หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 30 วันที่ 13 มีนาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 30 วันที่ 13 มีนาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 30 วันที่ 13 มีนาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 30
วันที่ 13 มีนาคม 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย หยุดภาระหน้าที่การงานทางบ้านเราก็หยุดมาแล้ว ทีนี้เรามาหยุดความนึกคิดปรุงแต่งที่เกิดจากใจ เกิดจากขันธ์ห้า ของเราสักพักนึง ถึงเราหยุดไม่ได้ ละไม่ได้เด็ดขาด ก็ขอให้หยุด หยุดนึก หยุดคิด หยุดปรุง หยุดแต่ง ด้วยการเจริญสติ สร้างความระลึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน


นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว การสูดลมหายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา ก็จะชัดเจน


ความรู้สึกรับรู้เวลาลมกระทบปลายจมูกของเรา เวลาลมหายใจเข้า หายใจออก หายใจยาว หายใจสั้น มีความรู้สึกรับรู้อยู่ขณะลมกระทบปลายจมูกของเรา เขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้ารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ‘สติสัมปชัญญะ’


เราต้องพยายามสร้างความรู้สึกตรงนี้ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่พอรู้ตัวปุ๊บเราก็รู้สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเรา สติของเราก็จะรู้กาย จะลุก จะก้าว จะเดิน อันนี้เป็นแค่รู้กายเฉยๆ นะ เป็นแค่รู้กายเฉยๆ ลึกลงไปเราก็จะรู้ลักษณะของใจ ใจที่ปกติเป็นอย่างไร ใจที่ไม่ส่งไปภายนอกเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ทำไมใจถึงเกิด เพียงแค่ใจเกิด ใจส่งออกไปภายนอก ทำไมใจถึงหลง ลึกลงไปอีกมีความคิดที่ ซึ่งเรียกว่า ‘อาการของใจ’ ในหลักธรรมท่านเรียกว่า ‘ขันธ์ห้า’ ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม ส่วนกายนี้ของเราก็เป็นส่วนของรูปธรรมอีกส่วนนึง


ความรู้ตัวทั่วพร้อมของเรา ส่วนมากจะไม่ค่อยต่อเนื่อง เราก็เลยรู้ไม่เท่าทันใจของเรา ทั้งที่ใจบางทีก็สงบ บางทีใจก็ปกติ ใจปรารถนาอยากรู้บุญ อยากรู้ธรรม อยากเห็นธรรม ความปรารถนาความเกิดของใจนั่นแหละ คือความไม่สงบ


เราต้องพยายามเจริญสติเข้าไปอบรมใจ หมั่นพร่ำสอนใจ จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากความคิด ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ หรือภาษาธรรมะท่านเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความรู้แจ้งเห็นจริง เปิดทางให้ เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอัตตา สอนเรื่องอนัตตา สอนเรื่องสมมติ สอนเรื่องวิมุตติ สอนหลักของความจริงของชีวิตว่ากายของคนเรานี้มีอะไรบ้าง ซึ่งมีหนังมาห่อหุ้ม ซึ่งมีอยู่ห้าขันธ์ ห้ากอง ทำไมท่านถึงบอกว่า ห้าขันธ์ ห้ากอง ทำไมถึงเรียกว่าเป็นกองเป็นขันธ์


เราต้องเจริญสติ รู้จักเอาสติไปใช้ ไปสังเกตไปวิเคราะห์ จนมองเห็น จนรู้ลักษณะหน้าตาอาการของใจ รู้ลักษณะหน้าตาอาการของขันธ์ห้า ทำความเข้าใจว่า การเกิดการดับของใจเป็นอย่างไร การเกิดการดับของขันธ์ห้าเป็นอย่างไร ทำไมใจของเราถึงหลง ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงเป็นทาสของกิเลส ทำไมใจถึงเป็นทาสของอารมณ์ นั่นแหละท่านถึงบอกว่าให้มาเจริญสติเข้าไปทำความเข้าใจ หมั่นอบรมใจ มองโลกในทางที่ดี คิดดี ทำความดี ให้มีให้เกิดขึ้นที่ใจตลอดเวลา เราก็จะอยู่กับบุญ เราก็จะได้บุญอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าใจของเรามีความสงบ ความปกติ ความสุขนั่นแหละคือตัวบุญ


อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง เสียดายเวลาตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ทั้งทางด้านรูปธรรม ทั้งทางด้านนามธรรม แนวทางนั้นมีมาอยู่ตั้งนาน พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบแล้วก็เอามาเปิดเผยให้สัตว์โลกได้เดินตาม พวกเราจะดำเนินเดินตามคำสอนของท่านให้ถึงจุดหมายปลายทาง ท่านถึงบอกให้เชื่อ


การเจริญสติเป็นลักษณะอย่างนี้ ความรู้ตัวเป็นลักษณะอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ มีอยู่ในกายของเรา มีอยู่ในกายในขันธ์ห้าของเราหมด ท่านไม่ได้สอนเรื่องอื่นเลย ท่านสอนเรื่องชีวิตของเรา การดำเนินชีวิตของเรา การทำความเข้าใจ สอนเข้าไปในกายของเรา ให้รู้จักใจตัวเอง
แก้ไขใจตัวเอง หมั่นอบรมใจตัวเอง ขนาบแล้ว ขนาบอีก ขนาบแล้ว ขนาบอีก ผิดพลาดแก้ไขใหม่ ผิดพลาดแก้ไขใหม่ เป็นเรื่องของเราทุกคนที่จะต้องศึกษาชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น


ตื่นขึ้นมาเราก็รีบสอนใจของเรา สอนวิธีไหน ดำเนินอย่างไร แนวทางมีอยู่หมด เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะทำตามหรือไม่เท่านั้นเอง อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง พยายามตักตวงสร้างอานิสงส์บุญบารมี ให้มีให้เกิดขึ้นที่กายที่ใจของเรา การแสวงหาใจ แสวงหาธรรม แสวงหาภายนอกนี้ไม่เจอเด็ดขาด เพราะว่าตัวใจนั้นแหละคือตัวธรรม


แต่เวลานี้เราต้องมาเจริญสติเข้าไปอบรมใจ กำลังสติของเรามีเพียงพอหรือไม่ การละกิเลสของเรามีเพียงพอหรือไม่ การทำความเข้าใจ เราทำความเข้าใจได้ต่อเนื่องหรือไม่ กิเลสมารต่างๆ เขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เหมือนกัน เขาก็หาเหตุหาผลมาโต้แย้ง สติปัญญาของเราต้องพยายามสร้างขึ้นมาให้เข้มแข็ง รู้เท่าทันจนกว่าใจของเราจะคลายออกจากขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ เพียงแค่ใจคลายยังไม่พอ เราต้องตามทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล เห็นความเกิดความดับ ไม่ให้ใจของเราเข้าไปร่วม เข้าไปรวม เข้าไปยินดี เข้าไปยินร้าย


ในหลักธรรมนั้น ความอยากแม้แต่นิดเดียว ท่านยังไม่ให้เกิดขึ้นที่ใจเลย อยากมี อยากเป็น ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เพียงแค่การเกิด ถ้าไม่มีความอยาก ใจของเราก็จะสงบ ใจที่ปราศจากกิเลส ใจก็สะอาด ใจก็บริสุทธิ์ แต่เวลานี้ใจของเราทั้งเกิดด้วย ทั้งหลงด้วย ถ้าไม่หลงเขาก็ไม่เกิด เพียงแค่การเกิดนั้นเขาก็หลง เราต้องมาทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผลตามดูเหตุตามดูผล


ทำความเข้าใจในหลักธรรม ในภาษาธรรม ภาษาโลก อะไรคือภาษาธรรม อะไรคือภาษาโลก อะไรคือสมมติ อะไรคือวิมุตติ ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขาร ให้รอบรู้ในโลกธรรม ให้รอบรู้ในชีวิตของตัวเราตั้งแต่ตื่นขึ้นมาทุกเรื่อง ยืน เดิน นั่ง นอน ให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ ไม่ใช่ว่าจะไปเที่ยวแสวงหาธรรมที่นู่น แสวงหาธรรมที่นี่ อันนั้นเป็นการไปหาประสบการณ์


เราต้องพยายามเจริญสติเข้าไป ชี้เหตุชี้ผล เห็นการเกิดการดับของใจของเรา หรือว่าดวงวิญญาณของเรา ซึ่งอยู่ในกายของเรา
กิเลสมารต่าง ๆ กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ที่เกิดขึ้นที่ใจของเราเป็นอย่างไร เราต้องรู้จักลักษณะหน้าตาอาการ ทำความเข้าใจให้ถูกต้องทุกเรื่อง มองโลกในทางที่ดี คิดดี ทำดี พยายาม


ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าผลัดวันประกันพรุ่ง เพียงแค่ความรับผิดชอบในทางสมมติ เราทำได้ดีแล้วหรือยัง เรามีความเสียสละเพียงพอแล้วหรือยัง มองเห็นชีวิตของตัวตนของเราที่แท้จริงแล้วหรือยัง
อย่าไปพลาดโอกาส พยายามหมั่นสร้างคุณงาม สร้างคุณงามความดีให้มีให้เกิดขึ้นที่ใจของเรา สักวันนึงเราก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทาง


แนวทางนั้นมีอยู่หมด ความจริงมีอยู่หมด เพราะว่าพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบสอนหลักของความเป็นจริงของชีวิต
พยายามแสวงหาให้รู้ ให้เห็น ให้เจอ แล้วก็ละกิเลสให้ได้ ท่านถึงบอกให้เชื่อ ดำเนินอย่างนี้ ทำอย่างนี้ วิธีนี้ เราก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางสักวันนึง ก็ต้องพยายามนะ อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง


การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ก็นับว่าเป็นบุญที่ประเสริฐ ได้มีโอกาส ได้ศึกษา ยากที่จะได้เกิดมา นอกนั้นก็ไปหลงอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ บางทีก็ตกเข้าไปอยู่ในสู่ที่อบายก็มี บางทีก็ขึ้นสวรรค์ ลงนรกอยู่อย่างงี้แหละ จิตวิญญาณของแต่ละดวง ตราบใดที่ยังดับความเกิดไม่ได้ ละกิเลสไม่ได้ ก็ต้องไปตามวิบากของกรรม เราต้องทำความเข้าใจเสียขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ก่อนที่จะหมดลมหายใจ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเองใหม่อยู่ตลอดเวลา สักวันนึงเราก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน


สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจของเรา สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ทำใจให้ว่าง ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ต่อเนื่องกันสักพักสักระยะนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจต่อ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง