หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 87 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 87 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 87 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 87
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งก็กระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย

ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมที่กระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน อย่าไปบังคับลมหายใจ อย่าไปเพ่ง อย่าไปจดจ่อ ให้หายใจให้เป็นธรรมชาติที่สุด

เราพยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้ตั้งแต่ตื่นขึ้น จนกระทั่งถึงเวลานี้ เดี๋ยวนี้ ทำให้ต่อเนื่อง เขาเรียกว่า สัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม ลึกลงไปก็รู้ลักษณะของใจ รู้ความปกติของใจ รู้การเกิดของใจ รู้การเกิดของความคิด ซึ่งไม่ได้ตั้งใจคิดหรือว่าอาการของขันธ์ห้า ซึ่งมีกันทุกคน บางครั้งบางคราวก็เกิดจากตัวใจส่งออกไปภายนอก บางครั้งบางคราวก็เกิดจากความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิดผุดขึ้นมา ใจเคลื่อนเข้าไปรวมไปด้วยกัน เราพยายามสร้างความรู้ตัวให้รู้เท่ารู้ทัน รู้ไม่ทันก็รู้จักหยุด รู้จักควบคุม จนกว่าใจจะอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเรา

ใจคลายจากขันธ์ห้า เราก็จะเข้าใจคําว่าอัตตาอนัตตา เข้าใจคําว่าสมมติวิมุตติ มองเห็นความเป็นจริงในชีวิต เห็นความเกิดความดับ เห็นการเกิดการดับ เห็น รู้จักลักษณะของอนัตตาซึ่งมีอยู่ในกายของเรา เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ว่าท่านสอนเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างไรถึงจะมีความสุข อะไรคือโลกอะไรคือธรรม ภาษาธรรมภาษาโลก สมมติวิมุตติ เราก็จะเข้าถึง รู้ด้วยเข้าถึงด้วย ตามดูได้ด้วย เราก็รู้จักละออกจากจิตจากใจของเรา

เราพยายามหัดสังเกต หัดวิเคราะห์ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จนกระทั่งนอนหลับ ตื่นขึ้นมาเอาใหม่ รู้จักเอาสติปัญญาไปใช้ในทางสมมติ ว่าเราผิดพลาดตรงไหนก็รู้จักแก้ไข เอาไปใช้ให้ได้จนกว่าจะหมดลมหายใจ ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในวิญญาณในกายของเรา รอบรู้ในกองสังขาร ในความคิดในอารมณ์ รอบรู้ในโลกธรรม รอบรู้ในเรื่องหลักของอริยสัจ ความเกิดความดับ รอบรู้ในโลกธรรมแปดที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว อะไรคือสมมติวิมุตติ ก็ต้องพยายามหมั่นวิเคราะห์ ทำความเข้าใจให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ทำอย่างไรถึงจะมีความสุข รู้โลกรู้ธรรม รู้ธรรมรู้โลก แล้วก็ไม่ยึดติดในสิ่งต่างๆ ทำใจให้ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น

การพูดง่ายแต่การลงมือจริงๆ ต้องเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ มีความฝักใฝ่ มีความสนใจตั้งแต่ตื่นขึ้น การเกิดการดับของใจเป็นอย่างไร ใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน หรือว่าใจของเรามีความแข็งกร้าวแข็งกระด้าง เราก็รู้จักแก้ไข ใจของเรามีความโลภความอยากเข้าไป เราก็รู้จักละความโลภละความอยาก ใจของเราเกิดความโกรธ เราก็รู้จักดับความโกรธด้วยการให้อภัยอโหสิกรรม

ไม่ใช่ว่าเจริญสติ แล้วเอาสติปัญญาไปใช้ไม่ได้ เราต้องเอาสติปัญญาไปใช้ ไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผลภายใน จนใจคลายออก แยกรูปแยกนามหรือว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกเปิดทางให้เห็นวิญญาณในกายของเรา เห็นความคลาย ความปล่อยวางในกายของเรา บางทีบางครั้งบางคราวเราอาจจะเห็นภายนอก อันนั้นอาจจะถูกต้องอยู่ในระดับของสมมติ เราต้องให้รู้ให้เห็นภายในของเรา จนใจของเราคลายออก หงายขึ้นมาอยู่ในความว่าง อยู่ในความบริสุทธิ์ อยู่ในความเป็นเอกเป็นหนึ่ง

ใจจะเกิดกิเลสเมื่อไหร่เราก็รู้จักดับ เอาสติปัญญาไปใช้ในทางสมมติ เอาไปใช้ในการดำรงชีวิต ว่าเราจะบริหารอย่างไร บริหารกายของเราอย่างไร บริหารใจของเราอย่างไร บริหารสมมติที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้อย่างไร โดยใจที่ไม่ทุกข์ กายเป็นทุกข์ แต่ตามความเป็นจริงกายก็คือก้อนทุกข์ มันเดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็เจ็บ เดี๋ยวก็ป่วย เราก็ดูแลรักษาเขาไปด้วยสติด้วยปัญญา ไม่ให้ใจของเราเข้าไปหลงเข้าไปยึด จนกว่าจะหมดวิบากกรรมของเขา คือการแตกดับ การหมดลมหายใจ ก็เหลือตั้งแต่ใจที่จะไปเกิดต่อ ตราบใดที่ใจยังดับความเกิดไม่ได้ ละกิเลสไม่ได้หมด มันก็ต้องไปเกิดต่อ ก็ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ สูงขึ้นไปก็ดับความเกิด ละกิเลส มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน

แต่เวลานี้เพียงแค่สติเราก็ยังสร้างไม่ต่อเนื่อง ยังเอาไปใช้งานไม่ได้ เราก็ต้องพยายามสร้าง รู้จักวิธีการ รู้จักแนวทางแล้ว เราพยายามเอาไปทำ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกจากกิเลส วิเวกจากการเกิดเป็นอย่างนี้ สติที่รู้ใจเป็นอย่างนี้ เราทำความเข้าใจตั้งแต่ตื่นขึ้น จนกระทั่งเรานอนหลับโน่นแหละ จนกระทั่งหมดไม่มีอะไรเหลือที่จะให้เข้าไปค้นคว้า ถึงจะอยู่อย่างสงบสุขได้ เราก็ต้องพยายามกัน

กิเลสอยู่ในกายของเรามีเยอะ ยิ่งฝึกไปเท่าไรยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไรเราก็ยิ่งทำความเข้าใจ อย่าไปท้อ ในเมื่อ ฝืนกิเลส ทวนกระแสกิเลส จนใจของเราตกกระแสธรรมอะไรก็จะง่ายขึ้น อะไร กิเลสตัวไหนเราละได้ เราก็รู้ตัวไหนมันยังเกิดอีก เราก็พยายามละ พยายามละ พยายามแก้ไขเรา ถ้าเราไม่แก้ไขเรา ไม่มีใครจะแก้ไขให้เราได้ นอกจากตัวของเรา ท่านถึงบอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน

ตนตัวแรกคือสติที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละ ตนตัวที่สองคือใจ แต่เวลานี้ใจทั้งเกิดทั้งหลงทั้งยึด ทั้งเป็นทาสกิเลส ทั้งเกิด ความเกิดเนี่ยเป็นกิเลสอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เขาหลงมาเกิดอยู่ในภพมนุษย์ เราก็ต้องเจริญสติเข้าไป รีบตักตวง สร้างคุณงามความดี สร้างอานิสงส์ให้มีให้เกิดขึ้นในกายก้อนนี้ แล้วก็อบรมใจ ใจก็อาศัยกายนี้อยู่ ถ้ากายเนื้อแตกดับแล้วล่ะก็มีแต่บุญกุศลเท่านั้นที่จะนําทาง ก็ต้องพยายามกัน

ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี ก็ต้องพยายาม อย่าพากันเกียจคร้านทั้งกลางวันทั้งกลางคืน หมั่นอบรมใจ มีความสุข พิจารณาใจของเรา เราจะพลั้งเผลอให้กิเลสตัวไหน เราเผลอเมื่อไหร่เริ่มใหม่ ใจของเราสะอาดบริสุทธิ์หรือไม่ ขณะนี้ใจของเรามีความว่าง ลักษณะของความว่าง ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ให้ว่างด้วยสติ ว่างด้วยปัญญา รู้ด้วยสติ รู้ด้วยปัญญา เข้าถึงธรรมชาติของใจที่แท้จริง ก็ต้องพยายามกัน

สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ ก็ให้รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา ให้ชัดเจนกัน

ไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างศึกษาทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง