หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 11 วันที่ 3 ตุลาคม 2559

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 11 วันที่ 3 ตุลาคม 2559
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 11 วันที่ 3 ตุลาคม 2559
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 11
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 3 ตุลาคม 2559

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วย แล้วก็ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ รู้ทั้งเวลาลมสัมผัสเข้าสัมผัสออกให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ เราพยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้

ตั้งแต่ตื่นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บรู้สัมผัสของลมหายใจปั๊บ รู้ความปกติของใจ จะลุก จะก้าว จะเดิน มีความรู้ตัว รู้ใจปกติ ใจปกติ กายปกติ จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำ รู้ความปกติไว้เป็นหลัก ความรู้ตัว ใจจะก่อตัวเราก็จะเห็น เห็นการเกิดของใจ ความคิดผุดขึ้นมาใจเคลื่อนเข้าไปรวมเราก็จะเห็น ใจจะคลายออกจากขันธ์ห้า

แต่เวลานี้กําลังสติมีไม่เพียงพอ ทำบ้างไม่ทำบ้างปล่อยปละละเลย ทั้งที่ใจก็ปรารถนาอยากจะได้บุญ อยากจะรู้ธรรม ความอยากความเกิดนั้นปิดกั้นเอาไว้หมด ใครได้บุญก็ได้บุญอยู่ แต่การที่จะเข้าไปทำความเข้าใจ เป็นคนที่หัดสังเกตหัดวิเคราะห์ด้วยปัญญาส่วนสมองของเรา เราพยายามหัดสร้างขึ้นมา แล้วก็รู้เท่าทันใจ รู้เท่าทันขันธ์ห้า รู้ไม่ทัน เราก็รู้จักดับ รู้จักหยุด เจริญสติปัญญาไปอบรมใจของเราอยู่ตลอดเวลา

อบรมใจตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกระทั่งนอนหลับ ใจเกิดความโลภ เราก็ละความโลภ ใจของเราเกิดความโกรธ เราก็พยายามดับความโกรธด้วยการให้อภัยทาน อโหสิกรรม ใจของเรามีความเกียจคร้าน เราก็พยายามสร้างความขยันหมั่นเพียร สร้างความรับผิดชอบ สร้างความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นบุคคลที่มีความเสียสละ วิเคราะห์กายวิเคราะห์ใจของเราอยู่ตลอดเวลานะ

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องศึกษาดำเนินให้รู้จักหนทางเดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง จุดหมายคือความสะอาดความบริสุทธิ์ของใจของเรา แนวทางนั้นมีมานาน พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบ หลักของชีวิต การดำเนินชีวิตตามทางในอริยมรรคในองค์แปดคือ แยกรูปแยกนามให้ได้ท่านเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง ความหลงก็จะคลายออก แล้วก็จะเข้าใจในเรื่องจิตวิญญาณในกายของตัวเรา

ท่านชี้แนะแนวทาง การรอบรู้ในกองสังขารเป็นอย่างนี้ การรอบรู้ในวิญญาณในกายเป็นอย่างนี้ การรอบรู้ในสมมติ ทำหน้าที่ของเราให้ดี ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ ในการทำความเข้าใจ แต่กําลังสติมีบ้างไม่มีบ้าง เราจะรู้เท่าทันใจของเราได้อย่างไร

ใจนี้เกิดมานานหลงมานานในภพน้อยภพใหญ่ จนกระทั่งมาสร้างกายเนื้อ มาสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเอง แล้วก็มาหลงต่อมายึดต่อ ถึงขนาดนั้นก็ว่าเราไม่หลง ตราบใดบุคคลที่มาเจริญสติให้ต่อเนื่องเชื่อมโยง มาสร้างตบะบารมีให้เต็มเปี่ยม สักวันหนึ่งเราก็จะเห็น อย่าไปท้อถอย ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ตลอดเวลา ผิดพลาดแก้ไขใหม่ ทั้งสมมติทั้งวิมุตติ ไม่ใช่ผัดวันประกันพรุ่ง

ทุกอย่างล้วนแต่มีเหตุมีผล เหตุผลในหลักธรรมก็มี การแยกรูปแยกนาม ใจที่คลายออกจากขันธ์ห้า ใจที่พลิกจากของที่คว่ำหงายขึ้นมาแยกรูปแยกนาม ใจว่าง ใจโล่ง ใจโปร่ง กายเบา อะไรคือสติที่เราเจริญที่เราสร้างขึ้นมา สร้างสติแต่ไม่รู้จักเอาสติปัญญาไปใช้ ปฏิบัติฝึกหัดธรรมแต่ไม่รู้จักธรรม อะไรคือธรรม อะไรคือสติ ธรรมก็คือตัวใจนั่นแหละ เวลานี้เขายังเกิดยังหลงอยู่ เราละกิเลสได้มากได้น้อย เราก็พยายาม กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร คําว่าสัมมาทิฏฐิ ความรู้แจ้งเห็นจริงเป็นอย่างไร

การนึก การคิด การอ่านนั้นก็ไม่เจอเป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทาง เราพยายามรู้ด้วย เห็นด้วยแยกแยะได้ด้วย ตามทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล เห็นเหตุเห็นผลของการแยกการคลาย เห็นเหตุเห็นผลของความไม่เที่ยง อะไรคือสมมติอะไรคือวิมุตติมีหมดอยู่ในกายของเรา ก็ต้องพยายามกัน

อย่าไปปิดกั้นตัวเองว่าไม่มีโอกาสว่าไม่มีเวลา ตราบใดที่มีลมหายใจ ทุกลมหายใจเข้าออกนี่มีค่ามากมายมหาศาล อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง ยืน เดิน นั่ง นอนให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ รู้จักวิธีการรู้จักแนวทาง กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ การเจริญสติที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นอย่างนี้ สนุกทำสนุกสร้าง

ยิ่งเข้ามาอยู่ในวัด โอกาสเปิดกาลเวลาเปิด กลางค่ำกลางคืนก็เดิน ลองเข้าไปเดินในป่าดู ลองเดินดูสิ ลองๆ ดู การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การควบคุมใจควบคุมอารมณ์เป็นอย่างนี้ จนกว่าใจจะคลายออกจากขันธ์ห้าได้ มองเห็นหนทาง ทีนี้เราจะจัดการกับกิเลสของเราได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของเรา อย่าไปอคติคนโน้นเป็นอย่างนั้นคนนี้เป็นอย่างนี้ มองโลกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ใจของเราเกิดทั้งนั้น เราพยายามแก้ไขที่เรา ปรับปรุงที่เรา

ทุกคนก็ปรารถนาหาทางดับทุกข์หาทางหลุดพ้นกันทั้งนั้น บางคนก็เดินช้า บางคนก็เดินเร็ว บางคนก็สร้างสะสมบุญบารมีเก่ามา บางคนก็สร้างมาน้อย บางคนก็สร้างมามาก เราก็เดินปัญญาให้ถึงจุดหมายไม่ถึงวันนี้ก็ต้องถึงพรุ่งนี้ มันไม่ถึงจริงๆ สิ่งที่พวกเราทำเอาไว้ก็จะเป็นเข้าพกเข้าห่อไปสืบต่อในวันข้างหน้า ก็พยายามกัน อย่าไปทิ้งในการสร้างคุณงามความดี ในการทำบุญกุศล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ที่บ้าน ที่ไร่ที่นา ที่ทำการทำงาน ทำใจให้เป็นบุญ บุญจากภายในก็ล้นเข้าไปหาพี่หาน้อง หาหมู่หาคณะ หาสังคม

แต่คนเราขาดการดูพื้นฐานของใจตัวเองเสียเป็นส่วนมาก เลยปล่อยเลยตามเลย ตามอำนาจของกิเลส ตามอำนาจของความอยาก ไม่วิเคราะห์ถึงต้นเหตุ ไม่สาวเข้าไปถึงต้นเหตุผลจริงๆ มันก็เลยได้แค่ฝึกหัดปฏิบัติ อยู่ในบุญในกุศลก็ยังดี​ ดีกว่าไม่ได้ทำ พยายามกัน ก็พยายาม ทั้งสมมติทั้งวิมุตติ สักวันหนึ่งเราก็คงจะรู้ความเป็นจริง

สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง