หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 90 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 90 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 90 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 90
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสทางลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย และก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียกไปด้วย สูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว การสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ ร่างกายของเราก็จะได้ผ่อนคลาย สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้ากระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน ความรู้สึกรับรู้เวลาลมสัมผัสปลายจมูกของเรา เขาเรียกว่า สติรู้กาย ถ้าเรารู้ทั้งเวลาลมหายใจเข้าหายใจออกให้ต่อเนื่อง เขาเรียกว่า สัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม

เราพยายามสร้างความรู้สึกตรงนี้ตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ จนต่อเนื่อง จากหนึ่งครั้ง สองครั้ง เป็นสามครั้ง เป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นหลายชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี จนเอาไปใช้ทำความเข้าใจ เอาไปอบรมใจของตัวเราได้ เห็นเหตุเห็นผล เห็นการเกิดการดับของใจ เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้าภายในกายของเรา จนใจของเราคลายออกจากความคิด ซึ่งเราก็แยกรูปแยกนาม พยายามฝึก พยายามศึกษา หัดสังเกต หัดวิเคราะห์ ทำความเข้าใจบ่อยๆ เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ เข้าใจในความเป็นจริง ว่าคนเราเกิดมา การเกิดนี่เป็นทุกข์ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป เขาเรียกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงของความคิด ของร่างกาย แต่คนเรามองเห็นว่าเป็นของเที่ยง ก็เลยไม่เข้าถึงความเป็นจริงของชีวิต

การเกิด ความเกิด เกิดจิตวิญญาณแต่ละดวง หลง หลงมาเกิด หลงมาสร้างภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้า แล้วก็มาอาศัยอัตภาพร่างกายนี้ แล้วก็เกิดต่อ ขณะยังมีลมหายใจอยู่ ยังเกิดต่อ คือความคิดที่ส่งไปภายนอก ทั้งขันธ์ห้ามาปรุงแต่ง ทั้งตัววิญญาณ ก็เป็นทาสกิเลส กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มีอยู่ในกายในใจของเราทุกคน จะมีมากมีน้อย เพราะว่าใจยังหลงอยู่ เราต้องมาเจริญสติเข้าไปอบรมใจของเรา เข้าไปแก้ไขใจของเรา สร้างตบะ สร้างบารมี ให้มีให้เกิดขึ้น เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความรับผิดชอบ เรามีความเสียสละ เรามีพรหมวิหาร มีความเมตตา มองโลกในทางที่ดี คิดดีทำดี การกระทำให้ถึงพร้อม เขาถึงจะเกิดประโยชน์ แต่เวลานี้ใจของทุกคนทั้งหลงด้วยทั้งเกิดด้วย

การเจริญสติที่ต่อเนื่อง ช่วงที่เรายังไม่ได้สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง เราก็ว่าเรามีสติมีปัญญา ก็มีอยู่แต่เป็นสติปัญญาของโลกียะ ของสมมติ ไม่ใช่สติปัญญาของโลกุตระ ไม่ใช่สติปัญญาที่จะเข้าไปขัดเกลาละกิเลสที่ใจ แล้วเอาไปใช้ เอาไปบริหารกายบริหารใจ เอาไปบริหารสมมติในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว สิ่งต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในกายในใจของเรา เราต้องเจริญสติเข้าไปดูรู้เห็นความเป็นจริงตามคําสอนของพระพุทธองค์ให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ท่านถึงบอกให้เชื่อ แต่เวลานี้ศรัทธาของพวกเรานั้นมีอยู่ แต่ขาดปัญญาที่เข้าไปดู เข้าไปรู้ เข้าไปเห็นทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออก เราก็ต้องพยายามหมั่นสร้างความเพียร ความเสียสละ ความอดทน การให้อภัยอโหสิกรรม การขัดเกลากิเลส การละกิเลสต่างๆ ออกจากใจของเรา ตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่

อย่าไปปิดกั้นตัวเราว่าไม่มีโอกาส ทุกคนมีโอกาสเหมือนกันหมด ทุกคนมีลมหายใจเหมือนกันหมด ลมหายใจก็ไม่ได้ซื้อ เราก็ต้องพยายามหัดวิเคราะห์ดู ลมวิ่งเข้าเป็นอย่างนี้ ลมวิ่งออกเป็นอย่างนี้ การหายใจที่เป็นธรรมชาติเป็นลักษณะอย่างนี้ ความเสียสละ เสียสละให้ตัวเราเสียก่อน แล้วก็เสียสละให้หมู่คณะให้เพื่อนให้ฝูง เสียสละให้คนใกล้ๆ ตัวของเรา จากตัวของเราก็เข้าไปหาคนรอบข้างก็จะค่อยเสียสละ ความเสียสละก็จะค่อยกระจายออกไปกว้างขวางออกไป ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ความเกียจคร้าน ไม่เห็นแก่กิน ไม่เห็นแก่นอน

เราพยายามสร้างความเสียสละ สร้างความรับผิดชอบให้กับตัวเรา ให้มีให้เกิดขึ้น ละความเกียจคร้าน สร้างความขยัน สร้างความรับผิดชอบ ให้มีให้เกิดขึ้นจนเต็มเปี่ยม เราก็จะได้สร้างตบะสร้างบารมี บางคนก็สร้างมาดี บางคนก็มาเริ่มสร้างใหม่ ก็ต้องพยายาม พยายามทำ พยายามทำความเข้าใจ ไม่ว่าพระว่าชี ว่าญาติว่าโยม ทุกคนเกิดมาก็มีอัตภาพร่างกาย มีขันธ์ห้าเหมือนกันหมด แต่เราขาดการทำความเข้าใจ ขาดการดำเนินที่ถูกต้อง ทำให้ใจของเราเกิด ทำให้ใจของเราหลง ในเมื่อใจของเราได้เกิดขึ้นมา มาสร้างอัตภาพร่างกายหรือว่ามาสร้างร่างกายก้อนนี้ เราก็ต้องมาเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ทั้งภายนอกภายใน สักวันหนึ่งเราก็จะมองเห็นหนทางเดิน ก็ต้องพยายาม พยายามกันให้มากๆ

งานภายนอกเราก็พยายามสร้างความขยัน สร้างความรับผิดชอบ ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขาร ให้รอบรู้ในดวงวิญญาณในกายของเรา ให้รอบรู้ในปัจจัยสี่ ให้รอบรู้ในโลกธรรมในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ละวันๆ เรามีความขยัน มีความรับผิดชอบ มีการฝักใฝ่ มีการสนใจ ละอายเกรงกลัวต่อบาป ละอกุศล เจริญกุศลให้มีให้เกิดขึ้น พยายามน้อมเข้าไปศึกษา น้อมเข้าไปใส่ใจ ตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่ตัวเล็กๆ โตขึ้นมาจากเด็ก จากเด็กก็เด็กเล็กเด็กโต ได้รับการศึกษา ได้รับการเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ ค่อยสร้างสะสมคุณงามความดีไปเรื่อยๆ จนกระทั่งการพัฒนากําลังสติ กําลังปัญญา อะไรคือใจที่ปกติเป็นอย่างไร ใจที่สะอาดเป็นอย่างไร ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่คลายจากขันธ์ห้าเป็นลักษณะอย่างไร ปัญญาของเราต้องรู้แจ้งเห็นจริง

ก่อนที่จะรู้เข้าไปถึงตรงนั้น ก็ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าจะทำปุ๊บมันจะได้ปั๊บ มันก็มีการพัฒนาจากเด็กเล็กเด็กโตได้รับการศึกษาเล่าเรียน ผ่านกาลผ่านเวลา อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเติบโตขึ้นมาเราก็ได้รับความรู้จากครูบาอาจารย์ จากพ่อจากแม่ จากพี่จากน้อง แล้วก็ได้รับการเจริญสติของเรา เข้าไปดู เข้าไปรู้ เข้าไปเห็น ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ก็ต้องพยายามกันนะ

ลูกๆ เด็กๆ พากันมาจากไหนกัน พากันมาจากโรงเรียนอะไร มาได้กี่วันแล้ว มาได้ 2 วัน ก็ต้องพยายาม จะได้กลับกันวันไหนนะนี่ กลับกันวันพรุ่งนี้ พวกเรามีโอกาสได้มาเปลี่ยนบรรยากาศ เราเป็นเด็กนักเรียน เราก็ต้องพยายามขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเรียน เราก็จะได้ทำบุญ ทำบุญให้กับตัวของเรา ถ้าเราตั้งใจเรียน มีความรับผิดชอบ เราก็ได้ทำบุญให้พ่อให้แม่เราด้วย พ่อแม่ก็ดีใจมีความสุข ครูบาอาจารย์ก็ดีใจ เราพยายามทำหน้าที่ของเราให้สำเร็จให้บริบูรณ์ ตั้งใจเรียนให้ดี ตั้งใจอ่านให้ดี ถึงเวลาสอบก็ค่อยไปสอบ วันพรุ่งนี้ก็จะมาเป็นวันนี้ อาทิตย์หน้าก็จะมาเป็นวันนี้ เดือนหน้าปีหน้าก็จะเป็นวันนี้ เราก็ต้องพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดี มีความขยัน อยู่กับหมู่กับคณะเราก็พยายามเป็นบุคคลที่เป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละไม่เอารัดเอาเปรียบเพื่อนฝูง ไม่เอารัดเอาเปรียบหมู่คณะ

อยู่ที่บ้านพ่อแม่ก็พร่ำสอน เติบโตขึ้นมาก็เข้าโรงเรียน ส่งให้ครูบาอาจารย์สอนต่อ ครูบาอาจารย์ก็หาทุกวิถีทาง พาลูกศิษย์ลูกหาแสวงหาความรู้ ไปที่นู่นไปที่นี่ มาวัดก็เพื่อที่จะให้พระคุณเจ้าได้อบรมชี้แนะแนวทางให้ แล้วก็ไปประพฤติไปปฏิบัติให้มีให้เกิดขึ้น เพียงแค่ความขยันความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ก็จะเป็นบุญเป็นอานิสงส์ใหญ่ในวันข้างหน้า สำหรับตัวของพวกเรา ขณะนี้เราอายุเท่านี้ก็ขยันหมั่นเพียร ทำตามกําลังสติปัญญา ทำตามกําลังของเรา เป็นผู้ให้ผู้เอาออก ไม่ว่าอยู่ที่ไหน อยู่ที่บ้านก็รู้จักช่วยเหลือพ่อแม่ ช่วยเหลือพี่น้อง อยู่ที่โรงเรียนก็ตั้งใจเรียน อานิสงส์บุญก็จะปรากฏเกิดขึ้นกับเรา ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความเสียสละ โตขึ้นไปการเจริญสติปัญญา การปล่อยการวาง การเดินปัญญาขั้นสูง ก็จะไปได้เร็วได้ไวขึ้น ก็ต้องพยายามกันขยันหมั่นเพียร

แต่ละวันๆ เราเข้ามาอยู่วัด ครูบาอาจารย์ก็พาน้อมนําเข้ามาฝึก เข้ามาศึกษากายวิเวกเป็นอย่างไร ห่างจากบ้าน ห่างจากพ่อจากแม่เป็นอย่างไร มารู้จักช่วยเหลือตัวเอง การที่จะอยู่ จะกิน จะพัก ที่พักที่อาศัยอันนี้ก็พอมีให้อยู่ได้ ที่พักที่อาศัย สบู่ ยาสีฟัน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ จิปาถะเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละเราต้องพยายามเป็นบุคคลที่เตรียมพร้อม ไปที่ไหนให้เตรียมพร้อมไม่ให้ลําบาก ท่านถึงบอกว่าพึ่งตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ท่านเรียกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน อยู่ในระดับของสมมติ เราก็รู้จักช่วยเหลือตัวเรา สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เราก็อย่าไปมองข้าม เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่มีความเสียสละ อนุเคราะห์ ช่วยเหลือหมู่คณะเพื่อนฝูง จนเติบโตขึ้นไป ความเสียสละก็จะกระจายออกไป ใจของเราก็จะไม่มีความโลภ ความโกรธอะไรเข้ามาเข้ามาปิดบัง มาที่วัดก็พยายามมาสร้างประโยชน์ สร้างคุณงามความดี ที่ไหนไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย ก็ให้พากันช่วยกันทำ

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง