หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 37 วันที่ 20 เมษายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 37 วันที่ 20 เมษายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 37 วันที่ 20 เมษายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 37
วันที่ 20 เมษายน 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน ทำใจของเราให้สงบ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้า วิ่งออก กระทบปลายจมูกของเรา


นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึก แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว การสูดลมหายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้ากระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน


อย่าไปเพ่ง ถ้าเราไปเพ่งสมองส่วนบนก็จะตึง ถ้าเราเอาใจไปจดจ่อหน้าอกก็จะแน่น เพียงแค่เรามีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกก็พอ ไม่ต้องตามเข้าไปดู ถ้าความรู้สึกไม่ชัดเจน เราก็พยายามสูดลมหายใจยาวๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ ทำบ่อยๆ เราก็จะเกิดความเคยชิน


ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ตั้งแต่ยังนอนอยู่ พอรู้ตัวปุ๊บ เราก็พยายามสร้างความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา นี่แหละภาษาธรรมท่านเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้าเรารู้เวลาลมหายใจเข้าหายใจออกให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง เราเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ถ้าเราขาดความรู้ตัวตรงนี้ ก็ยากที่จะเข้าไปรู้ใจ ก็ยากที่จะเข้าไปอบรมใจของเราได้ ทั้งที่ใจก็เป็นบุญ ใจอยากจะได้ธรรม อยากจะรู้ธรรม การเกิดของใจนั้นก็ปิดบังตัว อำพรางตัวเอาไว้หมด เกิดแล้วยังไม่พอ ก็ยังมีขันธ์ห้า อาการของขันธ์ห้า มารวมกับใจซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมไปด้วยกันอีก ส่วนรูปธรรมคือร่างกายนี่ก็คือก้อนเนื้อที่นั่งอยู่นี่แหละ


เรามาสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง ถ้าความรู้สึกตัวไม่ต่อเนื่องเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ พยายามฝึก อย่าไปเกียจคร้าน ถ้าเราทำให้ต่อเนื่อง เราถึงจะรู้ว่าแต่ก่อนนั้นสติตัวนี้มีอยู่แต่มีไม่มาก มีกระท่อนกระแท่นเอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ เราต้องพยายามสร้างให้ต่อเนื่องแล้วก็ให้รู้เท่าทันใจ รู้ไม่เท่าทันใจ เท่าทันความคิด เราก็กระตุ้นความรู้ตัวอยู่ที่การหายใจของเราเข้าออกใหม่ ซึ่งเรียกว่า ‘สมถะภาวนา’ จนกว่าใจจะอยู่ในโอวาทของสติที่เราสร้างขึ้นมา


ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมานี้จะไปดู ไปรู้ ไปเห็น ไปทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล ให้ใจมองเห็นความเป็นจริง ใจคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ หรือว่า ‘สัมมาทิฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง เห็นแจ้ง รู้แจ้ง เห็นจริง ตั้งแต่แรกแล้วก็ตามดูตามเห็นความเกิด ความดับ ก็จะรอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในความคิด รอบรู้ในอารมณ์ของตัวเราว่า มันเป็นแค่เพียงอาการ เป็นแค่เพียงมายา ไม่มีตัว ไม่มีตน แต่ใจของเราเข้าไปหลง เข้าไปยึด ทำให้เกิดอัตตาตัวตน ส่วนใจนั้นปรุงแต่งความคิด ปรุงแต่งอารมณ์ส่งออกไปภายนอก ซึ่งภาษาธรรมท่านว่า ‘สมุทัย’ เข้าหลักของอริยสัจ ใจส่งออกไปภายนอก


เราต้องมาเจริญสติเข้าไปอบรมใจของเรา ไปแก้ไขใจของเรา หมั่นพร่ำสอนใจของเรา หมั่นสร้างกำลังใจของตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนใจมองเห็นความเป็นจริง ใจจะเกิดกิเลสเราก็รู้จักละ กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เราก็ต้องพยายามรีบแก้ไข ไม่ใช่ไปแสวงหาดิ้นรน หมักหมมเหมือนกับดินพอกหางหมู เราต้องพยายามแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา แต่ละวันเพียงแค่ระดับของสมมติเราก็ต้องพยายามทำให้บริบูรณ์


ความขยันหมั่นเพียรของเรามีเต็มเปี่ยมหรือไม่ ความเสียสละ การฝักใฝ่ การสนใจ ไม่เอารัดเอาเปรียบ มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง แล้วก็ซื่อสัตย์ต่อคนอื่น ถ้าไม่มีความซื่อสัตย์ความจริงใจต่อตัวเราแล้ว ก็ยากที่จะไว้วางใจคนอื่นได้ เราก็ต้องพยายามวิเคราะห์ทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา แล้วก็ทำให้มีให้เกิดขึ้นที่ใจของเราทุกอย่าง จะเอา จะมี จะเป็น ก็เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของความทะเยอทะยานอยากที่เกิดจากตัวใจ


แต่เวลานี้กำลังสติมีน้อย การทำความเข้าใจมีน้อย จะเอาตั้งแต่ปัญญาของโลกีย์เข้าไปตัดสิน มันอาจจะถูกต้องอยู่ระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมก็ยังหลงทั้งนั้นถ้าใจไม่แยก ไม่คลาย ใจไม่ว่าง ใจไม่รับรู้ในสิ่งต่างๆ สติปัญญาไปแก้ไข อาจจะหลงอยู่ในระดับของคุณงามความดี หลงกุศล หรือว่าหลงอกุศล ถ้าใจยังเกิดนี่ยังหลงอยู่ ถ้าไม่เกิดก็ไม่หลง


แต่เวลานี้เขาหลงมาอยู่ในภพของมนุษย์ เราต้องแจงให้ออกว่ากายเนื้อของเรานี้มีอะไรบ้าง ที่ท่านบอกว่าเป็นกอง เป็นขันธ์ ขันธ์ทั้งห้าเป็นกองทุกข์ ที่เราพากันสวดกันท่อง ในการทำวัตรสวดมนต์กันอยู่ทุกวัน ก็ต้องพยายามแก้ไขเรา ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ
หมั่นพร่ำสอนตัวเรา


ถ้าคนมีบุญมีอานิสงค์จะแก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง มีความสุขในการดู ในการรู้ ในการละกิเลส อะไรที่จะเป็นประโยชน์เราก็รีบทำ ขณะนี้ เวลานี้ เราพยายามสร้างความรู้ตัว สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างวางเอาไว้ก่อนนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปทำความเข้าใจต่อกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง