หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 9

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 9
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 9
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 9
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 24 มกราคม 2556

เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้​สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจนแล้วก็ให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัว เราได้สำรวจใจของเราสำรวจกายของเราแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ ทั้งที่ใจของทุกคนก็ปรารถนาที่จะหาทางดับทุกข์ ปรารถนาที่จะแสวงหาความสุข แต่เราขาดการทำความเข้าใจ ทำให้ใจของเราเกิด ทำให้ใจของเราหลง เราอาจจะว่าเราไม่หลงอยู่ในระดับของโลกียะ อยู่ในระดับของสมมติ อาจจะถูกต้องอยู่ระดับของสมมติ แต่ในส่วนลึกๆ ถ้าใจยังเกิด การเกิดนั่นแหละคือ ความหลง ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด

ทีนี้ได้เกิดมาอยู่ในภพของมนุษย์ เราก็ได้มาสร้างอัตภาพร่างกาย สร้างขันธ์ห้าขึ้นมาปกปิดตัวของเขาเอาไว้ คือตัววิญญาณ ตัวใจนั่นแหละ มาปกปิดเอาไว้ ก็ซึ่งมีกายเนื้อเข้ามาห่อหุ้มเอาไว้ แล้วก็มีส่วนนามธรรมความคิดอารมณ์อีก ถ้าเราไม่ได้เจริญสติเข้าไปวิเคราะห์เข้าไปสังเกต เข้าไปแยกแยะหาเหตุหาผล ก็ยากที่จะเข้าใจ

มีตั้งแต่ปัญญาของพระพุทธองค์เท่านั้นแหละที่ได้ค้นพบ แล้วก็มองเห็นหนทางเดิน เขาให้เรามีศรัทธา​ มีความเชื่อ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติให้มีให้เกิดขึ้น ให้รู้ให้เห็น หาเหตุหาผลด้วยสติด้วยปัญญา แล้วก็หมั่นพร่ำสอนใจของตัวเราอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาถ้าใจเรารู้เห็นความเป็นจริง ใจของเราแยกแยะได้ มองเห็นความเป็นจริงได้ เขาถึงจะปล่อยถึงจะวาง ถึงอยากจะปล่อยอยากจะวาง แต่ถ้าเขาไม่รู้ความจริงเขาก็วางไม่ได้ เพราะว่าเขาหลงมานาน เขาเกิดมานาน เขาเป็นทาสของกิเลสมานาน ความอยากความไม่ยาก อยากมีอยากเป็น ไม่อยากมีไม่อยากเป็น กายเนื้อทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร ตัววิญญาณซึ่งอยู่ในกลางใจของเรา เราต้องหัดวิเคราะห์ ว่าเขาเข้าไปรวมไปร่วมไปปรุงไปแต่งได้อย่างไร เขามีอยู่

พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องความจริงของชีวิต ชีวิตของคนเรามานี่เกิดมาอย่างไรไปอย่างไร สอนเรื่องทุกข์ อะไรคือทุกข์ สอนเรื่องอัตตา สอนเรื่องอนัตตา อะไรคือคำว่าอัตตาอนัตตา เป็นความหมายอย่างไร การเจริญสติที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างไร กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเป็นลักษณะหน้าตาอาการอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจให้ละเอียด ไม่ใช่ว่าไปนึกเอาไปคิดเอาว่าจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ตำราก็เป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทางให้ ถ้าเราไม่มีความขยันหมั่นเพียร ถ้าเราไม่มีการศึกษาค้นคว้าในกายของเรา เราก็ยากที่จะเข้าถึงตัวใจของเราได้

เราก็ต้องพยายามมาทำความเข้าใจ มาเจริญสติลงอยู่ที่กายของเรา แต่ละวันๆ ขอให้ต่อเนื่อง ขอให้ปฏิบัติต่อ แต่ละวันตื่นขึ้นมา กายสมมติของเราเป็นอย่างไรบ้าง เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความเสียสละ เรามีความอดทน เจาะชอนไชสังเกตวิเคราะห์ รู้ไม่ทันต้นเหตุก็รู้จักดับ รู้จักหยุด รู้จักควบคุม แล้วก็หมั่นพร่ำสอนใจ ขอให้แบ่งแยกให้ชัดเจน

ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมานี่เรียกว่า ‘สติ’ ตั้งลงอยู่ที่กายของเรา ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม แต่เราอาจจะมีอยู่เป็นบางครั้งบางคราว มีไม่ต่อเนื่อง 5 นาทีมีความรู้ตัวต่อเนื่องกันสัก 5 นาที 10 นาที 20 นาที จนขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เรามีความรู้ตัวแล้วก็รู้ใจของเรานั่นแหละสำคัญอีก

รู้การเกิดของใจ รู้ลักษณะของใจว่าใจก่อตัวอย่างไร ใจเกิดอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร รู้ลักษณะอาการของใจหรือว่าขันธ์ห้าอีกที่ผุดขึ้นมา ความคิดที่เราไม่ได้ตั้งใจคิดเขาผุดขึ้นมาได้อย่างไร ใจของเราเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร นั่นแหละตัวละเอียดเลยทีเดียว ถ้าสังเกตทันตรงนั้น ใจของเราก็จะแยกออกจากความคิด ถึงจะเข้าสู่ ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง ข้อแรกในอริยมรรค คือ รู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย

สัมมาทิฏฐิเปิดทางให้ เพียงแค่เริ่มต้น การทำความเข้าใจทุกเรื่องอีก เห็นการเกิดการดับ ซึ่งเรียกว่า รอบรู้ในกองสังขารในกายเนื้อของเรานี่แหละ อะไรคือส่วนรูปอะไรคือส่วนนาม นั่นแหละที่ท่านเรียกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าของเราซึ่งมีวิญญาณเข้าไปหลงเข้าไปร่วม ถ้าเราไม่ฝึกฝนจริงๆ ถ้าเราไม่ขยันหมั่นเพียรจริงๆ ก็ยากที่จะเข้าใจ

เราต้องหมั่นอบรมใจของเราอยู่ตลอดเวลา ได้บ้างไม่ได้บ้าง เราต้องพยายามหมั่นอบรม ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จะไปเที่ยวให้คนโน้นเขาอบรมคนนี้เขาอบรม เราต้องอบรมตัวเรา เจริญสติเข้าไปวิเคราะห์เข้าไปสำรวจ หมั่นพร่ำสอนใจของเรา อันนี้เป็นกุศลนะ อันนี้เป็นอกุศลนะ อันนี้ควรละ อันนี้ควรเจริญ เรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ เราละกิเลสได้สักกี่ครั้ง กิเลสมันไม่ได้เลือกกาลเลือกเวลาว่าเวลาโน้นมันจะเกิดเวลานี้มันจะเกิด มันเกิดได้ตลอดเวลานั่นแหละ มันไม่เกิดอยู่บ้าน มันก็เกิดอยู่วัด บางทีมันอยู่ที่ไหน บางทีนอนหลับอยู่มันก็ยังปรุงยังแต่งไป​ ตัวจิตตัววิญญาณ

เราเอาอยู่ปัจจุบันนี้แหละ ขณะที่ตื่นตัวอยู่นี้แหละ พยายามขยันหมั่นเพียร จิตใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญู มีความกตเวที มีความเสียสละ มีความอดทน รู้จักเอาออก รู้จักให้ รู้จักอภัยทานอโหสิกรรม ไม่เห็นแก่กินไม่เห็นแก่นอน มีความเสียสละอยู่ตลอดเวลา เอาออกจนไม่เหลือนั่นน่ะ จะเหลือในสิ่งที่มันมีอยู่ในใจของเราคือ ความว่าง ความบริสุทธิ์

เพราะว่าใจของเรายังหลงมานาน เขาหลงเกิด หลงเกิด หลงเป็นทาสของกิเลสมานาน เราจะให้เขาคลายแค่ชั่วโมงหนึ่งสองชั่วโมง แค่วันหนึ่งวันเดียวไม่ได้ เราต้องพยายาม พยายามหมั่นพร่ำสอนเขาแล้วก็ทำในสิ่งตรงกันข้าม หมั่นขัดเกลา หมั่นเอาออก หมั่นชำระสะสาง หมั่นวิเคราะห์ หมั่นพิจารณา การเจริญสติเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ ไปทำ อยู่คนเดียว เราก็ดูรู้ใจของเรา รู้กายของเรา ไม่ใช่ว่าจะไปทำเวลาโน้นเวลานี้ เสียดายเวลา ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก ยืน เดิน นั่ง นอน ขอให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ ทวารทั้งหกเราทำหน้าที่อย่างไร ตาทำหน้าที่ดู หูทำหน้าที่ฟัง เราก็ต้องแจง จำแนกแจกแจงคำว่า สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟังเป็นลักษณะอย่างไร

การได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม แต่การประพฤติปฏิบัติขัดเกลาให้ถึงจริงๆ ให้รู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย ก็ต้องอาศัยความเพียรที่ยิ่งยวด อาศัยกาลอาศัยเวลา อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง อย่าพากันทิ้งบุญ คิดดีก็เป็นบุญ ทำดีก็เป็นบุญ การกระทำของเราก็ต้องถึงพร้อม ในหลักธรรมเราก็สร้างกุศล ละอกุศล แต่ไม่ให้ยึดให้อยู่ ปล่อยวางหมด ปล่อยวางหมดทุกอย่าง แต่ก็สร้างประโยชน์ ขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ เราก็พลอยได้รับประโยชน์นั้นด้วย คนอื่นมาก็พอได้รับประโยชน์นั้นด้วย ก็ต้องพยายามนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง