หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 8 วันที่ 11 กันยายน 2559

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 8 วันที่ 11 กันยายน 2559
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 8 วันที่ 11 กันยายน 2559
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 8
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 11 กันยายน 2559

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสักนิดหนึ่ง ไม่นิดหนึ่งแหละเอาตั้งแต่เช้าขึ้นมาจนกระทั่งถึงเวลานี้พวกเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง อย่าพากันปล่อยลมหายใจทิ้ง เราศึกษาเรื่องลมหายใจเข้าออกของเรา นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจมายาวๆ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละ ท่านเรียกว่า ‘สติรู้กาย’

การสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ให้เป็นธรรมชาติ อย่าไปบังคับลมหายใจ กายของเราก็จะสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน เราพยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้ให้ต่อเนื่อง ทั้งลมหายใจเข้าหายใจออกให้ต่อเนื่องกัน จากหนึ่งครั้ง สองครั้ง สามครั้ง เป็นนาที 2 นาที 3 นาที จนต่อเนื่องกันเป็นเมตร เป็นศอก เป็นวา เป็นหลายนาที ความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง เราก็จะรู้ว่าตั้งแต่ก่อนสติตัวนี้ไม่ค่อยจะมีกันเลย มีตั้งแต่ความคิดเก่า ปัญญาเก่า ซึ่งเป็นปัญญาสมมติ อาจจะถูกต้องอยู่ในระดับของสมมติ

แต่ในหลักธรรมแล้วยังเลย เราต้องเจริญสติ แล้วก็รู้จักเอาไปวิเคราะห์ ถ้ากําลังสติของเรามีกําลังเพียงพอต่อเนื่องเราก็จะเห็นในส่วนที่ลึกๆ เห็นการเกิดของวิญญาณ การเกิดของใจของเรา เห็นความคิดนั่นแหละ เขาเริ่มก่อตัวอย่างไร เกิดจากตัวใจโดยตรงหรือว่าเกิดจากอาการของใจ หรือว่าอาการขันธ์ห้า ความคิดที่เราไม่ได้ตั้งใจคิดซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมด้วยกัน ส่วนกายนี้เรียกว่า ก้อนรูป ส่วนความคิดเขาเรียกว่า ฝ่ายนามธรรม

เรามาเจริญสติตัวนี้แหละ รู้เท่ารู้ทัน แล้วก็ตามทำความเข้าใจ จนกว่าจะเห็น ใจของเราเคลื่อนเข้าไปรวมกับอาการของขันธ์ห้า ความคิดที่เราไม่ได้ตั้งใจคิด สักวันหนึ่งเราก็คงจะเห็นตรงนั้นถ้ากําลังสติของเรามีกําลังเพียงพอ ถ้าเราเห็นปุ๊บใจจะคลายออกจากความคิด ใจจะดีดออกจากความคิดซึ่งท่านเรียกว่า แยกรูปแยกนาม ใจก็จะหงายจากของที่คว่ำ เหมือนกับคว่ำโยงหงายขึ้นมา หายใจก็จะว่าง กายก็จะเบา

เห็นการเกิดการดับของความคิดที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจของเรา เขาเรียกว่าเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นนะไม่ใช่นึกเอา เห็นสติที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละ ตามดูใจที่แยกออกมานั้นเขาก็จะรับรู้ สติที่เราสร้างขึ้นมาก็จะตามดู เขาเรียกว่า เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า เป็นเรื่องอะไรในกายของเรา บางทีก็เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง บางทีก็เป็นเรื่องอดีตบ้าง ใจของเราเข้าไปร่วมนั่นแหละ เข้าไปยินดียินร้าย เข้าไปรวมกับขันธ์ห้าเป็นสิ่งเดียวกัน กายก็เลยหนัก ใจก็เลยหนัก นี่แหละความหลง ถ้าเราคลายตรงนี้ได้เราก็คลายความหลงได้ ความรู้แจ้งเห็นจริงก็ปรากฏเปิดทางให้ ซึ่งท่านเรียกว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นถูก

พอเห็นถูกแล้ว เราจะตามดู รู้เห็นตามความเป็นจริงทุกเรื่องหรือไม่ เราจะละกิเลสได้หมดจดอีกหรือไม่ กําลังสติของเราถึงจะพุ่งแรง ตามดู ตามรู้ ตามเห็น กําลังสติที่เราฝึกเราสร้างขึ้นมาก็จะกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา ตามค้นคว้า จนไม่มีอะไรที่จะเหลือให้ค้นคว้าว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน

ใจเกิดกิเลสเราก็รู้จักดับ ใจปรุงแต่งส่งไปภายนอกเราก็รู้จักดับ รู้จักละ เราก็น้อมเข้าสู่หลักของอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐที่พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบเป็นลักษณะอย่างนี้ พระพุทธเจ้ามีจริงเป็นลักษณะอย่างนี้ ท่านให้ปรากฏขึ้นที่ใจ แล้วท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่ใช่ว่ามาปฏิบัติแบบงมงาย เจริญสติก็ให้รู้จักลักษณะของสติ เอาสติปัญญาไปใช้ ปฏิบัติธรรมก็ให้รู้จักลักษณะของธรรม คือตัวใจ

ใจที่ไม่เกิดกิเลส ใจที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ใจที่มีความสะอาดมีความบริสุทธิ์เป็นอย่างนี้ เราจะหนุนกําลังสติปัญญาไปใช้เป็นอย่างนี้ มองเห็นหนทางเดินทะลุปรุโปร่ง มองเห็นพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าก็จะมาอยู่ในใจของเรา พุทธะก็คือผู้รู้ รู้ใจของตัวเอง เจริญสติเข้าไปรู้ใจของตัวเอง ก็อบรมใจของเรา ไม่ต้องไปอาลัยอาวรณ์กับกิเลสตัวโน้นตัวนี้ ขัดเกลาออกให้หมดจด

เราละกิเลสได้หมด ดับกิเลสได้หมด เราไม่อยากจะได้ความบริสุทธิ์เราก็ได้ เราอยู่กับความบริสุทธิ์ของใจ มีความสุขทรัพย์ภายในเราก็ได้ ทรัพย์ข้างนอกเราก็ได้ เรามีความขยันหมั่นเพียร ไปอยู่ที่ไหนก็จะมีตั้งแต่ความสุข กายเนื้อแตกดับเราก็มองเห็นหนทางเดิน เราดับความเกิดได้ขณะที่ยังมีกําลังกายอยู่นี่แหละ กายยังแข็งแรงอยู่นี่แหละ ยังหายใจอยู่นี่แหละ ว่าใจของเราสะอาดบริสุทธิ์

แต่เวลานี่ใจของทุกคนนั้นดิ้นรนสารพัดอย่างปรารถนาอยากจะรู้ธรรม ปรารถนาอยากจะได้บุญ การกระทำการดิ้นรน เพราะว่าวิบากกรรมสมมติยังไม่คลาย เราต้องทำความเข้าใจ

กรรมคือการกระทำ การกระทำทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ ใจคลายออกจากขันธ์ห้า ทำความเข้าใจ ยกระดับใจให้อยู่เหนือกรรม ผิดถูกชั่วดีสติปัญญาไปแก้ไข กรรมเก่าคือขันธ์ห้าก็ตามไม่ทันก็เป็นอโหสิกรรม

กรรมใหม่ก็ไม่หลงไม่ยึด ก็ดำเนินด้วยสติด้วยปัญญา ก็เป็นแค่เพียงกิริยาของสติปัญญา ทำความเข้าใจกับศีลสังคมศีลสมมติ ศีลวิมุตติ ทำความเข้าใจกับสมมติวิมุตติ ทำความเข้าใจอัตตาอนัตตาซึ่งอยู่ในกายของเราหมด อย่าพากันปล่อยเวลาทิ้งนะ

โอกาสเปิดกาลเวลาเปิด ทั้งบุญสมมติเราก็ทำให้เต็มเปี่ยมเท่าที่โอกาสจะเอื้ออํานวยให้ ทั้งบุญวิมุตติ การชำระจิตใจเราก็ต้องพยายามทำ ทำให้ตัวเรา ตัวเรานั้นน่ะได้ไม่มีใครหรอกก็เรานั้นแหละได้ ไม่มีใครได้หรอก ก็ต้องพยายามกัน

สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี

พากันไว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง