หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 26 วันที่ 27 เมษายน 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 26 วันที่ 27 เมษายน 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 26 วันที่ 27 เมษายน 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 26
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 27 เมษายน 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา ให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาพวกเราได้สร้างความรู้ตัวหรือว่าเจริญสติแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ นั่งให้สบาย วางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบายหยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราจะหยุดไม่ได้เด็ดขาด การวางภาระหน้าที่ทางสมมติทางโลกเราก็วางมาได้ระยะหนึ่ง ถึงได้เข้ามาถึงในวัด

ทีนี้เราก็มาดับความเกิด ดับความคิด ด้วยการสร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บเราก็รู้ว่าลมหายใจเข้าเป็นอย่างนี้ ลมหายใจออกเป็นอย่างนี้ ลมหายใจหยาบเป็นอย่างนี้ ลมหายใจละเอียดเป็นอย่างนี้ พลั้งเผลอเริ่มใหม่ๆ ฝึกให้เกิดความเคยชิน แล้วก็รู้จักเอาสติที่เราฝึกนี้แหละไปใช้ไปอบรมใจของเรา

การเกิดของใจ ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง คำว่า ‘หลง’ ในที่นี้เขาหลงอะไร เขาหลงขันธ์ห้าหลงความคิดด้วยกัน ในกายของเรานี้มีจิตวิญญาณซึ่งเป็นส่วนนามธรรม แล้วก็มีรูปกายร่างกายก็เป็นส่วนรูป ส่วนนามธรรมนี้ยังจำแนกแจกแจงออกไปอีกเป็นตั้งสี่กอง กองวิญญาณหรือว่าตัวใจของเรา กองอาการของขันธ์ห้าอีก เขาหลงเขารวมกัน คิดก็รู้ ทำก็รู้ แต่หารู้ไม่ว่าในความคิดนั่นแหละ เขารวมกันสรรพเสร็จเรียบร้อย ความหลงเราก็เลยรู้เพียงแค่ว่าเราคิด แล้วก็ทำตามความคิด ไปด้วยความหลงแต่เราก็ไม่รู้ว่าเราหลง

นอกจากบุคคลที่มาเจริญสติให้ต่อเนื่อง เอาสติปัญญาไปวิเคราะห์ไปสังเกตจนใจคลายออกจากขันธ์ห้า หรือว่าแยกรูปแยกงามได้ อันนี้เพียงแค่เริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก เพียงแค่เริ่มต้น จำแนกแจกแจงได้ แล้วก็ตามดูรู้เห็น เราก็จะเข้าใจคำว่า ‘อัตตา’ เป็นอย่างนี้นะ‘อนัตตา’ เป็นอย่างนี้ ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ ในกายของเราเป็นอย่างนี้ ‘วิญญาณในกาย’ ของเราเป็นอย่างนี้ เห็นให้ชัดเจน รู้ให้ชัดเจน แล้วก็ตามทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล ไม่ใช่ว่าไปนึกเอาไปคิดเอาว่าจะเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ อันนี้ต้องเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ มีการทำความเข้าใจ มีการขัดเกลากิเลสเป็นเลิศ

ไม่ใช่เอาปฏิบัติเจริญสติเอาเรื่องสติปัญญาไปใช้ แต่การละกิเลสไม่มี การละความเกียจคร้านไม่มี การละนิวรณ์ไม่มี คำว่า ‘นิวรณธรรม’ มีอะไรบ้าง ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ความกังวลความฟุ้งซ่านต่างๆ มลทินต่างๆ การขัดเกลากิเลสไม่มี มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราต้องรู้จักวิธีการเจริญสติเพื่อที่จะชี้เหตุชี้ผล ตามทำความเข้าใจแล้วก็ละกิเลส ละกิเลสหยาบ ละกิเลสละเอียด ทั้งงานสมมติภายนอกเราก็สร้างความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ มีความเกรงกลัวต่อบาป มีความละอาย มีความกล้าหาญ มีความเด็ดขาดกับใจของเรา ก็ต้องพยายามกันนะ

ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี ทุกคนก็มีโอกาสที่จะเดินถึงจุดหมายปลายทางกันทั้งนั้น อย่าไปปิดกั้นตัวเราว่าไม่มีโอกาส ว่าไม่มีเวลา ทุกคนตราบใดที่มีลมหายใจก็ยังมีเวลาที่จะต้องศึกษาค้นคว้าทำความเข้าใจกับชีวิตของตัวเรา งานสมมติเราก็ค่อยแก้ไข เราขาดตกบกพร่องอะไร เพียงแค่ระดับสมมติเราก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดี เรามีความขยัน เรามีความรับผิดชอบ เรามีความเสียสละต่อส่วนตัว ต่อส่วนรวม ต่อสังคมหรือไม่

เราต้องทำความเข้าใจให้รอบทั้งโลกทั้งธรรม อะไรคือธรรมอะไรคือโลก อะไรคือโลกอะไรคือธรรม อะไรคืออัตตา อะไรคืออนัตตา อะไรคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไรคืออริยสัจสี่ ใจส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างนี้ ไปรวมกับความคิด ไปรวมกับขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ใจเป็นทาสกิเลสเป็นอย่างนี้

ถ้าเราหมั่นขัดเกลากิเลสเอาออกจากใจของเรา เราไม่อยากจะได้ความบริสุทธิ์ เราก็ได้ ถ้าใจไม่เกิดกิเลส ถ้าใจไม่เกิด เราไม่อยากจะได้ความนิ่ง เราก็ได้ความนิ่ง ถ้าใจไม่มีอะไร ใจเขาก็บริสุทธิ์ ใจเขาก็ว่าง ตอนนี้ใจของเรายังไม่ว่างหรอก เพราะว่าทั้งเป็นทาสกิเลส ทั้งกิเลสหยาบกิเลสละเอียด ทั้งขันธ์ห้า ทั้งการเกิดของใจ ปิดกั้นตัวเขาเอาไว้หมด

กิเลสมารต่างๆ ไม่ใช่ว่าเขาจะยอมแพ้ง่ายๆ เขาก็ต่อสู้กันมา เขาก็ต้องมีเหตุมีผล ชี้เหตุชี้ผล เขาถึงจะยอมรับความเป็นจริงได้ ใจเราถึงจะยอมรับความเป็นจริงได้ ถ้าเราไม่รู้จักจุดปล่อยจุดวางเราก็วางไม่ได้ นี่ก็ต้องพยายามกันไป พลั้งเผลอเริ่มใหม่ เริ่มต้นบ่อยๆ วันนี้ผิดพลาด นาทีนี้ผิดพลาดแก้ไขใหม่ จนรู้ตัวทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออก จนเป็นอัตโนมัติในการดูในการรู้

อย่าไปทิ้งบุญ บุญมากบุญน้อยเราก็พยายามทำ เห็นคนอื่นทำเราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วยเราก็มีส่วนแห่งบุญ คนเรานี้ถ้าหมดลมหายใจก็มีแต่เรื่องบุญกับเรื่องบาปเท่านั้นนะ ขณะที่เรายังมีกำลัง ยังมีลมหายใจ เราพยายามทำความเข้าใจให้กระจ่าง แล้วก็สูงขึ้นไปก็ละหมดนั่นแหละ สร้างบุญไม่ยึดติดในบุญ อยู่เหนือบุญเหนือบาป อะไรที่จะเป็นประโยชน์เราก็ทำประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า

เราพยายามทำอยู่ปัจจุบันให้ดี อย่าไปเห็นแก่ตัว อย่าไปเห็นแก่ความเกียจคร้าน อย่าไปเห็นแก่กิเลส อย่าไปเห็นแก่เราจะเสียเปรียบกิเลสคนโน้นคนนี้ การสร้างคุณงามความดีเราสร้างได้ตลอดเวลา ตั้งแต่การคิด คิดดีก็เป็นบุญ ทำดีก็เป็นบุญ

กายเราก็รู้จักรักษา ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนโน้นคนนี้ วาจาของเราก็ไม่ได้ไปพูดส่อเสียด พูดว่าคนโน้นคนนี้อคติคน ในใจของเราก็ไม่อคติคนนู้นคนนี้

คนทั่วไปกายก็ยังไม่รู้จักรักษา วาจาก็ยังไม่รู้จักรักษา ใจก็ยิ่งยากเข้าไปอีก เราต้องพยายามรักษาทั้งกายทั้งวาจาและรักษาทั้งใจ จนใจจนสติ ปัญญา สมาธิ เขารักษาเรา ใหม่ๆ เราต้องศึกษาค้นคว้า ชี้เหตุชี้ผล จนทุกสิ่งทุกอย่างเขารักษาเรา ต่อไปข้างหน้าสติ ปัญญา สมาธิ เขาก็จะรักษาเรา บุญก็จะรักษาเรา

ส่วนเรื่องของกายนั้นก็เป็นเรื่องของก้อนกรรม ถึงเวลาเขาต้องแตกดับ ถ้าไม่ถึงวาระเวลาเราก็ดูแลรักษาเขาไป ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ ท่านถึงบอกว่าพยายามสร้างบุญสร้างกุศลในกายก้อนนี้ให้เต็มที่ขณะที่ยังมีกำลัง ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ บุญสมมติเราก็ทำหน้าที่ให้ดี อย่าไปเกียจคร้าน อย่าไปงอมืองอเท้า ยิ่งคนอยู่วัดก็ต้องเป็นคนขยันหมั่นเพียร เป็นคนเกียจคร้านไปอยู่ที่ไหนก็หนักตัวเอง หนักคนอื่น หนักสถานที่ เราก็ต้องแก้ไขตัวเราเสีย มันไม่สายเกินแก้

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง