หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 123

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 123
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 123
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 123
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 10 ตุลาคม 2556

พากันดูดีๆ นะ พระเราชีเรา พิจารณาปฏิสังขาโยกันทุกเรื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ พอตื่นขึ้นมารู้ตัวปุ๊บสติตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจ หรือรู้ความปกติ จะลุก จะก้าว จะเดิน จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำ มีสติรู้ มีใจปกติ สติพาดำเนินทุกเรื่อง ยิ่งเวลาขบเวลาฉัน ดูใจของเราเกิดความอยาก หรือว่าเกิดความยินดี หรือว่าเกิดความต้องการสิ่งโน้นนสิ่งนี้ เราก็พยายามหยุด พยายามดับ ดับความอยากเล็กๆ น้อยๆ นั่นแหละ จะไปเอาเฉพาะเวลาฝึกหัดปฏิบัติอันนั้นไม่ทันกาล ต้องทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก ว่าในกายในใจของเรานี่เป็นอย่างไรบ้าง อะไรคือสติปัญญา อะไรคือตัวใจ ลึกลงไปอะไรคืออาการของใจอีก

ถ้าเราไม่เอาด้วยความอยาก เราจะเอาได้หรือไม่ กะประมาณในการขบฉันของตัวเราเอง มองซ้ายมองขวา มองบนมองล่าง อาหารแต่ละชิ้นแต่ละส่วน ถ้าเราเอามากก็ มันล้นเหลือเอาไปทิ้งเฉยๆ ถ้าเราเอากะประมาณในการขบฉัน คนข้างหลังเขาก็จะได้ทานด้วย จนกระทั่งล้นลงไป ถ้าเราไม่ฝึกหัดตัวเราตั้งแต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จะไปเวลา ไปอบรมโน่นอบรมนี่ ไปจัดอบรมที่โน่นที่นี่ ไม่ทันการหรอก เราต้องอบรมตัวเราตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ความอยากแม้แต่นิดเดียวก็อย่าให้เกิดขึ้นที่ใจ ใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นการฝืน เป็นการทวนกระแส ถ้าเราเข้าใจแล้วไม่ฝืนสักอย่างเป็นธรรมชาติหมด

ใจที่ไม่มีกิเลส ใจที่ไม่เกิดเขาก็นิ่ง แต่เวลานี้เขาทั้งเกิดด้วย ทั้งเกิดความโลภ ความโกรธ ความยินดียินร้าย ทั้งเข้าไปรวมกับขันธ์ห้าด้วย เรายังไม่รู้เพราะว่ายังแยกไม่ได้ คลายไม่ได้ เรารู้อยู่ในภาพรวมว่าเป็นตัวของเรา แต่ก็ขอให้อยู่ในกองบุญ

มีโอกาสเราก็ร่วมกัน ได้ช่วยกัน อีกสักหน่อยปีหน้านี่ก็สวยงามไปหมด ดอกต้นกัลปพฤกษ์ก็จะออกดอก ต้นสาละก็ออกดอก ไม้ดอก ไม้หอม ไม้ประดับ มาร่วมกันมาช่วยกัน เรามีโอกาสได้ทำเป็นสะพานเป็นทางผ่าน พาพี่พาน้องทำบุญ บุญก็ที่ใจของเรานั่นแหละ ใจของเราไม่ทุกข์ไม่เครียด อะไรที่จะเป็นประโยชน์ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ก็เป็นการขัดเกลากิเลสออกจากใจของเราทั้งนั้น

ลึกลงไปก็ในกายของเราอีก ว่าการเกิดของใจของเราเป็นอย่างไร การเกิดของความคิดของเราเป็นอย่างไร การดับความเกิด การละกิเลส เราจะเอาวิธีไหนเข้าไปละ วิธีแนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบเอามาเปิดเผยให้ทุกคนได้เดิน ใจเกิดความโลภ ก็พยายามดับความโลภ แล้วก็ให้ เอาออก คลาย กิเลสมีต่างระดับ เราจะใช้วิธีการไหนที่จะเข้าไปแก้ไข ใช้ตบะอย่างไร เหมือนกับเราขึ้นบนบ้านก็ต้องอาศัยบันได ไต่ขึ้นบนบ้านอาศัยราวบันได อาศัยลูกบันได เขารวมกันเป็นสะพาน ถ้าดำเนินสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันก็ไปไม่ถึงจุดหมาย ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เหมือนกับต้นไม้ก็ต้องอาศัยเปลือก อาศัยกระพี้ เขาถึงยืนอยู่ได้

ในหลักธรรมกว่าจะเดินเข้าไปถึงจุดหมายคือพระนิพพาน ก็ต้องอาศัยตบะบารมี การละกิเลสมีหรือไม่ การสังเกต การวิเคราะห์ การเจริญสติ การทำความเข้าใจ การหมั่นพร่ำสอนใจตัวเรา ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกจนเป็นอัตโนมัติ ลักษณะของการเจริญสติ ลักษณะของการเอาสติปัญญาไปใช้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปคิด ไปอ่าน ตามอำนาจของกิเลสอย่างนั้น ยิ่งปิดปกปิดตัวของเราเอง แม้แต่ตัวใจก็ปกปิดตัวเอง มันก็หาสิ่งดีๆ มาหลอกมาล่อ มาปกปิดตัวเอง แล้วก็อาการของใจอีก ก็หาเหตุหาผลมาปกปิดตัวใจอีก กิเลสก็หาเหตุหาผลมาปกปิดตัวใจของเราอีก

ถ้าพูดตามหลักความเป็นจริงก็กายของเรานี่แหละเป็นก้อนกิเลส ขันธ์ห้าของเรานี่แหละเป็นตัวมารที่มาปิดกั้นเอาไว้ แถมตัวใจอีก มันยังเกิดหาเหตุหาผลอีก ท่านให้ละทั้งบาปทั้งบุญ สร้างบุญไม่ยึดติดในบุญ สร้างประโยชน์โดยไม่ยึดติดในประโยชน์ ให้อยู่เหนือทุกอย่าง อยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ ข้อวัตรปฏิบัติขัดเกลาต่างๆ ก็เพื่อที่จะละกิเลส ดับความเกิดของตัวใจ ตัววิญญาณ ส่วนมากมีตั้งแต่ส่งเสริม รวมกันไปทั้งวิญญาณ ทั้งอาการของวิญญาณ ทั้งสติปัญญารวมกันไปหมด หาเหตุหาผลไม่ได้เลย มันก็เป็นแค่เพียงอุปมาอุปไมย เหตุผลระดับของสมมติเท่านั้นเอง เพราะมันยังคลายไม่ได้ ถ้าคลายได้แล้ว ทำความเข้าใจได้ ชี้เหตุชี้ผลได้ ไม่เอาหรอกใจ การเกิด เพียงแค่การเกิดเป็นทุกข์เขาก็ไม่เอา ฝึกใหม่ๆ นี่ยิ่งสนุก เดี๋ยวก็เกิดไปที่โน่นเกิดไปที่นี่ วิ่งไปที่โน่นวิ่งไปที่นี่ ทุกเรื่อง แม้ตั่งแต่นิวรณธรรม สติของเราพลั้งเผลออย่างไร กายของเราต้องการพักผ่อนอย่างไร

แม้แต่ความอยาก อยากในอาหาร เพียงแค่ความอยาก อยากได้อาหารก็จัดการกับมันยาก อันโน้นก็อร่อยอันนี้ก็อร่อย เอาน้อยๆ ก็กลัวไม่อิ่ม เอาเยอะๆ กิเลสมันสั่ง แถมไม่เอาก็เห็นอันโน้นอันนี้ อันโน้นก็อร่อยอันนี้ก็อร่อย อันนั้นก็เยอะ เอาให้ตัวเองยังไม่พอ ยังเอาไปให้คนโน้นเอาไปให้คนนี้ กิเลสมันสั่ง เอาให้ นึกถึงลูกถึงหลาน ถึงคนโน้นคนนี้ สารพัดอย่าง ทั้งความอยากความไม่อยาก เราต้องจัดการให้มันหมดจนมันไม่เกิดนั่นแหละ จนมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา คนทั่วไปความอยากเกิดทุกวัน ความไม่อยากนี้ก็มีอยู่บ้าง หาความเป็นกลาง ความเป็นเอก ความเป็นหนึ่งนี่มันยากอยู่ มันมีอยู่แต่มันก็ยังคว่ำอยู่ เพราะยังไม่ได้แยก ยังไม่ได้หงาย ถ้าคนไม่เข้าใจก็ว่าหลวงพ่อไม่รู้ว่าพูดเรื่องอะไรไม่เห็นรู้เรื่อง ถ้าเรารู้เราเห็น เราถึงจะเข้าใจในสิ่งที่หลวงพ่อพูด

ตามทำความเข้าใจ เห็นการเกิดการดับ รอบรู้ในกองสังขารว่าเป็นกองอะไร กองอดีต กองอนาคต กองกุศลหรือว่ากองอกุศล ตัววิญญาณมันก็กระดุกกระดิกได้อย่างไร มันเริ่มปรุงแต่งได้อย่างไร ลองฝืนทุกอย่าง ลองดูสิจนคลายออกได้หมด ทีนี้เราจะละได้หมดจดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเพียร บุญภายในเราก็พยายาม อริยทรัพย์ภายในก็พยายามสร้างให้มันเต็ม คือความอิ่ม ไม่มีความอยาก ไม่มีความหิวโหย ไม่มีความไม่อยาก แต่เราก็ยังอยู่กับสมมติ เคารพสมมติ บริหารสมมติ ไม่ใช่ว่าฝึกหัดปฏิบัติแล้วทิ้งไปหมด อะไรทุกอย่างก็ลองทิ้งดูสิ ไม่ต้องใส่เสื้อผ้า ไม่ต้องกินข้าวกัน เราต้องทำความเข้าใจ อยู่ด้วยปัญญา บริหารด้วยปัญญา หลวงพ่อก็ได้เพียงแค่เล่าให้ฟังเท่านั้นแหละ หายใจแทนกันก็ไม่ได้ กิเลสก็ละให้กันก็ไม่ได้ ต้องละเอาของเรา ถ้าไม่ละก็สะสมเอา ถ้าอยากจะยังเกิดอยู่ก็ให้ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญ กองกุศล

หลวงพ่อก็พาทำ พาดำเนินอยู่ ถ้าอยากจะมาร่วมก็มา ใครมาทันก็ทัน ไม่ทันก็เสร็จก่อน ทำหมด ขอให้เป็นบุญ ขอให้เป็นประโยชน์ ระดับสมมติวิมุตติ การสร้างองค์พระพุทธรูปใหญ่ก็เหมือนกับสร้างพ่อของเรา เหมือนกับเรามีพ่อมีแม่ ระลึกนึกถึงพ่อถึงแม่ อยากจะดับทุกข์ได้ก็ปฏิบัติตามคำสอนของท่านอีก ก็เป็นบุญใหญ่มหาศาลอยู่ในระดับของสมมติ ใครไปใครมาก็ได้กราบไหว้สักการะบูชาในสิ่งที่เป็นสิริมงคล อะไรที่เป็นสิริมงคลก็เป็นบุญ อย่าไปผลักไส ตั้งแต่เริ่มคิด จิตดีก็เป็นบุญ ทำดีก็เป็นบุญ อีกสักหน่อยก็ตายจากกันหมดนั่นแหละ ภายในอาทิตย์เดียว จันทร์ถึงอาทิตย์ไม่รู้วันไหนเท่านั้นเอง ขณะยังมีลมหายใจอยู่ก็พยายามทำ แต่ละวันๆ นี่ก็คนเข้ามาขอโลงกันเยอะ ได้ตั้ง 131-132 แล้ว เผลอแป๊บเดียว

ตั้งใจรับพร

ขอญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ เพียงแค่สร้างความรู้ตัว แล้วก็ทำความเข้าใจลักษณะวิธีการสร้าง สร้างความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง เวลาลมหายใจเข้า เวลาลมหายใจเข้ากระทบปลายจมูกของเรา มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ถ้าความรู้สึกไม่เด่นชัด เราก็สูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ ให้ทั่วท้อง อย่าไปเพ่ง อย่าไปบังคับ

เราพยายามฝึกบ่อยๆ ถ้าไม่มีความชำนาญ ถ้าไม่มีความเคยชินเราก็เพิ่มความเพียรให้ต่อเนื่อง ให้ต่อเนื่อง อย่าไปกังวลกับสิ่งต่างๆ เราวางภาระหน้าที่การงานต่างๆ วางมา เราก็วางมาแล้ว ทีนี้เรามาจัดการกับตัวใจของเรา เรามาเจริญสติของเราให้ต่อเนื่อง เวลาจะฝึกปุ๊บ กิเลสมารต่างๆ อันโน้นก็มาแหย่ อันนั้นก็มาฉุด อันนี้ก็มารั้ง เราก็พยายามฝืน พยายามฝืนให้ผ่านอุปสรรคในสิ่งต่างๆ บางทีก็เสียงโน้นนบ้าง เสียงนี้บ้าง บางทีก็เหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาฉุดมารั้ง อย่าไปสนใจ สักแต่ว่า ถ้าเป็นเสียงก็สักแต่ว่าเสียง สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าฟัง

พยายามทำความเข้าใจบ่อยๆ ไม่ให้ใจของเราไปสนใจ ถ้าเรามีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา ใจก็จะกลับมาอยู่ที่ปลายจมูกของเรา ใจของเราไปใหม่ เราก็ตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจของเราเข้าออกใหม่ มันจะฉุดกันไปฉุดกันมา เพียงแค่การสร้างสติกับควบคุมใจนี่ก็ยังยากลำบากอยู่ ถ้ามีความเพียรไม่ต่อเนื่อง ทั้งที่ใจก็ปรารถนาอยากจะได้บุญ ปรารถนาอยากจะรู้ธรรม อยากจะเห็นธรรม

ความปรารถนา ความเกิดของใจ ความเกิดของขันธ์ห้านั่นแหละ เขาปิดกั้นตัวเขาเอาไว้หมดเลย ความอยากนั่นแหละ ความอยาก อยากจะรู้ธรรม อยากจะเห็นธรรม ถ้าเรามาสร้างความรู้ตัว มาเจริญสติ เข้าไปควบคุมใจของเรา เขาเรียกว่า ‘สมถะ’ สมถภาวนา กำลังสติมีมากขึ้นๆๆ กำลังจิตใจของเราก็จะสั้นลงๆๆ จนอยู่ในอำนาจของสติของเรา จนสติปัญญาของเรามันพร่ำสอนได้ อันนี้ชี้เหตุชี้ผล ไม่ให้ใจของเราเข้าไปหลงเข้าไปยึด ถ้าใจของเราคลายออกจากความคิดที่ผุดขึ้นมา ปรุงแต่งใจ นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นที่ถูก

เพียงแค่ความเห็นที่ถูก ตั้งแต่เริ่มแรกของปัญญาเท่านั้น ถ้าเราขาดการตามทำความเข้าใจ ใจของเราก็จะเข้าไปรวมเหมือนเดิม ขันธ์ห้าก็จะเข้ามารวมที่ใจของเราเหมือนเดิม ถ้าเราแยกแยะได้ เห็นได้ สติปัญญาตามดูทุกเรื่อง เราก็จะเข้าใจ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าของเรา เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ว่าท่านสอนเรื่องอัตตาเป็นอย่างนี้ อนัตตาเป็นอย่างนี้ สมมติเป็นอย่างนี้ วิมุตติเป็นอย่างนี้ ใจที่เกิดส่งออกไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างนี้ ใจที่หลงขันธ์ห้าเป็นลักษณะอย่างนี้ ใจที่มีกิเลสหยาบกิเลสละเอียดเป็นอย่างนี้ ท่านชี้เหตุชี้ผลไว้หมด

กำลังจะสติปัญญาของเราตามทำความเข้าใจให้มันรู้เรื่องทุกอย่าง หมั่นพร่ำสอนใจของเราได้ จนใจของเราอิสระจากการเกิด อิสระจากกิเลส ถ้าเขายังเกิด เราก็พยายามละ พยายามดับ ทำอยู่บ่อยๆ สักวันหนึ่งเราคงจะเดินถึงจุดหมายปลายทาง เมื่อรู้แล้ว เห็นแล้ว ถ้าเราขาดความเพียร ที่ต่อเนื่องอีก มันก็ยากที่จะถึงจุดหมายปลายทาง ก็ต้องพยายาม ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว ถ้าตราบใดที่เรายังเดินอยู่ อย่าไปมองข้ามในสิ่งที่พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบ อยู่ในกายของเรานี่แหละ ทำใจของเราให้เป็นพระ ใจของเราละกิเลสได้มากเท่าไร ใจของเราก็เป็นพระ พุทธะก็คือ ผู้รู้

ใจของเรารู้ รับรู้ แต่ไม่เป็นทาสของอารมณ์ ทาสของกิเลส เราพยายามทำความเข้าใจให้ได้กัน ไม่ได้ช้าก็ได้เร็ว ก็ต้องพยายามนะ ไม่หลุดพ้นในวันนี้ วันนี้ เดือนหน้า ปีหน้า ถ้าไม่หลุดพ้นจริงๆ ก็จะไปต่อเอาภพหน้า อย่าไปมองข้ามตัวเราเอง ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ อะไรที่ไม่ดี ก็รีบแก้ไขเสียขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ถ้าหมดลมหายใจก็หมดโอกาสทันที ต้องพยายามกัน

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องกัน พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปทำความเข้าใจต่อกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง