หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 55 วันที่ 13 มิถุนายน 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 55 วันที่ 13 มิถุนายน 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 55 วันที่ 13 มิถุนายน 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 55
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 มิถุนายน 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบายวางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ตั้งแต่ตื่นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ พวกท่านได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่ม ฟังไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา เวลาลมหายใจเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ลมหายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ในหลักธรรมท่านเรียกว่า อานาปานสติ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง เขาเรียกว่า สัมปชัญญะ

การหายใจเข้าหายใจออกเราก็หายใจตั้งแต่เกิด แต่เราขาดการสังเกตขาดการวิเคราะห์ การหายใจยาวเป็นอย่างนี้ หายใจสั้นเป็นอย่างนี้ หายใจธรรมชาติเป็นอย่างนี้ เราก็พยายามเริ่มไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่องเชื่อมโยงเราก็จะได้รู้ลึกลงไปอีกว่า ความปกติของใจเป็นลักษณะอย่างไร ใจที่เกิดปรุงแต่งส่งไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างไร อาการของความคิดหรือว่าอาการของขันธ์ห้าผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ หรือว่าความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิดนั่นแหละเขาผุดขึ้นมาใจเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร ถ้าเรารู้ทันใจก็จะคลายออก ซึ่งเรียกว่า แยกรูปแยกนาม เริ่มต้นสัมมาทิฏฐิความเห็นถูก เห็นถูกว่าใจคลายออกจากความคิด หงายขึ้นมา เหมือนกับหงายของที่คว่ำ ใจก็ว่าง กายก็เบา ความรู้ตัวของเราก็จะรู้เห็นการเกิดการดับเขาเรียกว่า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเรา

ส่วนรูปส่วนนาม ส่วนนามส่วนรูปเป็นกุศลหรือว่าอกุศล การทำความเพียร การสร้างอานิสงส์ สร้างตบะบารมี แต่ละวันใจของเรามีความอ่อนน้อม ใจของเรามีพรหมวิหาร มีความเมตตามองโลกในทางที่ดี คิดดี ใจของเราเกิดกุศลหรือว่าอกุศล ใจของเราเกิดกิเลสมากน้อย กิเลสใหญ่กิเลสน้อย กิเลสละเอียดลึกลงไป ความรู้ตัวของเราถ้ารู้ได้ต่อเนื่องก็จะเป็นสติสัมปชัญญะ รู้จนรอบรู้ในความคิดในอารมณ์ในกองสังขารในวิญญาณในกายของเรา เขาเรียกว่า วิปัสสนา แล้วก็ขัดเกลากิเลส

ใจเกิดกิเลสก็พยายามขัดพยายามเกลา กิเลสก็มีทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กตัวน้อย ตัวโลภ ความโลภ ความโกรธ ความทะเยอทะยานอยาก นิวรณ์ธรรม มลทินต่างๆ ความคิดใจเกิด การเกิดถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เราต้องมีความเพียรที่ต่อเนื่องเชื่อมโยง ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย เรารู้ความหมายของการเจริญสติ เรารู้ความหมายของการเจริญสติที่ต่อเนื่องเป็นลักษณะอย่างนี้ การควบคุมใจเป็นลักษณะอย่างนี้ จนใจคลายออกปล่อยวางใจให้เป็นธรรมชาติเป็นลักษณะอย่างนี้ การดับความเกิด

การพูดง่ายแต่การลงมือจริงๆ เราต้องพยายามอย่างยิ่งยวด ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ สัจจะ วิริยะ ความเพียรให้ถูกต้อง ถ้าใจคลายจากขันธ์ห้านั่นแหละท่านถึงว่าถูก ถ้ายังไม่คลาย มีแต่คิดเอา อ่านเอา ศึกษาเอาด้วยปัญญาที่เกิดจากใจเกิดจากขันธ์ห้า มันก็อาจจะถูกอยู่ในระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมใจยังหลงอยู่

แม้แต่การเกิด การเกิดเขาเรียกว่าความหลง ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ มีความเพียรเป็นอัตโนมัติ รู้จักวิเคราะห์ รู้จักพิจารณา รู้จักแก้ไขตัวเราตลอดเวลา กายทำหน้าที่อย่างนี้ ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างนี้ วิญญาณทำหน้าที่อย่างนี้ วิญญาณหรือว่าตัวใจที่ไม่มีกิเลสเป็นลักษณะอย่างนี้ ภาษาธรรมภาษาโลก ศีลสมมติศีลสังคมเป็นอย่างไร ศีลวิมุตติเป็นอย่างไร เราก็ต้องพยายามศึกษาเอา

ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่อยู่ตลอดเวลา เรารู้จักวิธีรู้จักแนวทางแล้วก็ไปทำความเพียรให้รู้ทุกอิริยาบถ มั่นพร่ำสอนใจของเรา เจริญสตินี่แหละไปพร่ำสอนใจของตัวเรา ไม่ได้ใช่อะไรหรอก พยายามสอนใจของเราอันนั้นผิด อันนี้ถูก อันนี้เป็นกุศล อันนี้อกุศล อันนี้ควรละ อันนี้ควรเจริญ อันนี้ควรดำเนิน การทรงความบริสุทธิ์ของใจไว้เป็นลักษณะอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิด ใจที่คลายกิเลส ทุกคนก็มีกันหมด จะมีมากมีน้อยก็ค่อยขัดเกลากัน ถึงวาระเวลาก็คงจะถึงจุดหมาย ถ้าไม่ถึงจุดหมายปลายทางจริงๆ สิ่งที่พวกเราทำนี่แหละจะเป็นเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเราไป แก้ไขจนถึงจุดหมายปลายทางกัน

สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยงกันสักนิดหนึ่งก็ยังดีนะ ดีกว่าไม่ได้ทำ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถด้วยตัวของเราเอง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง