หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 15 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 15 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 15 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 1 (ลำดับที่ 1-20)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 15
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว วางภาระหน้าที่การงานทางสมมติ เราก็วางมาแล้ว ถึงได้เข้ามาวัด ทีนี้วัดภายใน เรามาสร้างความรู้ตัว หรือว่ามาเจริญสติ ให้รู้กาย รู้ลมหายใจของเรา อันนี้เขาเรียกว่า รู้กาย แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่อง


ถ้าเรารู้จักวิธี รู้จักแนวทางแล้ว ก็ตั้งตื่นขึ้นมาให้รู้ลมหายใจเข้าออก ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ความรู้ตัวของเราก็จะตั้งมั่น ต่อเนื่อง เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก พวกเราก็ขาดการสร้างความรู้ตัวตรงนี้มากทีเดียว ทั้งที่ใจเป็นบุญ อยากจะได้บุญ อยากจะได้ทำความคิดเล็กๆ น้อย ๆ ความคิดเก่าที่เกิดจากวิญญาณ หรือว่าเกิดจากใจของเรา หรือว่าอาการของวิญญาณของเรา เขาเกิดอย่างไร ถ้าเรามีความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง เราก็จะไปเห็น แต่ตอนนี้เรารู้อยู่ แต่เราไม่เห็นตั้งแต่ต้นเหตุ รู้อยู่เมื่อเราคิดแล้ว คิดก็รู้ทำก็รู้ มันหลงอยู่ในความรู้อยู่


เราถึงได้มาสร้างผู้รู้ หรือว่ามาสร้างความรู้ตัวตัวใหม่ เอาไปอบรมใจ ไปแก้ไขใจของเรา จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากขันธ์ห้า ใจของเราหลงมานาน เกิดมานาน แต่เขาหลงมาเกิดอยู่ในภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้าเข้ามาปิดกั้นเอาไว้ เราต้องมาเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ เข้าไปสังเกต เข้าไปอบรม จนกว่าจะรู้เท่าทัน จนกว่าใจของเราจะคลายออก ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ หรือว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นที่ถูก ถ้ายังแยกไม่ได้ ก็เพียงแค่ใจอยู่ในกองบุญกองกุศล อยู่ในอานิสงส์แห่งบุญ เราก็ต้องพยายามศึกษาค้นคว้า แนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบเอามาเปิดเผย


การแสวงหาธรรม เราก็ต้องแสวงหาที่กายของเรา ไม่ใช่ให้ใจไปแสวงหา ถ้าใจไปแสวงหานั้น ยิ่งเกิด ยิ่งหลง ยิ่งยึด สารพัดอย่าง ท่านให้มาเจริญสติเข้าไปอบรมใจ จนกว่าใจของเราจะคลายออก จนกว่าเราจะสังเกตทันว่า ใจกับอาการของใจ แยกออกจากกันได้อย่างไร ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม เรื่องอะไรที่มันเกิด เรารู้ด้วยเห็นด้วยสติปัญญา ตามทำความเข้าใจด้วย จนกว่าจะเป็นมหาสติ จนกว่าจะเป็นมหาปัญญา จนหมดความสงสัย จนละกิเลสได้ทุกอย่าง กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด จนดับความเกิดของตัววิญญาณได้ ถึงจะอยู่ดีมีความสุข


อะไรคือ ‘สติปัญญา’ อะไรคือ ‘ใจ’ อะไรคือ ‘อาการของใจ’ เราต้องแจงให้ออกที่ท่านบอกว่า เป็นกอง เป็นขันธ์ กองรูป กองนาม กองรูปนี้ทำหน้าที่อย่างไร กองนามทำหน้าที่อย่างไร เรื่องอะไรที่มันเกิด อะไรควรละ อะไรควรเจริญ โลกธรรมแปดในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว อะไรเป็นประโยชน์มาก ประโยชน์น้อย ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล แต่ละวันเราต้องรีบสำรวจ เราต้องสร้างขึ้นมา ให้มีให้เกิดขึ้นที่ใจของเรา อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง เวลาโน้นถึงจะทำ เวลานี้ถึงจะทำ


ลักษณะของคำว่า ‘สติรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน’ เป็นลักษณะอย่างไร คำว่า ‘ปัจจุบัน’ คือทุกขณะลมหายใจเข้าออก เวลาลมหายใจเข้า หายใจออก ก็มีความรู้ตัว อันนี้เพียงแค่สติรู้กายเท่านั้นเอง ต่อไปข้างหน้าก็รู้ใจ รู้ฐานของใจ รู้จักพิจารณาใจ หมดความสงสัย หมดความลังเล รู้จักละกิเลส อยู่คนเดียวก็รู้เรา อยู่หลายคนเราก็รู้เรา


ช่วงใหม่ๆ ก็อาจจะลำบาก บุคคลที่สร้างบุญมาดี มีความเสียสละอย่างเต็มเปี่ยม ใจก็ปล่อย ก็วาง ก็คลายได้เร็ว ได้ไว มาดับความเกิด มาคลายความยึดมั่นถือมั่นส่วนความคิด ส่วนอารมณ์ ก็จะไปได้เร็ว ได้ไว ก็ต้องพยายาม


แต่ละวันตื่นขึ้นมา เรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือเปล่า เรามีความรับผิดชอบเพียงพอหรือไม่ เรามีความเห็นแก่ตัวหรือเปล่า เราก็ต้องพยายามสละๆ ขัดเกลาตัวเราอยู่ตลอดเวลา บุคคลที่มีบุญมีอานิสงส์ ไม่จำเป็นต้องไปพูดมากมาย รู้นิดเดียวเท่านั้นแหละ


กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร หมั่นทำความเพียร ตั้งแต่ตื่นขื้นมาทุกอิริยาบถ ลักษณะของสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันเป็นลักษณะอย่างนี้ ความคิดผุดขึ้นมาได้อย่างไร เหตุจากภายนอกมาทำให้ใจเกิด หรือเกิดขึ้นจากข้างใน ขณะนี้ใจของเราเป็นบุญ ใจเป็นกุศล ขณะนี้ใจของเราสงบ ใจของเรานิ่ง กิเลสเกิดขึ้น กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เป็นลักษณะอย่างไร เราต้องหมั่นวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา จนไม่มีอะไรที่จะเหลืออยู่ในใจของเรา จนเหลือตั้งแต่ปัญญาล้วนๆ ไปทำความเข้าใจ


ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เรื่องการอยู่ การขบการฉัน ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ต้องเป็นบุคคลที่เตรียมพร้อม เพียงแค่สมมติก็ยังเกียจคร้าน มันจะไปได้อะไรในธรรม ความเสียสละ ความขยันหมั่นเพียรก็ไม่มี มันจะไปได้อะไร มันก็จะได้ตั้งแต่ความเกียจคร้านนั่นแหละเข้าครอบงำ จากครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง ก็มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น


เรารู้จักละ รู้จักดับครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง ก็ค่อยๆ ขัดเกลาออกไปเรื่อยๆ ถึงจุดหมายมันก็จะรู้เอง แต่เวลานี้กำลังสติมันมีน้อย เพียงแค่สร้างให้ต่อเนื่องก็ยังไม่ชำนาญ มันก็เลยยากอยู่ พยายามสร้างความรู้ตัวให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องกันนะ ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกัน


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจต่อ อย่าไปเกียจคร้าน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง