หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 40

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 40
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 40
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 40
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 30 มีนาคม 2558

ขอให้ญาติโยมทุกคนทุกท่านจงเจริญสติสร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบายวางกายให้สบาย พันธะภาระหน้าที่ทางสมมติ เราก็จะหยุด มาแล้วทีนี้เราก็มาหยุดความนึกคิดปรุงแต่งที่เกิดจากใจของเรา ด้วยการสร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก ไม่ต้องพนมมือวางกายให้สบาย ฟังแล้วก็น้อมสำเหนียก ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจมายาวๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ

เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก เราก็พยายามหัดสังเกต หัดสร้างความรู้ตัว การหายใจเข้ายาวเป็นลักษณะอย่างนี้ การหายใจออกยาวเป็นลักษณะอย่างนี้ ความสืบต่อความเชื่อมโยงเป็นลักษณะอย่างนี้ หายใจอึดอัดเราพยายามวิเคราะห์ใหม่ หายใจอย่างไรถึงจะเป็นธรรมชาติ หายใจอย่างไรถึงจะมีความสุข ถ้าเราตั้งสติคอยดูคอยสังเกต คอยเพ่งคอยจดจ่อ บางครั้งบางคราวใจก็อึดอัด กายก็อึดอัด บางครั้งก็สมองก็อึดอัด เราก็พยายามหัดวิเคราะห์เอา อะไรที่จะเป็นธรรมชาติที่สุด ใหม่ๆ นี้ก็อึดอัดเพราะว่าความไม่เคยชิน ความเคยชินหายใจเก่าๆ การรู้ตัวรู้ลมหายใจ อันนี้เขาเรียกว่ารู้กายๆ ส่วนหนึ่งของลมหายใจคือกาย

คนเราอยู่เนื่องด้วยลม ถ้าหมดลมหายใจก็ตาย ภายใน 5 นาที 10 นาทีไปทันที เมื่อเช้านี้ก็มาเอาโลงอีกหนึ่งโลง ตั้งแต่เช้าๆ เพราะไม่หายใจ ตาย นี่แหละเราพยายามหัดสร้างความรู้ตัว รู้กายรู้ลมหายใจ เป็นบุคคลที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา มีสติรู้กายลึกลงไป เราก็จะรู้ลักษณะของใจที่ปกติ ใจที่ไม่เกิดกิเลส ใจที่ไม่มีกิเลส การก่อตัวของใจ การเกิดของใจ ทำไมใจถึงเกิดทำไมใจถึงหลงค่อยไล่เรียงลงไปเรื่อยๆ

สภาวะเดิมแท้นั้นใจสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีอะไร ความไม่รู้ความหลง เขาถึงได้มาเกิดหลงเกิด แต่เกิดอยู่ในภพของมนุษย์ มาสร้างกายเนื้อ มาสร้างขันธ์ห้า ที่ท่านว่าขันธ์ห้าเป็นกองเป็นขันธ์ มาปิดกั้นตัววิญญาณ ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณในขันธ์ห้าของตัวเราเอง เราจะเอาอะไรไปรอบรู้ นี่แหละเราถึงได้มาเจริญสติเข้าไป เพื่อที่จะให้อบรมใจ อบรมกาย อบรมวาจาของเรา ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล

แต่เวลานี้กําลังสติของเราแทบไม่มี มีตั้งแต่ปัญญาของสมมติของโลก ไปยึดไปเหมาไปรวมกันไปหมด เราก็ต้องพยายามสร้างความรู้ตัว แล้วก็รู้จักเอาไปสังเกต เอาไปวิเคราะห์เอาไปใช้ แต่กําลังสติของเรามีนิดเดียว บางทีก็ไม่มีเลยจะมีกําลังเข้าไปอบรมใจของเราได้อย่างไร เพียงแค่การเจริญสติก็มีไม่มาก แต่อานิสงส์บารมีส่วนอื่นนั้นมีอยู่ ศรัทธาก็มีอยู่ การให้ทานความเสียสละ การละกิเลส พรหมวิหาร ตรงนั้นมันมีอยู่ถึงจะมีไม่มากก็มีอยู่ แต่กําลังสตินี่สิ เราก็ต้องพยายามเอาได้บ้างไม่ได้บ้างก็พยายาม

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาพอรู้ตัวปุ๊บรู้ความปกติของใจปั๊บ ดูลมหายใจเข้าออกปุ๊บ จะก้าวจะเดินความรู้สึกคือที่ ฝ่าเท้าของเราปุ๊บนั่นแหละ จะเป็นบุคคลที่มีสติอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งใจรู้ลักษณะ จนกระทั่งสติรู้ลักษณะของใจ ใจที่ว่างจากการเกิด ใจที่ปกติใจที่คลายออกจากความคิดเป็นลักษณะอย่างนี้ ความคิดเกิดๆ ดับๆ เป็นอาการอย่างนี้ เขาเรียกว่า เป็นกอง เป็นขันธ์ กองอดีตกองอนาคต บางทีก็เป็นกุศลหรือว่าอกุศล เราจะเห็นอะไรดีๆ เยอะอยู่ในกายของเรานี่แหละ

ทรัพย์ภายใน พยายามสร้างทรัพย์ภายในให้มีให้เกิดขึ้น ใจที่ปราศจากกิเลสปราศจากการเกิด ใจที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เขาก็สะอาดเขาก็บริสุทธิ์ แนวทางนั้นมีมานาน พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบ การเจริญสติเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ อะไรคือส่วนรูปอะไรคือส่วนนาม แต่พวกเราไปเหมารวมกันด้วยใจที่ปรุงแต่งส่งออกไปภายนอกหาเหตุหาผล เพราะเขาหลงมานาน เพียงแค่การเกิดการคิดการปรุงการแต่งนั้นแหละคือความหลงอย่างลุ่มลึก แล้วก็มาหลงขันธ์ห้าที่เขาสร้างขึ้นมาคือกายเนื้อของเราอีก ซึ่งมีส่วนรูปธรรมนี่คือร่างกาย ส่วนนามธรรมนั้นอีกสี่ส่วน เราต้องเราต้องมาเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผลเห็นตรงนี้ แล้วตามทำความเข้าใจ แล้วก็ละกิเลสทั้งกิเลสหยาบกิเลสละเอียด จะมีความสุขทุกเรื่องในชีวิต

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงเวลานี้ เวลาจะขบจะฉันได้รับประทานข้าวปลาอาหารก็เหมือนกัน กายของเราหิวหรือว่าใจของเราเกิดความอยาก ความอยากเป็นอย่างไร ความหิวเป็นอย่างไร เราจะบริหารกายใจของเราได้อย่างไร ความขยันมั่นเพียรของเรามีเพียงพอหรือไม่ การฝักใฝ่ การดิ้นรนการแสวงหาด้วยสติด้วยปัญญาของเรามีหรือเปล่า อยู่ในกายของเราหมดเลย เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะทำความเข้าใจ ให้ถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่

การทำบุญมีการให้ทานมี ความเสียสละมี แต่มันก็กระท่อนกระแท่น กําลังสติไม่ต่อเนื่อง ไม่ดูไม่รู้ ไม่เห็น ชี้เหตุชี้ผล จนมองเห็นความเป็นจริง จนใจของเรายอมรับความเป็นจริงได้นั่นแหละ เขาถึงจะปล่อยจะวางได้ เพียงแค่แยกแยะได้นิดๆ หน่อยๆ เขาก็ไม่ปล่อยไม่วางหรอก นอกจากจะตามดูจนรู้ทุกขณะจิตทุกขณะลมหายใจเข้าออก จนไม่มีอะไรโต้แย้ง นั่นแหละใจถึงจะยอมศิโรราบให้ กําลังของสติปัญญาได้ก็ต้องพยายามนะ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ให้รู้ทุกอิริยาบถ

ใจของเราต้องสงบ อยู่กลางโรงหนังกลางตลาด เรายังเข้าไม่ถึงตรงนั้น เราก็น้อมกายพากายของเราเข้าไปหาครูบาอาจารย์บ้างหาสถานที่บ้าง อยู่ที่ไหนก็ดีหมด ถ้าเราเข้าถึงแล้ว เรารู้จักวิธีแนวทางแล้ว อยู่คนเดียวเราต้องเดินถึงจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย โยนความรับผิดชอบไปให้คนโน้นคนนี้ กายก็หนักใจก็หนัก ตัวเองทุกข์แล้วก็จะไปให้คนอื่นเขาทุกข์ด้วยอีก อย่างนั้นใช้การไม่ได้

เราต้องสอนตัวเรา ความเป็นระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จัดระบบระเบียบของกายของวาจาของใจ ความเป็นอยู่ เรายังอาศัยปัจจัยสี่อยู่ เราก็ต้องรู้จักพิจารณา รู้จักหารู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ เราต้องพยายามทำภารกิจภายในของเราให้จบ คือจบภายในแล้วก็ข้างนอกก็ยังประโยชน์ ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์สูงสุด ประโยชน์ในโลกนี้ประโยชน์ในโลกหน้า เอาโลกปัจจุบันให้ได้เสียก่อน ก็ต้องพยายามกันนะ

สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจให้เชื่อมโยง ให้ต่อเนื่องสักนิดหนึ่งก็ยังดีนะ

พากันไว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง