หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 23 วันที่ 6 เมษายน 2561

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 23 วันที่ 6 เมษายน 2561
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 23 วันที่ 6 เมษายน 2561
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 23
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 6 เมษายน 2561

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบาย วางกายให้สบายแล้วก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ที่เกิดจากใจหรือว่าเกิดจากอาการของขันธ์ห้าเอาไว้ด้วยการสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว

อย่าไปบังคับลมหายใจ พยายามหายใจให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด หายใจเข้ายาวๆ ออกยาวๆ ก็ให้เป็นธรรมชาติ อย่าไปบีบลมหายใจ อย่าไปเพ่ง ถ้าเราไปเพ่งลมหายใจหน้าอกก็จะตึง หรือว่าเอาสมองไปเพ่งลมหายใจ สมองก็จะตึง เอาใจไปจดจ่อที่ปลายจมูกหน้าอกก็จะแน่น เพียงแค่มีความรู้สึกรับรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ฝึกให้เกิดความเคยชินตั้งแต่ตื่นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ความรู้ตัวไม่มี เราพยายามสร้างขึ้นมาแล้วก็เอาไปใช้การใช้งาน เอาไปอบรมใจของเรา

คำว่า ปัจจุบันธรรม คือ ทุกขณะลมหายใจเข้าหายใจออก ต้องเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ ฝึกจนเกิดความเคยชินจนเป็นอัตโนมัติ อันนี้ใจ ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่ส่งออกไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างนี้ อาการของขันธ์ห้าที่ผุดขึ้นมาใจเคลื่อนเข้าไปรวมเป็นลักษณะอย่างนี้ ตรงนี้คนขาดความเข้าอกเข้าใจกันมากเลยทีเดียว

แต่การสร้างคุณงามความดี ฝักใฝ่ในการปฏิบัติกับสมมติตรงนั้นมีกันเต็มเปี่ยม ส่วนการเจริญสติลงที่กาย ลงที่ฐานของกาย แล้วก็ลงที่ฐานของใจ อาการของใจส่วนรูปส่วนนามเราต้องเก็บรายละเอียด หัดสังเกตรายละเอียด สังเกตไม่ทันเราก็เริ่มใหม่ สังเกตไม่ทันเราก็เริ่มใหม่ สักวันเราก็คงจะเข้าใจในชีวิตของเรา ชีวิตของเรานี้สลับซับซ้อนกันมากเลยทีเดียว ละเอียดอ่อนกันมากเลยทีเดียว แต่ก็ไม่เหลือวิสัย

คำสอนแนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบ ท่านก็เอามาเปิดเผย เอามาจำแนกแจกแจงว่ากายของคนเรามีอะไรบ้างที่ว่าเป็นกองเป็นขันธ์ มีอยู่ 5 กอง กองรูป กองนาม กองวิญญาณ กองความคิด กองอารมณ์ต่างๆ แต่เราต้องรู้ด้วยการเจริญสติ รู้ลักษณะ รู้ลักษณะหน้าตาอาการซึ่งเป็นส่วนรูปส่วนนามให้ชัดเจน ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมานี้เลยเรียกว่า สติ แล้วก็สร้างให้ต่อเนื่องเรียกว่า สัมปชัญญะ เพื่อที่จะเข้าไปอบรมใจของเรา อบรมใจของเราตั้งแต่ต้นเหตุไม่ได้เราก็ใช้สมถะเข้าไปดับ ปรับปรุงแก้ไขใจเราตลอดเวลา

เรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ เรามีความเสียสละ มีความรับผิดชอบ ละความเห็นแก่ตัว ขัดเกลากิเลส กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร คำว่าสมมติ วิมุตติ อันนี้ต้องคลาย ต้องคลาย ใจต้องคลายจากขันธ์ห้าถึงจะเข้าใจคำว่าสมมติกับวิมุตติ เข้าใจคำว่าอัตตาอนัตตา

เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์ เข้าถึง ไม่ใช่ว่าไปนึกไปคิด เราต้องสร้างผู้รู้เข้ามาดู เข้ามารู้มาเห็น มาแยกมาคลาย มาชี้เหตุชี้ผล แต่ส่วนมากปัญญาเก่าที่เกิดจากใจ หรือว่าปัญญาเก่าที่เกิดจากขันธ์ห้าหรือสติปัญญารวมกันไปทั้งก้อน ท่านให้มาเจริญสติมาสร้างความรู้ตัว ส่วนสมอง ส่วนใจ ส่วนอาการของใจ แต่เขาก็รวมกันอยู่

เราค่อยฝึก ค่อยฝึก ค่อยขัดค่อยเกลา จนรู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย ตามดูได้ด้วย ชี้เหตุชี้ผลได้ด้วย จนมองเห็นความเป็นจริงทะลุปรุโปร่งว่า อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ไม่ใช่ว่าให้เชื่อแบบงมงาย ท่านให้เชื่อด้วยเหตุด้วยผล รู้ด้วย เข้าถึงด้วย เห็นด้วย ทำความเข้าใจได้ด้วย แล้วก็ละได้ด้วย ท่านถึงบอกให้เชื่อ

ช่วงใหม่ๆ ที่ฝึกหัดปฏิบัติใหม่ๆ ท่านก็ให้วางความคิดหรือว่าทิฏฐิ ความเห็นเก่าๆ ปัญญาโลกวางเอาไว้ก่อน เรามาสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องจากหนึ่งครั้งสองครั้ง เป็นนาที 2 นาที 3 นาที จนรู้เท่าการแยกการคลายของใจของขันธ์ห้า ตามดูตามรู้เห็นตามความเป็นจริง กำลังสติถึงจะพุ่งแรงกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา ตามค้นคว้า หมดความสงสัย หมดความลังเลนั่นแหละ แล้วก็ละได้นั่นแหละปัญญาถึงจะหยุด หยุดสิ่งที่จะค้นคว้าได้หมดจนนั่นแหละปัญญาถึงจะหยุด ปัญญาถึงจะรอบรู้

ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขารให้รอบรู้ในดวงวิญญาณในกายของเรา รอบรู้ในโลกธรรมในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว หลายสิ่งหลายอย่างสลับซับซ้อน กิเลสเข้ามาปิดกั้นเอาไว้ ใจของคนเรานี่หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อันนั้นเอาไว้ทีหลัง ทีนี้เขามาหลงมาเกิด มาสร้างภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้า

ท่านถึงให้เจริญสติหรือว่ามาสร้างปัญญาตัวใหม่ ส่วนสมอง ส่วนปัญญาตัวใหม่ หัดสังเกตความเกิดความดับซึ่งมันมีอยู่ตลอดเวลา บางทีก็เกิดจากใจบ้าง บางทีก็เกิดจากขันธ์ห้าบ้าง บางทีก็เกิดจากทั้งใจทั้งขันธ์ห้ารวมกันไป บางทีก็มีนิวรณ์ ความเกียจคร้าน ความกังวล ความฟุ้งซ่านต่างๆ สารพัดอย่าง กิเลสต่างๆ เขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เขาก็หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเองเหมือนกัน

กำลังสติปัญญาของเราก็ต้องเข้มแข็งเร็วไว เห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผลว่าอะไรเป็นอะไร ใจถึงจะยอมรับความเป็นจริงได้ ถ้าแยกแยะไม่ได้ แยกรูปแยกนามไม่ได้ ตามดูไม่ได้ มันก็อาจจะถูกต้องระดับของสมมติ แต่ว่ายังดับทุกข์ไม่ได้ ในเมื่อเราดับทุกข์ไม่ได้เราก็อย่าไปทิ้งในการสร้างคุณงามความดี หมั่นวิเคราะห์หมั่นพิจารณาถึงเวลาเราก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางกัน

ต้องพยายามกันทั้งลูกพระ ลูกเณร ลูกชี ที่มีโอกาสได้เข้ามาฝึก เข้ามาศึกษามาทำความเข้าใจ ความเสียสละ ตัดความกังวลเล็กๆ น้อยๆ ออกไปจากใจของเรา วางภาระหน้าที่ทางสมมติที่เคยทำทางบ้าน มีโอกาสเข้ามาบวช กายวิเวก กายอาจจะวิเวกจากภาระพ่อแม่ วิเวกจากบ้านจากช่อง อันนี้ก็เป็นเขาเรียกว่า สมมติกายวิเวก ส่วนใจหรือว่าใจที่คลายออกจากความคิดได้นั้นต้องเดินปัญญาได้ ละกิเลสได้ ดับความเกิดได้เขาถึงจะเรียกว่า ใจวิเวก อยู่กลางป่ากลางเขากลางโรงหนังถ้าใจสงบเขาก็เรียกว่า ใจวิเวก ก็ต้องพยายามกัน

ค่อยสร้างสะสมคุณงามความดีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจุดหมาย ไม่หลุดพ้นวันนี้ก็ต้องหลุดพ้นวันพรุ่งนี้ ไม่พรุ่งนี้ก็เดือนนี้ เดือนหน้า ปีหน้า ไม่หลุดพ้นจริง ไม่หลุดพ้นจริงๆ ก็ไปต่อเอาภพหน้า เพราะว่าสิ่งที่พวกเราทำก็จะส่งผลถึงวันข้างหน้า อันนี้เป็นเรื่องของเราทุกคนไม่ใช่ว่าเรื่องของคนโน้นคนนี้ เป็นเรื่องของเราทำภาระหน้าที่ของเราให้จบ จบทั้งสมมติจบทั้งวิมุตติ อยู่กับสมมติ เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ ทำหน้าที่สมมติจนกว่าจะหมดลมหายใจ ก็ต้องพยายามกัน

สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ

ไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง