หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 9 วันที่ 1 มีนาคม 2563 (2/2)

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 9 วันที่ 1 มีนาคม 2563 (2/2)
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 9 วันที่ 1 มีนาคม 2563 (2/2)
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ พระธรรมเทศนา ปี 2563 ลำดับที่ 9
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 1 มีนาคม 2563 (2/2)

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของตัวเราเองให้ชัดเจน สร้างความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันสักนิดนึงก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้สร้าง ดีกว่าไม่ได้ทำ

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราอาจจะรู้ตัวอยู่เป็นบางครั้ง แล้วก็ลึกลงไปก็จะได้รู้ใจ ถ้าเราเจริญสติให้ต่อเนื่อง ถ้าความรู้ตัวได้ต่อเนื่อง จาก 1 ครั้ง 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง เป็นนาที 2 นาที เป็น 5 นาที 10 นาทีเราก็จะรู้ว่าสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันเราไม่ได้สร้างเลยที่ผ่านมา ปล่อยเลยตามเลย เพียงแค่เราสร้างขึ้นมาแล้วรู้จักเอาสติของเราไปใช้ การเกิดของใจ การเกิดของขันธ์ห้านี้มีอยู่ตลอด มีอยู่เดิมเพราะว่าความเกิดนี่คือความหลงอันละเอียด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เขาเกิดอยู่ในกายของเรา มาสร้างภพมนุษย์ แล้วใจของเราก็ยังคิดต่อ นั่นแหละคือความเกิด ความไม่เที่ยง

ทางส่วนนามธรรม ขันธ์ห้าเข้ามาปรุงแต่งใจรวมกัน หมุนกันเป็นวงกลมไป นั่นแหละคือไปตามกรรม เราไม่รู้เรื่องกรรมตรงนี้ ถ้าเรามาสังเกตมาวิเคราะห์ ใจของเราคลายออกจากตรงนี้ หงายขึ้นมา เราก็จะเห็นคำว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เกิดๆ ดับๆ ที่ภาษาธรรมะท่านเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ความเกิด ความดับ ความสืบต่อของขันธ์ห้ากับใจรวมกัน

อันนี้หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด แล้วก็หลงมาเกิด มาสร้างขันธ์ห้า นี่ก็อีกชั้นหนึ่งแล้ว มาแยกแยะขันธ์ห้าได้ ถ้าเราตามดูได้ เป็นเรื่องอะไรอีก เรื่องอดีตเรื่องอนาคต เขาเรียกว่า “กองสังขาร กองวิญญาณ กองรูปกองนาม” บางทีก็เป็นกลางๆ บางทีก็เป็นกุศล หรือว่าอกุศล

เราขาดการสังเกตการวิเคราะห์ เพราะว่ากำลังสติของเรามีไม่เพียงพอ ก็เลยรู้ไม่ทัน เพียงแค่เจริญสติให้ต่อเนื่องให้ได้ ตรงนี้เราก็ทำไม่ค่อยจะต่อเนื่อง เราก็เลยเข้าไม่ถึง ไม่เห็นตรงนี้ ก็เลยไปตามวิบากกรรม ถ้าบุคคลใดมาเห็นตรงนี้ ก็เรียกว่า “เห็นธรรม” เห็นธรรม แล้วก็ตามทำความเข้าใจ เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ว่าอัตตาเป็นอย่างนี้อนัตตาเป็นอย่างนี้ เข้าใจในการขัดเกลากิเลส รู้จักจุดปล่อยจุดวาง ไม่เหลือวิสัยหรอก พยายามดำเนิน พยายามทำเถอะ

ฐานบุญบารมีส่วนอื่นนั้นทุกคนก็ฝักใฝ่กันดีอยู่ ฝักใฝ่ในการทำบุญ ในการให้อโหสิกรรม ในการให้อภัยทาน เราปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ภพก่อน แล้วก็มาต่อเอาภพนี้ให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน

ผิดพลาดแก้ไขใหม่ๆ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ เราอย่าไปคิดเออเองเอาเอง เราต้องดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์ ถ้าเราเจริญสติจนใจคลายออกตามดูรู้เห็นความเป็นจริงเราก็จะได้มองเห็นกิเลส ตัวไหนของเราเบาบางบ้าง ตัวไหนเกิดเราก็จะละได้ ละออกไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าสู่ในหลักธรรมที่ท่านว่า “วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาภูมิ” การแยกรูปแยกนาม การทำความเข้าใจ มีใจน้อมเข้ามาในพระรัตนตรัย คือมีความเชื่อมั่นเชื่อบุญเชื่อบาป ถ้ามาเห็นตรงนี้ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลก็มีอยู่ในกายในใจของเรา

ทีนี้เราก็ทำความเข้าใจขัดเกลากิเลสหยาบๆ ออก ความโลภความโกรธของเราเบาบางลงไป ก็เข้าสู่สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล จิตใจเราเบาบางจากกามในรูป รสกลิ่นเสียงต่างๆ ก็จะเข้าสู่อนาคามิมรรค อนาคามิผล จิตใจของเราข้ามพ้น แยกรูปแยกนาม รู้จักพิจารณาคลายออกจิตใจของเราก็จะเข้าสู่... กระโดดเข้าสู่ความว่างความบริสุทธิ์นั่นแหละ เข้าสู่เขตอริยะ ห่างไกลจากกิเลส

เราก็พยายามขัดเกลา ชี้เหตุชี้ผลจนใจของเรามองเห็นความเป็นจริง มันไม่เหลือวิสัยหรอก บางครั้งบางคราวจิตใจของเราก็โล่งอยู่ว่างอยู่ ช่วงที่เขาไม่มีกิเลส ช่วงที่เขาไม่เกิด แต่เราไม่รู้จักทรง ไม่รู้จักรักษา รู้จักชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผลที่ต่อเนื่อง ก็เลยได้สร้างบุญสร้างอานิสงส์สร้างบารมีกัน สักวันหนึ่งเดี๋ยวก็เต็ม

อย่าไปทิ้ง แม้แต่การทำบุญให้ทานซึ่งท่านวางเอาไว้เป็นรากฐานขั้นเบื้องต้น เลยทีเดียว ถ้าไม่มีการให้ทาน ใจของเราก็ไม่เบาบางจากกิเลส ถ้าไม่มีการขัดเกลา ละความโลภความโกรธ จิตใจของเราก็จะไม่เบาบางจากความโกรธ เราก็พยายามทำในสิ่งตรงกันข้าม

ใจเดิมแท้ของทุกคนนั้นสะอาดบริสุทธิ์ เพราะความไม่รู้เขาถึงเกิดเขาถึงหลง ถ้าเราเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผลจริงๆ เขาก็ยอมรับความเป็นจริง เขาก็ไม่เกิด เขาก็ไม่เป็นทาสของกิเลส แม้แต่ความเกิด หนุนกำลังสติปัญญาไปเกิดแทน ถ้ากำลังสติปัญญาของเราเป็นอกุศล เราก็รู้จักดับรู้จักละ ไม่ให้เกิดอีก วางใจให้เป็นธรรมชาติ วางกายให้เป็นธรรมชาติ

การพูดง่าย การนั่นง่ายถ้าเราเข้าถึง ถ้ายังเข้าไม่ถึงนี่จะเป็นการฝืนการทวนกระแสกิเลสอย่างยิ่งเลยทีเดียว ฝืนจนชี้เหตุชี้ผลได้ จนใจยอมรับความเป็นจริงได้ เขาถึงจะปล่อยจะวาง ก็ต้องพยายามกันนะ

อย่าพากันทิ้งบุญ แม้แต่การเจริญสติเราก็พยายามอย่าทิ้ง ตื่นขึ้นมาก็ดูตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่สติเราตั้งมั่นไหม มีนิวรณ์ไหม มีความเกียจคร้านไหม มีมลทินไหม เราสำรวจดู เอาเรื่องของเราให้จบ เรื่องของเขาก็ส่วนของเขา เอาเรื่องของเราให้จบ กายของเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสมมติ ก็เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ มองโลกในทางที่ดี เราก็จะมีตั้งแต่ความสุข

ใจของเราว่างโลกนี้ก็ว่าง แต่เวลานี้ใจของเราไม่ว่าง ไม่ว่างจากขันธ์ห้า ไม่ว่างจากกิเลส บางครั้งเขาก็สงบ ก็เพียงแค่สงบเหมือนกับหินทับหญ้า เราต้องว่างด้วยปัญญา รู้ด้วยปัญญาขัดเกลาออกด้วยปัญญา ยืนเดินนั่งนอนก็ให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ ได้เล็กได้น้อยเราก็ค่อยๆสร้างสะสม ค่อยวิเคราะห์ไป สิ่งพวกนี้แหละจะติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติไป ตราบใดที่ใจยังดับความเกิดไม่ได้

สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องกันสักนิดนึงก็ยังดี ทำใจให้โล่งสมองให้โปร่ง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างศึกษาทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง