หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 2

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 2
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 2
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 2
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 3 มกราคม 2558 (2/2)

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย หลวงพ่อก็พูดของเก่าเล่าเรื่องเก่าชี้เหตุชี้ผลของเก่ามาตั้งร่วม 30 ปี เพียงแค่ชี้ต้นเหตุวิธีการเจริญสติเข้าไปดูรู้ให้เท่าทันใจ รู้ลักษณะของใจว่าการเกิดของใจ ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง เราจะใช้อุบายอย่างไรที่จะเข้าไปแก้ไข

เพียงแค่การเจริญสติให้ต่อเนื่องพวกเราก็ยังทำกันไม่ชํานาญมันจะไปรู้ความจริงได้อย่างไร ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ การสูดลมหายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจก็จะชัดเจน เวลาหายใจเข้าลมกระทบปลายจมูกมีความรู้สึกรับรู้อยู่ นี่แหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’

พยายามฝึกความรู้สึกตัว พลั้งเผลอมันมีอยู่แต่เราขาดการสร้างความรู้สึกที่ชัดเจน เริ่มใหม่พลั้งเผลอเริ่มใหม่ พลั้งเผลอเริ่มใหม่ ใหม่ๆ ก็อาจจะอึดอัดแล้วก็ยิ่งไม่เข้าใจเท่าไร เราก็พยายามเพิ่มความเพียรให้เป็นทวีคูณ

ส่วนการเกิดการดับของใจหรือว่าการเกิดการดับของขันธ์ห้าซึ่งเป็นส่วนนามธรรมเขามีมานาน เขาหลงมานาน เขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เหมือนกัน เขาก็หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเขาเอาไว้ ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บเขาจะได้ปั๊บ มันต้องพยายามหมั่นพร่ำสอนใจของตัวเรา ตื่นขึ้นมาความขยันหมั่นเพียรมีหรือไม่ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญูกตเวที การฝักใฝ่การสนใจ ลักษณะหน้าตาอาการของใจเป็นอย่างไร เราต้องรู้ต้องเห็น เห็นอาการของเขาแล้วก็ทำความเข้าใจ ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมไม่รู้จักธรรมไม่รู้จักใจ เจริญสติไม่รู้จักลักษณะของสติ เราก็เข้าไม่ถึง

ถ้าเรารู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย เราจะละกิเลสได้ทุกอย่างหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของเรา ก็ต้องพยายามอย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง บุคคลที่มีบุญมีอานิสงส์ อยู่คนเดียวก็ย่อมจะเข้าใจในธรรม อยู่หลายคนก็ย่อมจะเข้าใจในธรรม ถ้าสร้างมาดีไม่จำเป็นต้องไปหาที่โน่นหาที่นี่ กายของเรานี่แหละคือสนามรบเป็นอย่างดีเลย เรารู้จักลักษณะของการเจริญสติ รู้ลักษณะของใจ รู้ลักษณะของอาการของใจให้ชัดเจน ตามดูรู้ทุกอย่างที่พระพุทธองค์ท่านสอนเอาไว้ มีหมด

ท่านสอนเรื่องอัตตาอนัตตา คําว่าอัตตาอนัตตาของพุทธเจ้าเป็นอย่างไร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าเป็นอย่างไร การบําเพ็ญเพียรเป็นอย่างไรวิธีไหน คําว่าสมถภาวนาเป็นอย่างไร ไม่ใช่เอาไปนั่งหลับตาอย่างเดียว สมถะก็ลืมตายืน เดินนั่งนอนนี่แหละ ใจเกิดเมื่อไรเราก็ดับ ใจมีกิเลสเมื่อไรเราก็ดับหรือเขาเรียกว่า ‘สมถะ’ หยุดจนกว่าจะสังเกตใจคลายออกจากความคิดได้ ตามดูได้กําลังสติก็จะพุ่งแรง ถ้าเราไม่ตามทำความเข้าใจเขาก็จะซึมเข้าสู่สภาพเดิมอีก

ทุกอย่างต้องมีความเพียรจนถึงจุดหมายจนใจไม่เกิดนั่นแหละจนคลายความหลง ใจอยู่ในโอวาทของปัญญาได้นั่นแหละ จากสติไม่มีเราก็สร้างให้มี จากมีแล้วเราก็หัดเอาไปใช้ไปสังเกตไปทำความเข้าใจ กําลังสติของเราก็จะกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญาก็จะกลายเป็นปัญญารอบรู้ในดวงใจ รอบรู้ในการชําระสะสางกิเลสออกจากใจของตัวเรา

บุคคลที่มีบุญมีอานิสงส์ฟังนิดเดียว การเจริญสติเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ กายทำหน้าที่อย่างนี้ ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างนี้ อะไรคือสมมติวิมุตติ อยู่กับสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ เคารพสมมติ

ใจก็มีความสุขเราจะไปทิ้งสมมติไม่ได้หรอก นอกจากกายของเราแตกดับนั่นแหละเขาถึงจะคืนสู่สภาพเดิม เราก็ต้องทำความเข้าใจแต่ปล่อยวางทางด้านจิตใจให้รับรู้รับทราบด้วยใจผู้รู้แต่ไม่ให้หลงไม่ให้ยึด หมดลมหายใจนั่นแหละใจกับกายถึงจะได้พรากจากกัน ก็ต้องศึกษาให้ละเอียดนะ

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็ให้รู้ว่าลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราชัดเจน ทำใจให้ว่าง สมองให้โล่ง ทำกายให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้ให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องกันสักพักนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอานะ อันนี้หลวงพ่อเป็นแค่เล่าให้ฟัง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง