หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 55 วันที่ 27 มิถุนายน 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 55 วันที่ 27 มิถุนายน 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 55 วันที่ 27 มิถุนายน 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี2563 ลำดับที่ 55
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 27 มิถุนายน 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกันกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือฟังไปด้วยน้อมสำเนียงไปด้วย

ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ การสูดลมหายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจยาวๆสักสองสามเที่ยว กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรามันก็จะชัดเจน

เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าหายใจออก พวกเราก็พยายามหมั่นสังเกตให้เกิดความเคยชิน ให้เกิดความชำนาญตั้งแต่ตื่นขึ้น ความรู้ตัวหายใจเข้า มีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออก มีความรู้สึกรับรู้อยู่ นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า ‘สติรู้กาย’

ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องก็เรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม จากหนึ่งครั้ง สองครั้ง หายใจเข้าหายใจออก ต่อเนื่องกันเป็นนาที สองนาที สามนาที จนเป็นห้านาที สิบนาที จนความรู้ตัวต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ อันนี้เขาเรียกว่า‘รู้กาย’

ลึกลงไปอีก การเกิดการดับของใจนั้นมีอยู่เดิม หรือว่าความคิดของเรานั่นแหละ ความคิดของเราที่ปรุงแต่ง ส่งออกไปภายนอก และก็ความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิด ภาษาธรรมะท่านเรียกว่า ‘อาการของขันธ์ห้า’ ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ตัววิญญาณหรือว่าตัวใจของเราเข้าไปรวมได้อย่างไร เราจะรู้ด้วยการเจริญสติ รู้เท่ารู้ทัน รู้ลักษณะอาการที่เขาเกิด จนรู้ทันตั้งแต่ต้นเหตุ ว่าเขาเข้าไปรวมกันได้อย่างไร อันนี้ต้องเป็นบุคคลที่ความรู้เจริญสติต้องต่อเนื่อง ต่อเนื่องกันจริงๆถึงจะรู้ทันตรงนี้ ส่วนมากก็มีตั้งแต่เป็นนึกเอาไปคิดเอา

ส่วนการทำบุญให้ทานบารมีส่วนอื่น อันนั้นทุกคนก็มีอยู่ มีอยู่มาตั้งแต่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย บางคนก็สร้างมาเต็มเปี่ยมบางคนก็มีน้อย บางคนก็มีมาก เราก็มาทำมาสร้างเอา มาทำความเข้าใจกับชีวิตของเรา เพียงแค่ระดับของสมมติ เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความรับผิดชอบแต่ละวันๆ ใจของเรามีพรหมวิหาร มีความเมตตา มีความขยันหมั่นเพียรด้วยเหตุด้วยผลด้วยสติด้วยปัญญา มีความกล้าหาญ ใจเกิดกิเลสความโลภความโกรธ ความทะเยอทะยานอยาก เรารู้จักละ รู้จักควบคุม รู้จักชี้เหตุชี้ผลเขาได้หรือไม่ เราก็ต้องพยายาม อย่าพากันผัดวันประกันพรุ่ง

เป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องศึกษาชีวิตของตัวเราเอง ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของคนอื่น แต่ละวันอะไรเราขาดตกบกพร่องสมมติของเราอะไรไม่พร้อม เราก็พยายามทำให้มี ไม่ทำด้วยอำนาจของความอยากของกิเลส เราทำด้วยเหตุด้วยผล(กายของเราไม่มี) กายของเราเป็นอย่างนี้ กายทำหน้าที่อย่างนี้ วิญญาณในกายทำหน้าที่อย่างนี้ โลกธรรมที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสต่างๆ ภาระหน้าที่การงานต่างๆ เรายังชีวิตของเราให้อยู่ดีมีความสุข ไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนคนอื่น

ใจของเราอยู่ในสมาธิที่ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลสได้ยาวนานไหม ใจที่คลายจากความคิด คลายจากขันธ์ห้าได้อย่างไร อะไรคือรูป อะไรคือนาม ที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์เป็นลักษณะอย่างไร เราพยายามหัดสังเกต หัดวิเคราะห์แล้วก็อบรมใจของเราบ่อยๆ เราก็จะเข้าใจในชีวิตของเรา สักวันหนึ่งจนได้ ไม่เข้าใจในวันนี้ ก็วันพรุ่งนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า ไม่เข้าใจจริง ๆ จะไปต่อเอาภพหน้า เพราะว่าตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่

ความเกิดนั่นแหละคือความหลงอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด ในเมื่อเขาเกิดมาแล้ว ท่านถึงให้เจริญสติเข้าไปวิเคราะห์พิจารณา จำแนกแจกแจงชี้เหตุชี้ผล จนมองเห็นความเป็นจริงท่านถึงบอกให้เชื่อ ก็ต้องพยายามเอา

แต่ละวันๆ ยิ่งอยู่ด้วยกันหลายคนหลายท่านทั้งพระทั้งชี อยู่ใกล้ อยู่ไกล เรามีโอกาสได้สร้างบุญร่วมกัน มีวาสนาร่วมกัน ถึงได้มาอยู่ร่วมกัน ในขณะที่ยังอยู่ร่วมกัน เราก็ต้องรู้จักรับผิดชอบในสิ่งต่างๆ ที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวในภาพรวมความเป็นอยู่ที่พักที่อาศัยที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน สิ่งพวกนี้ก็เกี่ยวเนื่องกับกายของเราหมด เราก็ต้องทำความเข้าใจแล้วก็ขยันหมั่นเพียร เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา รู้จักพิจารณา อันนี้โลก อันนี้ธรรม อันนี้สมมติวิมุตติเราไปห้ามคนอื่นเขาพูดไม่ได้เขาคิดไม่ได้ อันนั้นเป็นเรื่องของเขา เรามาจัดการเรื่องของเรา

เรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ เรามีความรับผิดชอบเพียงพอหรือเปล่า เรามีการฝักใฝ่สนใจหรือไม่ ในภาระหน้าที่การงานของเรา ถ้าต่างคนต่างงอมืองอเท้า เอาแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ มันก็หนัก.. หนักตัวเองหนักคนอื่น หนักสถานที่ เราต้องพยายาม มีอะไรเราก็ช่วยกัน เล็กๆ น้อยๆ จากน้อยๆ มันก็มากขึ้น จากความไม่สะดวกก็สะดวกสบายขึ้น จากความไม่มี เราก็พยายามทำให้มีให้เกิดขึ้น เพื่อยังประโยชน์ขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่

ส่วนการขัดเกลากิเลส กิเลสเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราอย่ารู้ตั้งแต่ชื่อเขา เราต้องรู้ หน้าตาอาการ การเกิดการดับ การสังเกตการวิเคราะห์ ให้รู้ด้วยเห็นด้วย เข้าถึงด้วย ชี้เหตุชี้ผลให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น อะไรคือสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา แต่เวลานี้กำลังสติของเราอาจจะมีน้อย มีไม่เพียงพอที่จะไปอบรมใจของเราได้ ส่วนมากก็มีตั้งแต่ใจ กับอาการขันธ์ห้าที่มาปรุงแต่ง อาจจะถูกอยู่ระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วยังแยกยังคลายไม่ได้ ก็ยังไม่ใช่ปัญญาที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นปัญญาที่ถูกระดับของสมมติ อะไรมันเป็นอกุศลอะไรเป็นกุศล ก็ต้องพยายามนะ ไม่ว่าพระว่าญาติว่าโยมว่าชี

แต่ละวัน แต่ละเดือนผ่านไปเร็วไว อีกสักหน่อยก็ต้องได้พลัดพรากจากกันหมด เพราะไม่ได้พลัดพรากจากกันตอนเป็นก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย อะไรที่จะเป็นบุญเป็นกุศลให้เรารีบทำ หมดลมหายใจก็มีแต่เรื่องบุญก็เรื่องบาป ก็ต้องพยายามกัน

สร้างความรู้สึกรับรู้ การหายใจเข้าออกให้เชื่อมโยง ให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็ให้รู้ว่าขณะนี้ลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ

เอา พากันไว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง