภายนอกนี้เขาเรียกว่า “สมุทัย” เราจะหาวิธีดับยังไง ดับด้วยสมถะ แล้วก็ละด้วยปัญญา รู้ด้วยปัญญา กำลังสติปัญญาสมาธิ ช่วงใหม่ๆไม่มี เราก็ต้องสร้างให้มี ถ้ามีแล้วก็รู้จักเอาไปใช้ เอาไปใช้แล้วก็รู้จักรักษา รู้จักควบคุมจนใจของเราไม่มีอะไรที่จะให้เข้าไปแก้ไข

ละกิเลสเราก็ละ ดับกิเลสความเกิดเราก็ดับ ทำความเข้าใจให้เรียบร้อย ในวันข้างหน้าสติสมาธิปัญญา เขาก็จะรักษาเราเอง ช่วงใหม่ๆ นี้เราต้องรักษา ชี้เหตุ ชี้ผลแล้วก็ละกิเลส ถ้าเราทำความเข้าใจได้ถูกต้อง สติปัญญาสมาธิจะรักษาเราเอง ยืนเดินนั่งนอนก็เป็นแค่เพียงอิริยาบถ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสก็จะเป็นอาจารย์สอบอารมณ์เรา

แต่ละวันตื่นขึ้นมา เหตุจากภายนอกทำให้เกิดหรือว่าเกิดจากภายใน หรือว่าเกิดขึ้นจากใจของเรา ทุกเรื่อง แม้ตั้งแต่กระทั่งเวลาที่จะขบจะฉัน เราก็ต้องแยกแยะจำแนกแจกแจงว่า ความอยากเป็นอย่างนี้นะ ความหิวเป็นอย่างนี้นะความหิวนี้ละไม่ได้ เราต้องละความอยากดับความอยากหรือว่าดับความเกิดของใจ ส่วนความหิวนั้นกายของเราก็เป็นก้อนทุกข์ เดี๋ยวก็ไม่ได้ทานเดี๋ยวก็หิว เราก็หาให้ด้วยปัญญา ให้ใจรับรู้ ไม่ให้ใจเกิดความอยาก เกิดความยินดียินร้ายรู้จักกะประมาณ รู้จักพิจารณา รู้จักจำแนกแจกแจง ทุกเรื่อง

ตากระทบรูปก็เหมือนกัน สักแต่ว่าเห็นสักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟัง แยกรูปรสกลิ่นเสียงออกจากใจ หูตาจมูกลิ้นกายเป็นทางผ่าน เราต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด ความรู้ตัวของเราพลั้งเผลอได้ยังไง เพียงแค่การเจริญสติ รู้จักสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน ตรงนี้ก็ทำได้ยาก ทำได้ยาก

ส่วนมากก็มีตั้งแต่ตัวใจเป็นตัวสั่ง จะลุกจะเดินจะนั่งจะนอนจะคิด ทั้งใจทั้งปัญญารวมกันไปทั้งก้อน รวมกันไปทั้งขันธ์ห้า อันนี้แหละเขาเรียกว่า ยังหลงอยู่ อาจจะหลงอยู่ในบุญ หลงอยู่ในการปฏิบัติ หลงอยู่ในการฝึก เราก็ต้องพยายามพิจารณาให้ชัดเจน เราก็จะมองเห็นความเป็นจริง

ยืนเดินนั่งนอน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ถ้าเรามีสติรู้ใจ ใจเกิดกิเลสปุ๊บ ฐานของใจอยู่ตรงไหน เราก็พยายามดู รู้ อยู่ที่ฐาน ไม่มีใครเขาดูเขารู้หรอกว่าเราปฏิบัติอะไร เราฝึกอะไร

มีหลายคนหลายท่านที่เข้าใจผิดๆ ก็ต้องรีบแก้ไขเสียใหม่ เราก็จะไปได้เร็วได้ไวขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ต้องพยายามกันนะ พยายามเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน ถ้าเราเข้าถึงจุดหมายปลายทาง ละกิเลสได้ ดับความเกิดได้ มองเห็นหนทางทะลุปรุโปร่ง บางทีบางครั้งเราอาจจะได้ไม่ต้องกลับมาเกิดกันอีกเลยทีเดียว

อย่าประมาทในการสร้างบุญสร้างกุศล นิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นอานิสงส์ สะสมไปจนถึงจุดหมายปลายทาง ทุกเรื่องในชีวิต ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราก็เอาการเอางานนั่นแหละเป็นการปฏิบัติ ทำงานไปด้วยให้ใจรับรู้ไปด้วย มีความสุข ใจเกิดกิเลสก็รู้จักแก้ไข ใจเกิดส่งออกไปภายนอก เราก็รู้จักหยุดรู้จักดับ หนุนกำลังสติปัญญาไปทำหน้าที่แทน

อยู่ที่บ้านก็เย็น ทำบ้านให้เป็นวัด ทำกายให้เป็นวัด ทำใจให้เป็นพระ เจริญสติเข้าไปเยี่ยมพระอยู่บ่อยๆ บ้านเย็น ออกไปภายนอกก็เย็น ถ้าบ้านร้อน ไปอยู่ภายนอกออกไปภายนอก ไปฝึกหัดปฏิบัติใจเย็น กลับไปบ้านก็ร้อนเหมือนเดิม เราต้องรีบแก้ไขทั้งที่บ้านทั้งที่วัดแก้ไขที่ใจที่กายของเรา จากน้อยไปหามากๆ

แต่ละวันเราผิดพลาดอะไรบ้าง เรารีบแก้ไข ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราพลั้งเผลอให้กิเลสตัวไหนบ้างเหตุอะไรที่ทำให้เกิด เกิดขึ้นภายในหรือว่าเกิดขึ้นจากภายนอกมาทำให้ภายในเกิด กิเลสเกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมหรือไม่ หรือว่าเกิดขึ้นที่ใจ ความโลภเป็นยังไง ความอยากเป็นอย่างไรความหิวเป็นอย่างไร ความอ่อนน้อมถ่อมตน พรหมวิหาร ความเมตตา ความกล้าหาญเป็นอย่างไร การละความกลัวเป็นอย่างไร ทุกเรื่อง ทุกเรื่องอยู่ในการฝึกหัดปฏิบัติธรรม

แต่บางคนบางท่านก็ฝึก ฝึกอยู่ในระดับของสมมติ ถ้าถึงวาระเวลาก็คงจะเดินปัญญาได้ ไม่เข้าใจวันนี้วันพรุ่งนี้เดือนนี้เดือนหน้า ไม่เข้าใจจริงๆ สิ่งที่พวกเราทำนี้ก็จะไปต่อภพหน้า ตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่ก็ต้องพยายามกันนะ

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กันพากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้เรื่อง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง