หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 15

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 15
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 15
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 15
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 (2/2)

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสทางลมหายใจของเรา พยายามหัดสังเกต ตัวสังเกตนี่แหละเขาเรียกว่าตัวสติ หรือตัวความรู้ตัวขณะลมหายใจเข้าหายใจออกเขาเรียกว่าสัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน ความรู้ตัว พลั้งเผลอเริ่มใหม่ ความรู้ตัว พลั้งเผลอเริ่มใหม่

พยายามฝึกให้เกิดความเคยชินจนเป็นอัตโนมัติในการรู้ ทีนี้ลึกลงไปเราก็จะรู้ลักษณะของใจ ถ้าเรามีสติตัวนี้ขึ้นมา สร้างสติเสียก่อน อย่าเอาความคิดเก่า อย่าเอาปัญญาเก่า เข้ามาโต้แย้ง พระพุทธองค์ท่านบอกว่าเอาความคิดเก่าหยุดเอาไว้ก่อน สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง ถ้าเรารู้ไม่ทันการเกิดของใจ ก็หยุดเอาไว้อีก ดับเอาไว้อีก ท่านถึงว่าเป็นการฝืน เป็นการทวนกระแส

กําลังสติของเรามีเพียงพอ เราก็จะเห็นการเกิดของใจ การเกิดของขันธ์ห้า ซึ่งเป็นส่วนนามธรรมด้วยกัน รูปก็ส่วนที่นั่งอยู่นี่แหละที่เขาเรียกว่าก้อนรูป ส่วนความคิดเนี่ยมันเริ่มก่อตัวผุดขึ้นมา ใจจะกระโดดเข้าไปรวม เร็วไว ถ้าเรามีความรู้ตัวอยู่ปัจจุบันสักวันหนึ่ง เราก็จะเห็นตรงนั้น พอเห็นปุ๊บ ใจมันก็จะดีดออกจากความคิด มันจะดีดของมันเอง ท่านเรียกว่าแยกรูปแยกนาม ท่านเรียกว่าเห็น

เห็น มีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปคิดเอานะ ไปนึกเอา ความเห็นที่ถูกต้อง ใจดีดออกจากความคิด ใจก็จะหงาย ถ้าเราว่าหงายของที่คว่ำนี่แหละ ใจก็เลยว่าง กายก็เลยเบา ทั้งที่กายสมมติก็มีอยู่ เดินเหมือนกับเหาะเลยทีเดียว ถ้าใจมันแยก มันพลิกออกจากตรงนี้ เพียงแค่เริ่มต้น เพียงแค่เริ่มต้น ถ้ากําลังสติของเราตามดูอีก เห็นความเกิดความดับของความคิด ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร เรื่องอะไร มันเกิด นี่เขาเรียกว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ไปคิดเอา ต้องเห็นเสียก่อน แยกได้

เราตามดู ใจว่างรับรู้ สติตามดู ตามดูทุกเรื่อง กําลังสติถึงจะเป็นมหา เริ่มเป็นมหาสติ ตามดูทุกเรื่อง รู้ไม่ทันต้นเหตุ หยุดเอาไว้ ก็เรียกว่าเป็นเริ่มเป็นมหาสติ จากมหาสติ เราก็จะเข้าใจในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้า ซึ่งตัวใจหรือว่าตัววิญญาณนั้นจะว่างรับรู้อยู่ ถ้าวิญญาณเข้าไปรวมความคิดตรงนี้อีก เราก็พยายามดับอีก หยุดอีก ความคิดเหล่านี้เข้ามาตามดูใจวิญญาณมันเกิดอีก ดับอีก เกิดกิเลสแล้วก็ดับ ละ ด้วยการให้ ด้วยการเอาออก ด้วยการเจริญพรหมวิหาร ทําในสิ่งตรงกันข้ามกับมัน นี่แหละ เขาเรียกว่าความเห็นที่ถูกต้องแล้วตามดูทุกเรื่อง แต่อย่าไปพลั้งเผลอสติ

ถ้าสติของเราพลั้งเผลอก็จะซึมเข้าสู่สภาพเดิม ไม่ใช่ว่าแยกได้แล้ว เห็นแล้วมันจะเข้าใจเลย เราต้องตามดูตามรู้ ตามเห็น ตามละอีก ดับความเกิดอีกอันนี้สตินะ อันนี้วิญญาณนะ อันนี้อาการของวิญญาณนะ กิเลสหยาบกิเลสละเอียดอีก กิเลสเกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมหรือไม่ หรือว่าเกิดขึ้นที่ใจโดยตรง เหตุจากภายนอก หรือเหตุจากภายใน เราต้องดู รู้ให้รู้เรื่องทุกเรื่อง

กายของเราทําหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหก ทําหน้าที่อย่างไร วิญญาณ ตัวลักษณะวิญญาณเป็นลักษณะอย่างไร วิญญาณที่ไม่เกิดเพราะอะไร วิญญาณที่คลายออกจากขันธ์ห้าเป็นอย่างไร วิญญาณที่ละกิเลสได้เป็นอย่างไร เราต้องเจริญสติเข้าไปอบรมไปบ่ม ไปคอยพร่ำสอนใจเป็นที่พึ่งของใจ แต่ก่อนใจของเราไปพึ่งขันธ์ห้าพึ่งกิเลส

ทุกอย่าง เราต้องชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ถ้าประพฤติปฏิบัติไม่รู้ใจ ก็ไม่รู้จะปฏิบัติอะไร ก็ปฏิบัติในคุณงามความดี อยู่ระดับของสมมติ แต่ก็เป็นสิ่งที่ดี ทั้งสมมติทั้งวิมุตติก็ต้องให้ควบคู่กันไป เราก็ต้องพยายามนะ มันไม่เหลือวิสัยหรอก อย่าไปปิดกั้นตัวเราว่าทําไม่ได้ ว่าไม่มีโอกาส ทุกคนมีโอกาสเหมือนกันหมดนั่นแหละ จะถึงช้าหรือถึงเร็ว ทุกคนก็สร้างอานิสงส์ สร้างบุญบารมี อาจจะมาต่างกัน บางคนก็สร้างมาดี บางคนก็อาจจะมาสร้างเอาอยู่ ขณะมีชีวิตอยู่ จะถึงช้าแล้วถึงเร็วก็ ให้ความถูกต้องขั้นพื้นฐานให้รู้ให้เห็นเสียก่อน หลวงพ่อถึงเน้น พยายามเน้น เข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ให้มันได้เสียก่อน ปัญญาส่วนอื่นมันจะตามมาเอง มันจะไปค้นคว้าอะไร อะไรควรจะ อะไรควรดําเนิน

วิธีการไหนก็ช่าง จะปฏิบัติคร่ำเคร่งมากมายถึงขนาดไหน ข้อวัตรมากมายถึงขนาดไหน จุดหมายก็เพื่อละกิเลส เพื่อละกิเลส เพื่อดับความเกิด มันไม่มีแต่ก่อนในใจบริสุทธิ์อยู่เดิม มันมาหลง หลงเกิด หลงสร้างกายเนื้อ หลงสร้างอันโน้นอันนี้เข้าไปยึด เราก็มาคลายความหลงเสียก่อน มาดับความเกิดให้ได้เสียก่อน แล้วที่มีจะมีจะเป็นอยู่ในระดับของสมมติก็มีด้วยปัญญา ทําด้วยปัญญา ทําหน้าที่ด้วยปัญญา ขณะสมมติให้อยู่ดีมีความสุข ใจของเราก็ว่างขณะที่เราทํา วางภายในเสียก่อนข้างนอกจะวางได้หมด ก็ต้องพยายามมันไม่เหลือวิสัยหรอก ปฏิบัติธรรมต้องเข้าให้ถึงธรรม ตัวธรรมก็คือตัวใจ ธรรมระดับสมมติ ธรรมระดับวิมุตติทุกสิ่งทุกอย่างก็เกื้อหนุนกันหมด เหมือนกับต้นไม้ มีทั้งเปลือก มีทั้งแก่น มีทั้งกระพี้ มีกิ่งก้านสาขา แต่เราทําความเข้าใจให้ถูกต้องให้หมด ก็จะอยู่ดีมีความสุข

ก็พยายามกันนะ อย่าไปปล่อยปละละเลย ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ยืน เดิน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย กิเลสมันไม่ได้เลือกกาลเลือกเวลาหรอก มันเกิดเมื่อไรเราก็จัดการกับมันเมื่อนั้น เราอยู่กับกิเลสให้ทําความเข้าใจ แล้วก็ไม่หลงไม่ยึดกายของเราในก้อนกิเลส กายของเรานี่แหละก้อนบุญ กายของเรานี่แหละก้อนธรรม ถ้าเราไม่ศึกษา เราจะเข้าใจได้อย่างไร ก็ต้องพยายามเอา

สร้างความรู้สึกรับรู้ การหายใจให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันสักนิดหนึ่ึงก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทํา

ไหว้พร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อให้รู้ทุกอิริยาบถเลยนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง