หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 87 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 87 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 87 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 87
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของตัวเราให้ชัดเจน ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเขาไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็จะสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา ขณะลมหายใจเข้ามีความรู้สึกรับรู้อยู่ ขณะลมหายใจออกมีความรู้สึกรับรู้อยู่ เราพยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้แหละตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ ถ้าความรู้ตัวพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ อย่าไปเกียจคร้าน

การเจริญสติ ลักษณะของความรู้ตัวอยู่ปัจจุบันที่ต่อเนื่องกันเป็นลักษณะอย่างนี้ เพื่อที่จะอบรมใจของเรา อะไรคือสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา เราก็รู้จักเอาไปใช้การใช้งาน เอาไปอบรมใจของเรา ไปชี้เหตุชี้ผล จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า แยกรูปแยกนาม ภาษาธรรมะท่านเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ใจของเราคลายออกจากความคิดที่เราไม่ได้ตั้งใจคิด นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า แยกรูปแยกนาม บางทีความคิดซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมเขาเกิดอย่างไร เข้าไปร่วมกันได้อย่างไร ส่วนรูปธรรมก็คือร่างกายของเราทำหน้าที่อย่างไร ส่วนสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันเราต้องสร้างขึ้นมาจนเอาไปใช้การใช้งานได้ จนรู้เท่ารู้ทัน เห็นลักษณะอาการของใจ เห็นการแยก เห็นการคลาย ตามดู รู้เห็น เข้าใจในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขันธ์ห้าของเรา หรือว่ารอบรู้ในวิญญาณในกายของตัวเรา หมั่นแก้ไข หมั่นอบรม กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ใจเกิดกิเลสเป็นอย่างไร

ตามหลักของความเป็นจริง ใจนี้สะอาดบริสุทธิ์มาแต่เดิม ความไม่รู้ความไม่เข้าใจทำให้ใจเกิด ทำให้ใจหลง แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ความเกิดของใจ หรือว่าความเกิดของวิญญาณนั่นแหละ คือความหลงอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เขาหลงเกิดตั้งแต่ยังไม่ได้มาสร้างภพมนุษย์ จนกระทั่งถึงเวลามาสร้างภพมนุษย์แล้วก็มายึด ยึดในขันธ์ห้า แล้วก็เป็นทาสของกิเลสต่อ กิเลสหยาบ กิเลสละเอียดหลายชั้น จนกระทั่งไปถึงมลทิน นิวรณ์ธรรมต่างๆ ที่เป็นเครื่องกางกั้นจิตของเรา

เราจงพยายามสร้างความรู้ตัว หรือว่ามาสร้างผู้รู้ ใจนี้เป็นธาตุรู้ สติเป็นผู้รู้ เรามาสร้างความรู้ตัวตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ จนความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง เข้มแข็ง เอาไปอบรมใจของเรา ขณะนี้รู้ใจของเราว่าใจของเราปกติ ใจของเราสงบ ใจของเรามีความอ่อนน้อม อ่อนโยน ใจของเรามีพรหมวิหารหรือไม่ มีความเมตตาหรือเปล่า เราต้องพยายามหมั่นอบรมใจของตัวเราอยู่บ่อยๆ จนมองเห็นตามความเป็นจริง จนดับความเกิดของใจได้

การเกิดเป็นทุกข์เขาก็ไม่เกิด การเป็นทาสของกิเลสเขาก็ไม่เอา เราก็ต้องพยายามหมั่นอบรม ทั้งสมมติทั้งวิมุตติ เพราะว่าใจหรือว่าวิญญาณมาอาศัยสมมติอยู่ สมมติในทางด้านรูปธรรม ร่างกายก็ยังอาศัยปัจจัยสี่ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว เราต้องทำความเข้าใจให้หมดทุกเรื่อง ใจของเรานี้บางทีเขาก็ไม่ยอมง่ายๆ เขาก็หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเอง บางทีขันธ์ห้าก็หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเอง เพราะเขาหลงมานาน กําลังสติของเราถึงเข้มแข็งต่อเนื่อง เห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผล เข้าใจในหลักของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ ตราบใดที่กําลังสติของเราไม่ต่อเนื่องก็ยากที่จะเห็น ก็ยากที่จะแยกจะคลายได้ เรารู้เพียงแค่ว่าเขาร่วมกัน รวมกันไปเป็นกลุ่มเป็นก้อน คิดก็รู้ ทำก็รู้ เขาหลงอยู่ในความรู้ตรงนั้นอยู่

ท่านจึงให้เจริญสติลงที่กายของเรา แล้วแต่อุบาย แล้วแต่วิธีการ แล้วแต่แนวทาง ลักษณะของสติ ความสืบต่อความต่อเนื่องเอาไปใช้การใช้งาน จนเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผล ตามดูรู้ความเป็นจริง ใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้าได้ เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ เข้าใจในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าใจในเรื่องอัตตา เข้าใจในเรื่องอนัตตา เราจงพยายาม

การฝึกหัดปฏิบัติขัดเกลาใจของตัวเรา เราจะไปพึ่งคนอื่นไม่ได้ เราต้องพึ่งตัวเอง ที่ท่านบอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน ตนตัวแรกคือตัวสติที่เราสร้างขึ้นมา เอาไปใช้การใช้งานได้ ส่วนมากจะพลั้งเผลอ ช่วงใหม่ๆ ฝึกใหม่ๆ ถ้ายังแยกรูปแยกนาม ใจยังไม่คลายออกจากขันธ์ห้า ส่วนมากก็จะพลั้งเผลอ แล้วก็ลืม กว่าจะระลึกนึกก็เป็นวัน เป็นชั่วโมง คําว่า ปัจจุบันธรรมในทางธรรม คือทุกขณะลมหายใจเข้าออก ทุกขณะจิต ความรู้ตัวของเราเห็น

การเกิดการดับของขันธ์ห้า ใจของเราเคลื่อนเข้าไปรวมเมื่อไร ใจของเราก็จะคลายออก หงายขึ้นมานั่นแหละ ที่ท่านเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความรู้แจ้งเห็นจริงเปิดทางให้ ความรู้ตัวของเราก็ตามเห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า เขาเรียกว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้า ใจก็ว่างรับรู้อยู่ ใจจะเกิดส่งไปภายนอก เราก็รู้จักดับ รู้จักหยุด ใช้สมถะเข้าไปดับ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ถ้ายังแยกรูปแยกนามไม่ได้เราก็ไม่เห็นเหตุเห็นผล เราอาจจะเชื่ออยู่ในระดับของสมมติ แต่ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง การทำบุญการให้ทาน มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป ขยันหมั่นเพียร ในระดับของสมมติ อันนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่เป็นยังสัมมาทิฏฐิที่ยังไม่รู้แจ้งแทงตลอด

ถ้าแยกรูปแยกนามตามเห็นได้ รู้ความเป็นจริงได้ทุกสิ่งทุกอย่าง อันนี้ส่วนรูปอันนี้ส่วนนาม เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร มลทินเป็นอย่างไร ยิ่งฝึกไปเท่าไรยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไรก็ยิ่งทำความเข้าใจ แล้วก็คอยละ อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง เสียดายเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกมีคุณค่ามากมายมหาศาล อย่าปิดกั้นตัวเราเองว่าไม่มีโอกาส ทุกคนมีโอกาสหมด

การฝึกหัดปฏิบัติ การแสวงหาแนวทาง การแสวงหาครูบาอาจารย์ เรารู้จักวิธีการแล้ว เรารู้จักแนวทางแล้วไปเริ่มไปทำ ไปปรับสภาพใจของเราให้รู้เท่ารู้ทัน รู้จักแก้ไขตัวเราเอง ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย เราต้องอบรมใจของเราให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็นอยู่ตลอดเวลา จนชี้เหตุชี้ผลได้ จนใจยอมรับความเป็นจริงได้ว่าการเกิดเป็นทุกข์ เป็นทาสกิเลสเป็นทุกข์ เราเข้าใจความไม่เที่ยง เราเข้าใจของหลักสัจธรรมคือเรื่องของอริยสัจ ความเกิด ใจส่งไปภายนอกเป็นอย่างไร ทำไมใจถึงหลง ความหลงนี้แหละทำให้ใจของเราหลงวนเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร หลงในขันธ์ห้าอยู่ในกายของเรานี้แหละ แล้วก็เป็นทาสกิเลสต่อ ที่ท่านบอกว่าเป็นวงกลม เป็นวงเวียน หรือว่าเป็นธรรมจักร หมุน ถ้าเราแยกแยะได้เราก็จะเข้าใจ ถ้าเข้าใจได้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ตามดูรู้เห็นทุกอย่างจนหมดความสงสัย กําลังสติปัญญาสมาธิเขาก็จะรักษาเรา

ทำความเข้าใจกับภาษาโลก ทำความเข้าใจกับภาษาธรรมอยู่ตลอดเวลา กายของเรานี่แหละก้อนโลก กายของเรานี่แหละก้อนธรรม ใจของเราถ้าแยกไม่ได้ก็เป็นโลก ถ้าแยกแยะได้ก็เป็นธรรม ใจของเราว่าง เราก็มองเห็นโลกนี้เป็นของว่าง ใจของเราว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น กว่าเราจะขับไล่กิเลสต่างๆ ออกจากใจของเราได้ ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย กิเลสเกิดขึ้นทีเราถึงจะไปตามดูที ไม่ทัน

เราต้องพยายามหัด เจริญสติไปอบรมใจ แก้ไขใจของตัวเราอยู่ตลอดเวลา นิวรณ์ธรรมเป็นเครื่องกางกั้นใจของเราเป็นอย่างไร ใจส่งไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างไร ที่ท่านบอกว่าสมุทัย สาเหตุแห่งทุกข์ การดับ การละ การเจริญพรหมวิหาร ความเมตตาเป็นอย่างไร มองโลกในทางที่ดีเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ทำก็ยาก ทั้งพระทั้งชีก็พยายามขยันหมั่นเพียรกัน ย่อมจะเข้าถึงกันทุกคน ถ้ามองเห็นตามความเป็นจริงให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา รู้แจ้งเห็นจริง การรู้แล้วการเข้าใจแล้วใจจะไม่เอาเด็ดขาด การเกิดเป็นทุกข์ เป็นทาสกิเลส เป็นทุกข์ก็ไม่เอา

เพียงแค่สมมติเราก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดี ทั้งพระทั้งชีอยู่ร่วมกันหลายคนหลายท่านก็พยายามแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา อะไรคือสมมติอะไรคือวิมุตติ โลกวัชชะ อะไรควรอะไรไม่ควร มีอะไรเราก็พยายามช่วยกัน ยังสมมติของเราให้เกิดประโยชน์ พวกเราก็พลอยได้รับประโยชน์นั้นด้วย ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์โลกนี้ประโยชน์โลกหน้า ทำอยู่ปัจจุบันให้ดี

ชีเราก็เหมือนกันก็พยายาม เห็นชีหลายคน ถ้าไม่มีเหตุมีผลมีเรื่องก็อย่าไปคลุกคลี หรือว่าไปพูดไปคุยทั้งวันอยู่ที่ฝั่งมหาเจดีย์ ไปทีไรก็เห็นตั้งแต่เสื้อขาววับๆ แวมๆ อยู่ทางโน้น มันก็ดูไม่ดี ดูไม่ควร โลกวัชชะ เราก็ไม่จําเป็น จําเป็นเราก็ขออนุญาตไปในธุระบางส่วน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ข้างฝั่งทางนี้ หรือฝั่งทางโน้น การพูด การคุย ก็รู้จักสำรวม สำรวมกาย สำรวมวาจา ลึกลงไปก็สำรวมใจของเรา โลกเขาจะติเตียน โลกวัชชะ ดูไม่สวยไม่งาม ก็รู้จักแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ถึงใจของเราจะไม่มีอะไร เหตุแต่โลกสมมติเขาอาจจะติเตียนเราได้ ไม่ว่าชีคนไหนได้ยินได้ฟังได้ทราบแล้วก็ไปแก้ไขตัวเรา แก้ไขตัวเราปรับปรุงตัวเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น

ไม่ว่าพระ พระเราก็เหมือนกัน คําว่าพระอยู่ที่ไหน หรือว่าอยู่ที่เฉพาะเพียงแค่ปลงผมบวช อันนี้ก็เป็นพระในระดับของสมมติ เราปรารถนาที่จะมาหาทางดับทุกข์ หาทางหลุดพ้น เราก็พยายามละกิเลสขัดเกลากิเลสด้วยการเจริญสติ ทำความเข้าใจ จนกําลังสติของเราเป็นมหาสติ จากมหาสติกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญาจนกลายเป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณในขันธ์ห้า รอบรู้ในการขัดเกลากิเลส รอบรู้ในโลกธรรม ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ถ้าเราสอนเราไม่ได้ ไม่มีใครที่จะสอนเราได้เลย นอกจากตัวของเรา เราก็ต้องพยายามหมั่นแก้ไข หมั่นปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องพยายามกันเอานะ

เอาล่ะ วันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง