หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 7 วันที่ 11 กันยายน 2559

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 7 วันที่ 11 กันยายน 2559
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 7 วันที่ 11 กันยายน 2559
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 7
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 11 กันยายน 2559

มีความสุขกันทุกคน วันนี้ตื่นเช้าขึ้นมาอากาศก็แจ่มดี ฝนฟ้าก็คงจะคลายลงไปบ้าง อากาศเย็นสดชื่น ญาติโยมก็เตรียมตัวมาวัดมาทำบุญกันแต่เช้า จิตใจฝักใฝ่บุญกันตลอดเวลา มีโอกาสมีเวลาก็รีบมา จุดสำคัญตื่นขึ้นมาต้องรีบรู้ใจของเราก่อนเพื่อน ให้รู้ใจ รู้ลมหายใจเข้าออก รู้ความปกติของใจ รู้การเกิดการดับของใจ เป็นงานชิ้นเอกเป็นงานชิ้นโบแดงที่จะต้องรู้ รู้เท่าทันใจ ศึกษาเรื่องชีวิตของตัวเรา

การเกิดการดับของใจ การเกิดการดับของขันธ์ห้า การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ก่อนที่จะเป็นปัญญาได้เราก็ต้องเจริญสติ สร้างบารมี ปรับสภาพใจของเราให้อยู่ในความอ่อนโยน ให้อยู่ในความอ่อนโยน ให้อยู่ในความสะอาด ให้อยู่ในความปกติ ใจของคนเรานี่เกิดมานาน ทุกเรื่องๆ เราต้องดู ต้องรู้ ต้องแก้ไขตัวเรา ดูจนกระทั่งตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกระทั่งถึงเวลานี้

ทั้งพระ ทั้งชี ทั้งโยม พระเราชีเราก็ต้องพยายามให้เป็นทวีคูณเพราะว่าเราสมัครใจเข้ามาศึกษาชีวิตของเรา พิจารณาปฏิสังขาโย กะประมาณในการขบฉันของตัวเรา แยกแยะให้ได้ ความอยาก ความหิว ความหิวเกิดขึ้นที่กาย ความอยากเกิดขึ้นที่ใจ เราต้องแก้ไข เราดับความอยากไม่ได้ เราก็ไม่ทำตาม

พิจารณาดีๆ นะ ทั้งพระทั้งชี อะไรไม่อร่อยก็ไม่ต้องเอามันบอกว่าอย่างนั้น กิเลสสั่งบอกว่าเอาเฉพาะสิ่งที่มันอร่อยๆ เอาน้อยๆ ก็กลัวไม่อิ่มบอกว่าเอาเยอะๆ เอาเยอะไปแล้วก็ทานไม่หมด ทานได้นิดเดียว เพราะว่ากิเลสมันเป็นตัวสั่ง เราต้องพยายามอย่าไปทำตามกิเลส พยายามดับ พยายามละ มองซ้ายมองขวา มองบนมองล่าง มองกลางใจของตัวเรา ใจของเรายังไม่ ปัญญายังไม่รู้เท่าทัน ใจก็ใช้สมถะเข้าไปดับเข้าไปหยุด หยุดให้สงบหยุดให้นิ่ง ความสงบความนิ่งนั่นแหละเขาเรียกว่า ‘ความปกติ’

อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้งเสียดายเวลา เราพยายามรีบตักตวง สร้างบุญสร้างอานิสงส์ให้มีให้เกิดขึ้นในกายก้อนนี้ก่อนที่เขาจะแตกจะดับ เขาเกิดมา เกิดมาในภพมนุษย์ วิญญาณมาสร้างภพมนุษย์ขึ้นมา

พระพุทธองค์ท่านถึงให้เจริญสติเข้าไปค้นคว้าทำความเข้าใจ บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น แจงให้ถูก ในกายนี้มีกี่ขันธ์ มีกี่กอง​ ซึ่งมีหนังห่อหุ้มเรามองเห็นตั้งแต่เป็นก้อนว่าเป็นตัวตนที่แท้จริง ในหลักธรรม เป็นแค่เพียงภาพลวงตา แต่ในทางสมมติ สัจจะความเป็นจริงนั้นมีอยู่ ความเป็นจริงทางวิมุตติ มีตั้งแต่ภาพมายา แต่ใจของเรามาหลง มายึด มาติด

นอกจากปัญญาของพระพุทธองค์เท่านั้นแหละที่จําแนกแจกแจงออกให้รู้ให้เห็น ร่างกายนี้ประกอบขึ้นมาด้วยอะไร ซึ่งมีธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็มีขันธ์ห้า มีวิญญาณเข้ามาครอบครอง เข้ามายึด ก็ตัวใจเรานั่นแหละ ใจของเรานี่หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด มาอยู่ในภพมนุษย์ ก็อาจจะเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ขึ้นสวรรค์​ ลงนรก​ สารพัดอย่าง จนกว่ามาอยู่ในภพของมนุษย์ มาสร้างกายเนื้อมาสร้างขันธ์ห้า

หมั่นฝึกฝนตัวเรา ค่อยพัฒนาจิตใจตั้งแต่เด็กตั้งแต่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ พัฒนา ได้รับการศึกษาได้รับการเล่าเรียน ผ่านกาลผ่านเวลา มีความรับผิดชอบ ผิดถูกชั่วดี อะไรดีอะไรชั่ว อะไรเป็นกุศลอกุศล มีปัญญารู้ แล้วก็รู้จักแก้ไขตัวเรา แล้วก็มีตั้งแต่ปัญญาของพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบหลักความจริงของชีวิตในเรื่องอริยสัจความจริงอันประเสริฐสี่ เรื่องของอนัตตา หลักของอนัตตาการปล่อยวาง เราต้องพยายามทำให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา

การขัดเกลากิเลส กิเลสหยาบก็มี กิเลสละเอียดก็มี กิเลสเกิดขึ้นที่กายเกิดขึ้นที่ใจ พวกนิวรณธรรมต่างๆ มลทินต่างๆ มีอยู่ในใจของเราทุกคนจะมีมากมีน้อยเท่านั้นเอง ทุกคนก็ปรารถนาที่มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็ปรารถนาที่จะหาทางดับทุกข์ หาทางหลุดพ้น บางคนก็เดินเขวไปเขวมายังไม่ตรง บางคนเดินตรง ยังไม่ถึงจุดหมายก็ต้องพยายาม ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่อยู่ตลอดเวลา พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไรเราพยายามทำอย่าไปเสียดายอาลัยอาวรณ์กับกิเลสเล็กๆ น้อยๆ เราพยายามเอาทรัพย์ที่สูงคือความบริสุทธิ์ของใจ

ตื่นขึ้นมาเรารีบรู้ใจของเรา รีบรู้กายของเรา การเจริญสติที่ต่อเนื่องเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ คําว่าใจวิเวก วิเวกจากอะไร วิเวกจากกิเลส วิเวกจากการเกิด วิเวกจากขันธ์ห้า ขันธ์ห้าเราได้ยินได้ฟังตั้งแต่ชื่อ แต่เราพยายามรู้ให้เท่าทัน ตัววิญญาณนั่นแหละตัวขันธ์หนึ่งในขันธ์ห้า ตัวกายนี่ก็ตัวหนึ่งในขันธ์ห้า ตัวความคิด ตัวอารมณ์ กองสังขารต่างๆ มีอยู่ในกายของเราหมด เว้นเสียแต่ว่าเราจะเจริญสติไปรู้ทันหรือไม่เท่านั้นเอง

การสร้างตบะบารมี ใจของเรามีความเสียสละ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ใจของเราอยู่ในพรหมวิหารความเมตตาหรือไม่ หรือว่ามีตั้งแต่ความแข็งกระด้าง มีตั้งแต่ความเห็นผิด ความเห็นผิดในหลักธรรมคือใจยังคลายจากขันธ์​ห้าไม่ได้ ยังแยกรูปแยกนามไม่ได้ มีความเห็นผิดแต่ยังถูกอยู่ แต่มันก็ถูกอยู่ อยู่ในระดับครึ่งๆ กลางๆ คือเป็นสัมมาทิฏฐิ ฝักใฝ่ในบุญในกุศลอยู่ แต่ยังจําแนกแจกแจง ยังแยกรูปแยกนามไม่ได้ ยังหงายจากของที่คว่ำไม่ได้ก็ยังเห็นผิด ในส่วนนามธรรมคือยังเดินปัญญาขั้นสูงไม่ได้เพราะว่ากําลังสติไม่ค่อยจะเจริญกัน

การหายใจเข้าออกก็หายใจมาตั้งแต่เกิด พอเกิดแล้วก็หายใจเลย ถ้าขาดการหายใจก็หมดสภาพ แต่ไม่ค่อยจะสนใจ หายใจเข้าหายใจออกเป็นอย่างไร หายใจหยาบหายใจละเอียดเป็นอย่างไร มีความรู้สึกรับรู้อยู่นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ การแยกรูปแยกนาม ใจของเราเบาบางจากกิเลส น้อมใจเข้ามาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ละอายเกรงกลัวต่อบาปนั่นแหละเขาเรียกว่า ‘โสดาบัน’ เขาเรียกว่า ใจน้อมเข้ามาสู่หลักพุทธศาสนา อาศัยเคารพพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง ใจก็น้อมเข้ามาเขาเรียกว่า โสดาบัน ใจที่ฝักใฝ่ในบุญ

ทีนี้กิเลส การขัดเกลากิเลส กิเลสความโลภ ละความโลภ ละความตระหนี่เหนียวแน่น มีการอนุเคราะห์มีการช่วยเหลือ เบาบางลงไปอีกก็เรียกว่า ‘อนาคามี’ ผู้เบาบางจากกิเลส เบาบางจากกิเลสหยาบต่างๆ เป็นผู้ให้ ผู้เอาออก ผู้คลาย ผู้ช่วยเหลือ ใจก็เบาบางลงไปเรื่อยๆ ด้วยการให้ ด้วยการให้ทาน ด้วยการเอาออกในหลักธรรมท่านเรียกว่า ‘อนาคามี’ ผู้เบาบาง

การเจริญสติเข้าไปอบรมใจ ควบคุมใจ ละกิเลสละเอียดลงไป ใจคลายจากขันธ์ห้า ใจอยู่ในความปกติ ใจอยู่ในความว่าง ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ถึงจะดับความเกิดไม่ได้หมดจดก็เข้าสู่หลักของอริยสัจเห็นความจริงอันประเสริฐก็เข้าสู่อรหัตมรรคอรหัตผล ทรงความว่างไว้เป็นอารมณ์ กระโดดเข้าถึงตัวเรือน ทรงความว่างเขาเรียกว่า เข้าเขตอริยะ ห่างไกลจากกิเลส

พยายามหัดสังเกตหัดวิเคราะห์บ่อยๆ เราก็จะเห็นการทรงความว่างเป็นอย่างนี้ ใจที่เห็นขันธ์ห้าใจที่รอบรู้ในขันธ์​ห้าเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นทางอยู่เหมือนกับเราขึ้นบันไดขึ้นถึงตัวเรือน บันไดแต่ละขั้นๆ กว่าจะขึ้นถึงตัวเรือนเขาก็มีราวบันไดควบคู่อยู่ ตั้งแต่โน้น ตั้งแต่การให้ทาน การรักษาศีล แต่เราต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าการปฏิบัติแบบไม่มีปัญญา ขาดปัญญามันก็ปฏิบัติแบบงมงาย ศรัทธาแบบงมงาย

การเจริญสติ รู้จักลักษณะของสติ ความรู้ตัวอยู่ปัจจุบันที่ต่อเนื่อง ยืน เดิน นั่ง นอนให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ ถ้าเราไม่สนใจจริงๆ ก็ยาก ยากที่จะเข้าใจ นอกจากบุคคลที่มีความสนใจ มีความเพียรเป็นเลิศ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ใหม่ๆ ท่านถึงว่าเป็นการสวน เป็นการทวนกระแสกิเลส

อย่าไปปิดกั้นตัวเรา ทุกคนก็มีบุญหมด บุญมากบุญน้อย บุญสมมติเราก็ทำ หลวงพ่อก็พาทำอยู่ตลอดบุญสมมติบุญวิมุตติ การขัดเกลากิเลสทำอยู่ตลอด มีโอกาส โอกาสเปิด กาลเวลาเปิด บุคคลมีบุญจะไม่ปล่อยทิ้ง ค่อยสร้างสะสมคุณงามความดี ไม่ว่าทางกาย ทางวาจา ทางใจ การกระทำของเราให้ถึงพร้อม เห็นคนอื่นทำ ทำมากทำน้อยก็เป็นของเรา เห็นคนอื่นทำเราก็พลอยอนุโมทนาสาธุ อย่าไปอิจฉา อย่าไปอคติ อย่าเป็นบาปกับจิตใจของเรา ให้อนุโมทนาสาธุ

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อะไรที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับใจของเรา เราก็พยายามดับ ยิ่งฝึกไปเท่าไรยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไรยิ่งทำความเข้าใจ บางทีเจริญสติเข้าไปเรื่อยๆ กิเลสเขาก็ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน เขาก็ผุดขึ้นมาสารพัดอย่างที่จะมาโต้แย้ง บางคนถ้าเป็นกุศลก็ดีไป บางคนเขาเป็นอกุศลนี่แย่ ต้องแก้ไข รีบแก้ไข ยิ่งฝึกไปเท่าไรยิ่งเห็นเยอะ บางทีก็ไปอคติคนโน้นอคติคนนี้ ด่าคนโน้นด่าคนนี้ ด่าคนโน้นคนนี้ก็ยังไม่พอ มาวัดก็มาด่าท่านเจ้าคุณ ว่าไม่พาปฏิบัติสักทีก็ว่าอย่างนั้น เราต้องบอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น อบรมตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา แนวทางคําสอนของพระพุทธองค์นั้นท่านได้ค้นพบประกาศเอาไว้หมดแล้ว กิเลสก็ของเราจะไปเที่ยวให้คนอื่นเขาละให้ก็ไม่ได้

ตื่นขึ้นมาเรารีบดูรีบแก้ไข เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความรับผิดชอบ เรามีความเสียสละหรือว่าเรามีความเห็นแก่ตัว สูงขึ้นไปเราก็จัดระบบระเบียบ ความเกิดความดับของความคิดซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมเขาเป็นอย่างไร ใจเริ่มก่อตัวอย่างไร ใจเริ่มเกิดอย่างไร ความคิดผุดขึ้นมาได้อย่างไร สนุกออกถ้าเรารู้จักแก้ไขรู้จักพิจารณา มีความสุขว่ากิเลสตัวไหนจะมาเล่นงานเรา

อย่าไปผัดวันประกันพรุ่งเสียดายเวลา เวลาโน้นถึงจะทำ​ เวลานี้ถึงจะทำ ถ้าไม่รู้จักแก้ไขตัวเรา ไม่รู้จักสอนตัวเรา อย่าไปเที่ยวให้คนอื่นเขาสอน ไม่เกิดประโยชน์ พูดกันปากเปียกปากแฉะถ้าไม่ไปทำก็เหมือนเดิม ถ้าคนจะเอาโน่น เจริญสตินี่แหละเป็นครูบาอาจารย์สอนใจของตัวเอง ลักษณะของสติที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ การขัดเกลากิเลสเป็นอย่างนี้ การละกิเลสเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้

รู้จักแนวทางแล้วก็ตั้งแต่ตื่นขึ้นมารีบขวนขวายฝักใฝ่สนใจในการดูในการรู้ สักวันหนึ่งก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางกัน ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว ไม่เข้าใจมา มาถามครูบาอาจารย์ มาศึกษารู้จักวิธีแนวทาง แล้วก็ไปปฏิบัติให้ปรากฏขึ้นที่ใจ หมดความสงสัย หมดความลังเล มีตั้งแต่จะขัดเกลากิเลสออกจากใจของตัวเรา ไปที่ไหนก็ถามใจตัวเองว่าใจของเราขณะนี้เป็นอย่างไร กายทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร ภาษาธรรมท่านว่าอย่างไร เราหมั่นพร่ำสอนตัวเราอยู่ตลอดเวลา

นั่นแหละท่านถึงว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน ‘ตน’ คือ สติปัญญาเป็นที่พึ่งของใจ อบรมใจ ใจเกิดกิเลสก็ละกิเลส เจริญพรหมวิหารเข้าไปทดแทน แก้ไขตัวเรา สร้างความอ่อนน้อมถ่อมตน สร้างความหนักแน่นให้ปรากฏขึ้นที่ใจ สร้างความเสียสละ สร้างความอดทนจนเป็นเลิศ มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน ก็ต้องพยายามนะ

โอกาสเปิดกาลเวลาเปิด อย่าปล่อยเวลาทิ้ง สูงขึ้นไปเราก็ขัดเกลากิเลสออกจากใจของเราให้หมดจด

ตั้งใจรับพรกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง