หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 62 วันที่ 13 กรกฎาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 62 วันที่ 13 กรกฎาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 62 วันที่ 13 กรกฎาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 62
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ ชั่วครั้งชั่วคราวถึงเราจะหยุดไม่ได้ตลอด หรือว่าดับไม่ได้ ก็ขอให้หยุด ขณะที่เรากำลังนั่งฟังอยู่นี้แหละ

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เราได้เจริญ หรือว่าสร้าง สร้างความรู้ตัวหรือว่าเจริญสตินั่นแหละ หรือว่าสร้างผู้รู้ ให้มีให้เกิดขึ้นที่กายของเรา ส่วนใจของเรานั้นเป็นธาตุรู้ แต่เขาก็ยังเกิด ทั้งเกิด ทั้งหลง ทั้งยึด แต่เราคงไม่ว่าเราหลงหรอก นอกจากบุคคลที่เจริญสติ เอาสติไปรู้เท่า รู้ทัน จนใจคลายออกจากขันธ์ห้า หรือว่าแยกรูปแยกนาม ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม แล้วก็กายของเราเป็นรูปธรรม ถึงจะรู้ว่าเราหลง

เพียงแค่การเจริญสติให้ต่อเนื่อง เราก็จะมองเห็น ว่าช่วงที่ผ่านมาสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน เราอาจจะมีบ้าง กระท่อนกระแท่นเอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ เพราะว่าความคิดเก่า ปัญญาเก่า ซึ่งภาษาธรรมะท่านเรียกว่า 'ปัญญาโลกีย์' ทำอย่างไรเราถึงจะเป็น 'ปัญญาโลกุตระ' คือรู้แจ้งเห็นจริง เราก็ต้องมาสร้างความรู้ตัวเข้าไปอบรมใจบ่อยๆ ทำความเข้าใจกับใจของเราบ่อยๆ แต่ละวัน ใจของเรามีความเกิดกี่เที่ยว มีความอยาก มีความโลภ กิเลสเล่นงานสักกี่ครั้ง ใจส่งออกไปภายนอกสักกี่เรื่อง ความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งแต่งใจของเราสักกี่ครั้ง เหตุจากภายนอกทำให้ใจเกิดหรือเกิดจากภายใน

เราก็ต้องพยายามหัดสังเกต เป็นคนช่างสังเกต เป็นคนช่างวิเคราะห์ อันนี้กายนะ อันนี้ใจนะ ใจของเราเริ่มก่อตัวอย่างไร เริ่มเกิดอย่างไร ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ถ้าเราไม่วิเคราะห์ตัวเรา แก้ไขเรา ปรับปรุงตัวเรา ไม่ปฏิวัติตัวเอง ก็ยากที่จะเข้าถึง ถ้าปล่อยให้ใจของเราเกิดปรุงแต่งอยู่อย่างนั้น เพราะว่าใจของทุกคนนี่หลงมานาน หลงเกิดมานาน หลงคิดมานาน หลงเกิดหลงคิดมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดโน่นแหละ อยู่ในภพน้อยภพใหญ่ แต่เราก็อย่าไปถึงขนาดนั้น เราเอาดูรู้ตัวขณะที่ยังอยู่ในกายของมนุษย์นี้แหละ เราพยายามเจริญสติเข้าไปดู รู้ไม่ทันเราก็รู้จักจะควบคุม รู้จักหยุดเอาไว้ซึ่งท่านเรียกว่า 'สมถะ'

แต่เวลานี้กำลังสติที่เราจะสร้างเข้าไปอบรมใจของเรามันมีไม่เพียงพอ แล้วก็ไม่ค่อยจะมีเสียด้วย มีตั้งแต่ไปนึกเอา ไปคิดเอา ว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ การได้ยิน ได้อ่าน ได้ฟัง ทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม ศรัทธาก็มี เป็นพื้นฐานกันอยู่แล้ว

ทีนี้วิธีการเจริญสติที่ต่อเนื่องเป็นอย่างนี้ การควบคุมใจของเรา ควบคุมได้ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ ทำความเข้าใจกับภาษาธรรมภาษาโลก ภาษาโลกภาษาสมมติต่างๆ คำว่า 'ปกติ' ปกติระดับไหน ระดับภายในภายนอก ระดับกายวาจาใจ

ภาษาธรรม คำว่า 'ปกติ' คำว่าปกติก็คือศีล 'ศีล' ก็คือความปกติศีลระดับไหน..นี่แหละ ระดับภายนอกเป็นแค่ภายนอกเราไปทุกข์อยู่ กังวลอยู่กับภายนอก ตัวต้นเหตุของศีลจริงๆ ก็คือตัวใจ ตัวเจตนา เขาก่อตัวตรงไหน เขาเกิดอย่างไรเราต้องพยายามดู รู้ ชี้ ลงไปที่เหตุ เห็นเหตุเห็นผล เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์
คำว่า 'อริยสัจ' ความจริงอันประเสริฐสี่ ซึ่งมีอยู่ในกายของเรา
คำว่า 'แยกรูปแยกนาม' เป็นอย่างไร?
คำว่า 'อัตตาอนัตตา' เป็นอย่างไร?
คำว่า 'สมมติวิมุตติ' เป็นอย่างไร?
เราเห็นกิเลสหยาบกิเลสละเอียดเป็นอย่างไร กิเลสขึ้นที่กายใจส่งเสริมหรือไม่ หรือเกิดขึ้นที่ใจ เราควบคุมได้ ระดับใจระดับกาย ระดับวาจา ต้องหมั่นวิเคราะห์ หมั่นพิจารณาอยู่บ่อยๆ

เพียงแค่การเจริญสติให้ต่อเนื่องก็ยังยาก ที่จะเอาสติไปใช้อีกก็ยังยากอีก ที่จะไปขัดเกลากิเลสออกจากใจของเราให้มันหมดจดก็ยังยากอีก แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่อยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของเราไม่ใช่เรื่องของคนอื่นที่จะต้องแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา อยู่คนเดียวเราก็รู้กายรู้ใจของเราอยู่หลายคนเราก็รู้กายรู้ใจของเรา เราพยายามหมั่นอบรม หมั่นทำความเข้าใจอยู่บ่อยๆ เราค่อยละทีนั้นทีนี้ ละทีนั้นทีนี้ กิเลสต่างๆ มันก็เหือดแห้งจากใจของเรา

ขันธ์ห้าเรารู้ความจริงแล้ว เราก็ค่อยละ ละส่วนนามธรรม ส่วนรูปธรรมก็ยังอยู่ หมดลมหายใจนั่นแหละถึงจะได้วางส่วนรูปธรรมจริงๆ

ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ เราพยายามทำความเข้าใจให้ถูกต้อง มีความเพียรให้ถูกต้อง ซึ่งเรียกว่า ‘ความเห็น’ ความเห็นที่ถูก หรือว่า 'สัมมาทิฏฐิ' ความเห็นถูก เห็นถูกในหลักธรรม เห็นถูกในคำสอนของพระพุทธองค์ อัตตาอนัตตาสมมติวิมุตติ กิเลสหยาบกิเลสละเอียด วิปัสสนาญาณวิปัสสนาภูมิ เราได้ยินตั้งแต่ชื่อ แต่เราต้องเข้าถึง เข้าถึงด้วย รู้ด้วย เห็นด้วย ประกาศด้วยตนเองได้ด้วยว่าขณะนี้ใจของเราเป็นอย่างไร ใครรู้ธรรม คนนั้นเห็นเรา ใครเห็นเรา คนนั้นเห็นธรรม ที่พระพุทธองค์ประกาศ 'พุทธะ' ก็คือ 'ผู้รู้' รู้ใจ ผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบานอยู่ตลอดเวลา

ให้เราแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ทำได้บ้างไม่ได้บ้างก็อย่าไปทิ้ง หมั่นฝักใฝ่ในการทำบุญ ในการให้ทาน ใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ ใจของเรามีความอ่อนโยน มีความกตัญญูกตเวทีหรือเปล่า หรือว่ามีตั้งแต่ความทะเยอทะยานอยาก ความโลภ ความโกรธเข้าครอบงำ เราก็ต้องพยายาม

ความหลงนี่สำคัญ กว่าจะคลายได้ยาก กว่าจะคลายได้ กว่าจะทำความเข้าใจได้ ชี้เหตุชี้ผลได้ มันก็ต้องใช้ความเพียรอย่างยิ่งยวด กายวิเวิกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร ตื่นขึ้นมารีบรู้กายของเรา รู้ใจของเรา จะลุก จะก้าว จะเดิน ทำโน่นทำนี่ แยกรูปรสกลิ่นเสียง ออกจากใจของตัวเรา ผ่านหู ตา จมูก ลิ้น กายเป็นทางผ่าน ทุกเรื่องเป็นการฝึกฝนตนเอง เป็นการแก้ไขตัวเรา

สมมติ โลกธรรมต่างๆ ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรยังขาดตกบกพร่อง เราก็พยายามขยันหมั่นเพียร ทำให้มีให้เกิดขึ้น ซึ่งกายของเราก็ยังอาศัยปัจจัยสี่ อาศัยรูป รส กลิ่น เสียง อาศัยสังคม อาศัยสมมติ อาศัยกับโลกธรรมอยู่ ถ้าสมมติของเราขาดตกบกพร่องก็ลำบาก ที่พักของเรามีพอได้อยู่ได้อาศัยหรือไม่ ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน ที่ถ่ายที่เยี่ยว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่เกี่ยวเนื่องกันหมด ไม่ใช่ว่าจะเอาตั้งแต่ใจอย่างเดียว เราก็ต้องพยายามพัฒนาให้รอบ รอบทั้งภายนอก รอบทั้งภายใน ภายนอกเราก็ทำสมมติของเราไม่ได้ลำบาก การปฏิบัติใจของเราก็จะไปได้ง่ายขึ้น

ตื่นขึ้นมาเราก็รีบแก้ไขเรา ทำปัจจุบันให้ดี ท่านถึงเรียกว่า ‘ปัจจุบัน’ ปัจจุบันในทางธรรมกับปัจจุบันในทางโลก มันไม่เหมือนกัน ปัจจุบันในทางธรรม คือทุกขณะลมหายใจเข้าออก ทุกขณะจิต ทำอย่างไรจึงจะเป็นทุกขณะได้ เราก็ต้องเจริญสติจนใจคลายออกจากขันธ์ห้า ตามดูชี้เหตุชี้ผล จนกำลังสติของเราเป็นมหาสติ จากมหาสติตามดูจนกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญาก็กลายเป็นปัญญา

รอบรู้ รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้วิญญาณในกายของเรา รอบรู้ในโลกธรรม รอบรู้ในดวงใจของตัวเอง ว่าอะไรควรละอะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ไม่ใช่ไปปล่อยวันเวลาทิ้ง คนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ มีแต่เรื่องของคนอื่นแทนที่จะแก้ไขเรื่องของตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา เพียงแค่กายก็ยังควบคุมไม่ได้ วาจาก็ยังควบคุมไม่ได้ ไอ้เรื่องที่จะไปควบคุมใจมันก็ยิ่งยากเข้าไปอีก ก็ต้องพยายามนะ พยายาม ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี

อีกสักหน่อยก็ต้องได้พลัดพรากจากกันหมดนั่นแหละ ไม่พลัดพรากจากการตอนเป็น ก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย ก็เป็นกฎของไตรลักษณ์ กฎของความเป็นจริง คนโน้นก็ไปจาก คนนี้ก็ไปจากพ่อแม่พี่น้อง พ่อก็ไป แม่ก็ไป พี่ป้าน้าอาก็ไปจาก อีกสักหน่อยก็จะถึงวาระเวลาของเรา แม้ตั้งแต่องค์หลวงพ่อเองก็ต้องจะได้ไปเหมือนกัน ความตายไม่ได้เลือกกาลเลือกเวลา สภาพร่างกายทุกวันนี้ก็เสื่อม เสื่อมมาหลายปีแล้ว เสื่อมลง

ในหลักธรรมท่านบอกว่า ‘เสื่อมตั้งแต่เกิด’ ความเกิด ความเสื่อม ความไม่เที่ยง ร่างกายก็ไม่เที่ยง แต่ที่เรามองเห็นว่าเป็นของเที่ยง..ไม่ใช่!! พระพุทธองค์มองเห็นเป็นของไม่เที่ยง มีตั้งแต่ความว่างเปล่า มีตั้งแต่ประชุมเรื่องธาตุ ดิน น้ำลม ไฟ มารวมกันเข้า แล้วก็มีวิญญาณเข้ามาครอบครอง ท่านถึงบอกให้เจริญสติเข้าไปจำแนกแจกแจงให้เห็นเป็นกองเป็นขันธ์ กองรูป กองนาม กองวิญญาณ

กองวิญญาณในกายของเรา กองสังขารที่ว่าไม่เที่ยง ท่านมองเห็นเป็นอนัตตา แต่พวกเรามองเห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไปยึดก็เลยยึด ก็เลยยึด..ยึดเอาแล้วก็ยังไม่พอ ทั้งยึดทั้งเกิดทั้งหลง ถึงจะหลงก็ขอให้หลงอยู่ในบุญในกุศลเอาไว้ ถ้าสูงขึ้นไปก็ ละหมดนั่นแหละ ละทั้งบุญละทั้งบาป ละทั้งความอยากความหวัง บริหารด้วยสติด้วยปัญญา แก้ไขด้วยสติด้วยปัญญา ขณะที่เรายังมีกำลัง ยังมีลมหายใจอยู่ ให้รีบ..รีบตักตวงสร้างบุญ สร้างกุศลให้มีเหตุเกิดขึ้น ในกายก้อนนี้บุญสมมติก็ทำให้เต็มที่ บุญวิมุตติ การขัดเกลากิเลสเราก็พยายามทำ

แต่ละวันๆ ตื่นขึ้นมา ใจเกิดความอยากสักกี่เที่ยว ใจส่งออกไปภายนอกสักกี่เรื่อง ขันธ์ห้าซึ่งเป็นนามธรรมเกิดขึ้นมาใจของเราเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร ถ้าสังเกตทัน เขาก็จะแยกของเขาเอง ถ้าแยกได้ ถ้าไม่ตามทำความเข้าใจเขาก็จะรวมเข้ากันอีก ถ้าเราตามทำความเข้าใจให้ได้ทุกเรื่องจะสนุก มีความสุข ว่ากิเลสตัวไหนมันจะเล่นงานเรา เราจะพลั้งเผลอให้กิเลสไหม เราละกิเลสได้สักกี่เที่ยว มันก็จะค่อยเหือดแห้งไป เหือดแห้งไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยตกกระแสธรรมใจของเราก็จะเบาบางจากกิเลสไปเรื่อยๆ เรารู้ความจริง ทุกคนก็มีกิเลสกันหมดนั่นแหละ จะมีมากมีน้อย เราก็พยายามขัดเกลา

อย่าไปว่าคนอื่น ว่าตัวเรา แก้ไขตัวเรา เพ่งโทษตัวเรา พิจารณาตัวเรา ทำอย่างไรเราถึงจะทำใจให้สะอาดให้บริสุทธิ์ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างบุญสร้างกุศล ให้กับตัวเราแล้วก็ล้นออกไปสู่หมู่ สู่คณะ สู่พี่สู่น้องให้ได้มีความสุขกัน ก็ต้องพยายามกันนะ พยายามกัน

อย่าพากันผัดวันประกันพรุ่ง เป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ทำหน้าที่ของเราให้มันจบ ให้มันจบขณะที่เรายังมีกำลังอยู่นี่แหละ อย่าไปปิดกั้นตัวเราว่าไม่มีโอกาส ว่าไม่มีเวลา หลวงพ่อก็จะพาทำ พาทำจนกว่าจะหมดลมหายใจนั่นแหละ

เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกับชีวิตของเรา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง