หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 67 วันที่ 25 กรกฎาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 67 วันที่ 25 กรกฎาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 67 วันที่ 25 กรกฎาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 67
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติให้ต่อเนื่องกัน สร้างความรู้สึกรับรู้ของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ต่อเนื่อง ตรงนี้ก็ทำกันได้ยากอยู่ ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ ความรู้สึกของลมที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา มีความรู้สึกรับรู้อยู่ นั่นแหละเขาเรียกว่า 'สติรู้กาย' เราพยายามทำให้ต่อเนื่อง

หายใจเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้ หายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้ เหมือนกับนายประตูทวาร รถคันไหนวิ่งเข้าก็รู้ รถคันไหนวิ่งออกก็รู้

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัวตรงนี้แล้วหรือยัง มีตั้งแต่ความนึกคิดปรุงแต่งที่เกิดจากใจบ้าง เกิดจากขันธ์ห้าบ้าง รวมกันไปทั้งปัญญาด้วย เขาเรียกว่ารวมกันไปทั้งก้อน ความหลงตรงนั้นปิดกั้นอยู่ ความเกิดก็ปิดกั้นเอาไว้อยู่

นอกจากบุคคลที่มาเจริญสติให้ต่อเนื่อง ให้ต่อเนื่องกันแล้วก็เอาสติที่เราฝึกขึ้นมาไปใช้การใช้งาน รู้เท่าทันการเกิดของใจ รู้เท่าทันการเกิดของขันธ์ห้าซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม แต่เราต้องรู้ด้วยลักษณะหน้าตาอาการ มีความรู้สึกรับรู้อยู่ส่วนมากก็ คิดก็รู้ ทำก็รู้ เขาหลงอยู่ในความคิดตรงนั้นอยู่ แต่เราก็ว่าเราไม่หลงหรอก

แต่ถ้าเรามาเจริญสติ จนเห็นใจ ลักษณะของใจ ที่คลายออกจากความคิด หงายขึ้นมา หงายขึ้นมา แยกออกจากอาการของความคิดนั่นแหละ ถึงเรียกว่า 'คลายความหลง' หรือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก เราอาจจะเห็นถูกอยู่ในระดับของสมมติ ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ รู้ลักษณะอาการ ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ ใจเกิดความยินดียินร้าย ใจเกิดความโลภ ความโกรธ ความอยาก เขาก่อตัวอย่างไร เราจะควบคุมใจ ดับ หยุด ได้ตั้งแต่ระดับไหน ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ จนศึกษาให้ละเอียด

สิ่งที่เราจะเข้าไปดู รู้ทัน คือ 'การเจริญสติ' รู้จากน้อยๆ ไปหามากๆ แต่ละวันๆเราก็ต้องพยายามดู เราผิดพลาดตรงไหน เราแก้ไขอย่างไร ใจเกิดความโลภ เราพยายามละความโลภ ด้วยการให้ ด้วยการคลาย ด้วยการเอาออก ใจเกิดความโกรธ เราก็พยายามดับความโกรธ ดับได้ตั้งแต่ภายใน ต้นเหตุ หรือว่าเขาออกมาทางกาย ทางวาจา ทางใจ ลึกลงไปก่อนที่จะคิด นิ่งเสียก่อนค่อยคิด ตัวปัญญาเป็นตัวเกิด เราต้องพยายามดำเนินชีวิตของเราให้เห็นความเป็นจริง รู้แจ้งเห็นจริง เราจะละได้หรือละไม่ได้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของเรา

ทุกคนก็มีบุญ ทุกคนก็มีวาสนากันหมด สิ่งที่ผิดพลาดมา เราก็แก้ไขใหม่ เริ่มต้นใหม่ เพียงแค่ระดับสมมติเราก็พยายามทำให้ดี รู้จัก...ใหม่ๆ ก็ควบคุม ควบคุมกายของเรา ควบคุมวาจาของเรา แล้วก็ควบคุมใจของเรา รู้เหตุรู้ผลชี้เหตุชี้ผล แล้วก็ดับที่ต้นเหตุ ละที่ต้นเหตุ

ใจเกิดเมื่อไหร่เราก็หยุด หนุนกำลังสติปัญญาไปเกิดแทน แม้สติปัญญาของเราถ้าเป็นอกุศลเราก็พยายามดับ เราก็พยายามละ ไม่ให้เกิด สูงขึ้นไปก็ไม่ให้ยึดอะไรสักอย่าง ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ส่วนมากก็ไม่ค่อยจะสนใจกันเท่าไหร่ เพียงแค่การเจริญสติให้ต่อเนื่อง ตรงนี้ก็ทำได้ยาก การหายใจเข้าหายใจออก ความรู้สึกที่ต่อเนื่อง ตรงนี้ก็ทำได้ยาก ก็เลยจะไปเอาตั้งแต่ปัญญาโลกีย์เข้าไปตัดสิน ปัญญาโลกๆ เข้าไปตัดสิน ไม่เหลือวิสัยหรอก ถ้าเราพยายาม

ใหม่ๆ ก็เป็นการทวนกระแส เป็นการฝืนฝืนปัญญาแบบโลกๆ จนกำลังสติที่เราสร้างขึ้นมา ไปใช้การใช้งานได้ อบรมใจของเราได้ แก้ไขใจของเราได้ จนใจอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเรา ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ส่วนบารมี การทำบุญให้ทาน สร้างบารมีตรงนี้ก็มีอยู่ เราก็พยายาม พยายามเอา

ทุกอิริยาบถ ทุกลมหายใจเข้าออกมีค่ามากมายมหาศาล เราพยายามศึกษาจนเป็นอัตโนมัติ จนเป็นความเคยชินนานๆทีเราถึงจะดูที มันก็เลยไม่ทัน เพียงแค่การหายใจเข้าหายใจออก อานาปานสติ ตรงนี้เราก็ทำให้ต่อเนื่องก็ได้ยาก มันก็เลยจะไปเอาตั้งแต่ทรัพย์อันสูง ความบริสุทธิ์ของใจ ความสงบ ความนิ่ง การปล่อยวางของใจ ถ้าเราไม่ดูจากน้อยๆ จะไปเอาตั้งแต่ตัวใหญ่ๆ

ไอ้ความเกิดเขาก็เกิดอยู่ทุกวัน เกิดทางกายเนื้อนี่ก็เกิดมาแล้ว จนกว่าจะถึงวาระถึงเวลาของเขานั่นแหละ เขาถึงจะได้ไป ถ้าวิบากกรรมสมมติมันจบอยู่ตรงไหน กายมันหมดลมหายใจเมื่อไหร่ นั่นแหละเขาถึงจะได้ทิ้งกาย แต่เวลานี้เรายังอาศัยกายอยู่ เราก็ดูแลรักษาเขาไป ถึงเวลาจะเอาอะไรไปรักษาเขา ก็เอาไว้ไม่อยู่ถ้าถึงเวลา เพราะว่าทุกอย่างลงที่ไตรลักษณ์ กฎของไตรลักษณ์ กฎของความเป็นจริง เราก็ต้องมองเห็นความเป็นจริง

ปัญญาทางโลก บางคนก็อาจจะมีมาก ปัญญาทางธรรมก็อาจจะมีน้อย บางคนก็สมบูรณ์ในทางสมมติ แต่ขาดตกบกพร่องทางด้านจิตใจ จิตใจมีแต่ความกังวล จิตใจมีแต่ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย มลทินต่างๆ กิเลสละเอียดต่างๆเข้าครอบงำ ส่วนมากก็เข้าข้างตัวเอง เพราะว่าหาความเป็นกลางไม่ได้

ความเป็นกลาง คือไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่เข้าข้างคนอื่น มองโลกในทางที่ดี คิดดี ทำดี การกระทำของเราให้ถึงพร้อม ถึงจะเกิดประโยชน์ ไม่ใช่ไปมองคนนู้นเป็นอย่างงั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เรื่องของเรานั่นแหละ เอาให้มันจบ

ถ้าใจเราดี เราก็มองโลกในทางที่ดี ถ้าใจไม่ดี เราก็ไปมองโลกในทางที่ไม่ดี ไปโทษแต่คนโน้น ไปโทษแต่คนนี้ ไม่โทษตัวเอง ไม่แก้ไขตัวเราเอง

แต่ละวันเราทำอะไรบ้างที่เกิดประโยชน์ ประโยชน์สมมติประโยชน์วิมุตติ ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

คนเรานี่ก็ติดสบาย ชอบติดสบายแต่เกียจคร้าน เราก็พยายามละความเกียจคร้านออกไปเสีย พยายามทำความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ให้มีให้เกิดขึ้น จนเป็นกิจวัตร จนเป็นอัตโนมัติในการแก้ไขตัวเรา เอาแค่แก้ไขแต่ละวันๆก็ทำให้ได้ ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งค่ำ จนเวลาเราเข้าหลับเข้านอน เราก็ย้อนดูว่ากิเลสตัวไหนมาเล่นงานเรา เราจะแก้ไขอย่างไร เพื่อที่จะเอาไปใช้การใช้งานในวันต่อไป

กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด กิเลสเกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมหรือไม่ เหตุจากภายนอกทำให้ใจของเราเกิด กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ตากระทบรูป ภาษาธรรมะ สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟังเป็นยังไง ตาหูจมูกลิ้นกาย เขาก็ทำหน้าที่ของเขา ใจก็มีหน้าที่รับรู้ แต่เวลานี้ใจเกิด ทั้งอยากดู อยากรู้ อยากเห็น ทั้งทะเยอทะยานอยาก ทั้งความอยากทั้งความหวัง สารพัดอย่าง เพราะว่าเรายังคลายใจออกจากขันธ์ห้าไม่ได้ ใจของเรายังแยกรูปแยกนามไม่ได้ ดับความเกิดไม่ได้ ความเกิดนั่นแหละคือกิเลสอันละเอียดที่สุด แล้วก็มีความยินดียินร้ายเข้าไปประกอบอีก เราต้องพยายามแก้ไขใจกาย แล้วก็วาจา

ที่ท่านว่าศีลสมาธิปัญญา คำว่า 'ศีล' คือความปกติ ปกติระดับไหน ระดับกายระดับใจ ระดับกายเราก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น จนกระทั่งออกมาทางวาจา เราควบคุมใจต้นเหตุไม่ได้ เราก็ไม่ให้เขาแสดงออกทางวาจา ถ้าควบคุมวาจาไม่ได้ เราก็ใช้ปัญญาหลบหลีก แก้ไขอยู่บ่อยๆ ทำความเข้าใจอยู่บ่อยๆ ทุกขณะลมหายใจเข้าออกหรือว่าทุกขณะจิต

บุคคลที่เจริญสติเป็นอัตโนมัติ ชี้เหตุชี้ผลเป็นอัตโนมัติ เขาถึงจะมองเห็นความเป็นจริงตรงนี้ ถ้ายังชี้เหตุชี้ผลไม่ได้ มันก็มีตั้งแต่เหตุผลแบบโลกๆ แต่บางครั้งก็ถูกอยู่ในระดับของสมมติ ที่ท่านว่า...จริงสมมติ จริงวิมุตติ ถ้าในหลักธรรมแล้วก็มันก็จะลงไตรลักษณ์หมด เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ลงในความไม่เที่ยง ในไตรลักษณ์ ในความว่างหมด แม้แต่กายของเราที่ยืมโลกมาใช้ ก็ต้องกลับคืนสู่สภาพเดิม คือดินน้ำลมไฟ

ถ้าเรามาวิเคราะห์อยู่บ่อยๆ แยกใจออกจากขันธ์ห้าได้บ่อยๆ ดับความเกิดของใจอยู่บ่อยๆ เราก็จะมองเห็น กิเลสตัวไหนมาเล่นงานเรา เราก็เริ่มใหม่ พลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ ก็ต้องพยายาม

อย่าไปปิดกั้นตัวเราเอง จงให้กำลังใจตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ทำเรื่องของเราให้ดี เพราะเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะจัดการกับชีวิตของเรา คนอื่นนั้นมาบังคับเราไม่ได้หรอก เพียงแค่บอกกล่าวชี้แนะวิธีการแนวทาง ถ้าพวกท่านไม่ไปทำมันก็ไม่เกิดประโยชน์

การเจริญสติ เราต้องรู้จักลักษณะของสติ แล้วก็รู้จักเอาสติปัญญาของเราไปใช้ ถ้าเราทำบ่อยๆ สติของเราก็จะกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญาก็จะกลายเป็นปัญญารอบรู้ในดวงวิญญาณในกายของเรา แต่เวลานี้เขารวมกันไปทั้งก้อน เรามองเห็นทั้งก้อน แต่ในหลักธรรมท่านให้มองเห็นเป็นกองเป็นขันธ์ กองรูปกองนาม กองขันธ์ห้า แต่ละกองๆ เขารู้อยู่ในตัวของเรา ถึงรวมกันอยู่ จนใจคลายออกมารับรู้ในสิ่งต่างๆ ก็ต้องพยายามกันนะ ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี

ทุกอย่าง อะไรที่จะเป็นบุญ เราก็พยายามทำ อะไรที่จะเป็นกุศล ทำมากทำน้อยก็เป็นของเรา ไม่ได้สูญหายไปไหน เห็นคนอื่นทำเราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วย เราต้องเป็นบุคคลที่มีความขยัน มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ มีความกระตือรือล้น แต่เป็นการกระตือรือล้นด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติด้วยปัญญา ละความเกียจคร้านออกไปให้หมด ก็ต้องพยายามกัน

เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง