หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 7 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 7 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 7 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 7
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบายแล้วก็วางใจให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ที่เกิดจากใจเอาไว้ ถึงเราจะหยุดไม่ได้เด็ดขาดก็ขอให้หยุดเอาไว้ขณะที่เรากำลังนั่งอยู่นี่แหละ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย รู้จักเจริญสติให้ต่อเนื่อง

ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก

มองเข้าไปดู รู้ อยู่ที่ปลายจมูกของเรา ถ้าเรารู้ตรงนี้เราก็พยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้ตั้งแต่ตื่น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ ถ้าความรู้สึกพลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ ความรู้สึกพลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่

ส่วนมากตื่นขึ้นมาปุ๊บความคิดไม่รู้พุ่งไปไหน นั่นแหละเขาเรียกว่า “ใจส่งออกไปภายนอก” บางทีก็มีความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ บางทีก็เรื่องการเรื่องงาน เรื่องครอบครัว สารพัดปัญหาที่เข้ามาทำให้ใจของเราเกิดความกังวล เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความลังเล สารพัดอย่าง

ให้เรามาเจริญสติเข้าไปดับ เข้าไปหยุด เข้าไปอบรมใจของเรา ให้รู้จักลักษณะของใจ ใจที่ปกติ ใจที่ไม่เกิด แล้วก็รู้เท่ารู้ทันอาการของความคิดที่ผุดขึ้นมา ใจเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร ตรงนี้แหละสำคัญ!

ถ้าเรารู้ไม่ทัน เราก็รู้จักเริ่มใหม่ ดับใหม่ ถ้าเรารู้ทัน ใจก็จะคลายออกจากขันธ์ห้า ใจก็จะหงายขึ้นมา ความรู้ตัวของเราก็รู้ทันการเกิดการดับของขันธ์ห้า เรื่องอะไรที่เกิดใจก็ว่างรับรู้อยู่ ถ้าความรู้ตัวของเราไม่ต่อเนื่องก็ยากที่จะเข้าถึงตรงนี้ยากที่จะรู้ทันตรงนี้

ส่วนมากการสร้างบุญสร้างบารมีทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม รู้จักสนใจฝักใฝ่ในการทำบุญในการให้ทาน ฝักใฝ่อยู่ตลอดเวลา แต่การเจริญสติ เอาสติปัญญาของเราไปใช้ ตรงนี้อาจจะมีบ้างเป็นบางช่วงบางครั้งบางคราว เราต้องมาศึกษามาเจริญให้มีให้เกิด แล้วก็รู้จักเอาไปใช้ จนใจคลายออก แยกรูปแยกนาม เห็นความเป็นจริงของส่วนนามธรรม เห็นความเกิดความดับ เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ว่า อัตตาเป็นอย่างนี้ อนัตตาเป็นอย่างนี้ ใจส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างนี้ ใจเกิดกิเลสเป็นอย่างนี้ กิเลสหยาบกิเลสละเอียดมีอยู่กันทุกคน เว้นเสียแต่ว่าเราจะรู้แล้ว ก็รู้จักทำความเข้าใจแล้วก็รู้จักละ อันนี้สติ อันนี้ใจ อันนี้อาการของใจ เรื่องอะไร ซอยให้ละเอียดลงไป

อย่าเพิ่งไปรีบร้อน ปัญญาเก่าที่เรามี ถึงจะมีเยอะมากมายถึงขนาดไหน ก็อย่าเอามาคิด ความคิดตัวนี้แหละทำให้มันทุกข์อยู่ตลอดเวลา… ความเกิด ความเกิด

เรามาเจริญสติเข้าไปดูรู้ที่ต้นเหตุ จนแยกได้คลายได้ตามดูได้ รู้เห็นความเป็นจริงได้ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน สติปัญญาไปแก้ไขภายในให้ได้ จนล้นออกไปสู่ภายนอก เอาไปทำการทำงาน ทำความเข้าใจกับโลก กายของเรานี้เป็นก้อนโลก ถ้าใจของเราเป็นธรรมเราก็มองเห็นโลกนี้เป็นธรรม

หลวงพ่อก็เพียงแค่เล่าให้ฟัง เล่าของเก่านิดๆ หน่อยๆ แต่พวกท่านไม่พากันไปศึกษาไปค้นคว้า ถอนรากถอนโคนของกิเลส จะไปเอาตั้งแต่ผล มันก็เลยไม่ได้ ผล การกระทำทางสมมติก็มีอยู่ จริงทั้งสมมติ จริงทางด้านวิมุตติ เราต้องรู้เรื่องทั้งสมมติทั้งวิมุตติ ทั้งชีวิตจนกว่าจะหมดลมหายใจ มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน

ไม่ใช่ว่าไปนั่งหลับตาแล้วเป็นการปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่ออะไร ทำความเข้าใจให้ถูก ศีลสมาธิ ปัญญา เป็นลักษณะอย่างไรใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร การที่ใจไม่เกิดเป็นอย่างไร ใจที่คลายความหลง คำว่า “หลง” หลงอะไร หลงขันธ์ห้าเป็นยังไง แล้วก็ไปหลงยึดทุกสิ่งทุกอย่าง กายก็เลยหนักใจก็เลยหนัก

การได้ยินได้ฟังได้อ่านทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม แต่การลงมือทำจริงๆ เราต้องศึกษาให้ละเอียด ปัจจุบันธรรมเป็นอย่างไรอดีต อนาคต แก้ไขปัจจุบันให้ดีก็จะส่งผลถึงอนาคต พูดน้อย นอนน้อย ต่อยให้เยอะๆ ปฏิบัติให้เยอะๆ ทำความเข้าใจให้เยอะๆ บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น

ที่ท่านบอกว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” คำว่าตนนี่ 'ตน' ตัวแรกคือสติที่เราสร้างขึ้นมา 'ตน' ตัวที่สองก็คือใจ แต่เวลานี้ใจของเราทั้งหลงทั้งยึด ทั้งเกิดทั้งเป็นทาสของกิเลส แต่เราก็แยกแยะไม่ได้ ก็เลยมองไม่เห็นตรงนั้น ยิ่งเจริญสติให้ต่อเนื่องกันเท่าไหร่ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ก็รีบทำความเข้าใจ อย่าไปท้อ จนกว่าใจของเราจะตกกระแสธรรมตกกระแสธรรมได้เมื่อไหร่ หรือว่าแยกรูปแยกนามได้เมื่อไหร่นั่นแหละ สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกเปิดทางปรากฏ ถ้าเราไม่ตามทำความเข้าใจมันก็เข้าสู่อีหรอบเดิม ซึมเข้าสู่สมมติเหมือนเดิม

เราต้องทำความเข้าใจทุกเรื่อง แล้วรู้ความจริงทุกเรื่อง รู้แล้วก็ค่อยพิจารณา ตามดูแล้วก็ค่อยพิจารณา ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนตกอยู่ในกฎของอนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา แต่เราไม่เห็นตรงนี้ก็เลยเพียงแค่รู้ระดับของสมมติ ก็ยังดีนะ ดีกว่าไม่ได้ทำ

อย่าไปทิ้งบุญ สร้างบุญสร้างกุศลให้เต็มเปี่ยม อานิสงส์ผลบุญผลทานของเราก็จะส่งผลให้ถึงวันข้างหน้าในการปล่อยในการวาง เป็นเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเรา ตราบใดที่ใจของเรายังเกิดอยู่ เพียงแค่การเจริญสติให้ต่อเนื่องก็ทำให้ได้ก่อน

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ความรู้ตัวนี้เปรียบเสมือนกับนายประตูทวารนั่งอยู่ที่ประตู รถคันไหนวิ่งเข้าก็รู้ รถคันไหนวิ่งออกก็รู้ รถใหญ่ก็รู้รถเล็กก็รู้ การหายใจเข้าออก หายใจยาวก็รู้ หายใจสั้นก็รู้ หายใจเป็นธรรมชาติก็รู้ หายใจอึดอัดเราก็แก้ไข

ถ้าเราเอาความรู้ตัว หรือสติ ไปเพ่งอยู่ที่ปลายจมูกของเรา สมองก็จะตึง ถ้าเราเอาใจไปจดจ่อที่ปลายจมูกของเราหน้าอกก็จะแน่น สารพัดอย่าง บางทีก็กลืนน้ำลายบ้าง บางทีก็อึดอัดสารพัดอย่างที่มันจะมาฉุดรั้งเรา ไม่ให้ดำเนินให้ถึงจุดหมายปลายทาง ต้องฝืนกันถึงที่สิ้นสุด ใจถึงจะคลาย คลายมาได้มันก็โล่งโปร่ง ทีนี้เราจะจัดการกับกิเลสได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเรา

ทำใจให้โล่งสมองให้โปร่ง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราให้ต่อเนื่องกันนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปศึกษาทำความเข้าใจต่อทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง