หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 23 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 23 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 23 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 23
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน วางความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ทำกายให้สงบ ทำกายให้สบาย ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก


ลองสูดลมหายใจเข้าไป ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ พยายามสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง จาก 1 ครั้ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง จนกระทั่งเป็นนาที 2 นาที 3 นาที จนกระทั่งเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ถ้าเรารู้จักการเจริญสติ ลักษณะของคำว่ารู้ตัวอยู่ปัจจุบันให้ต่อเนื่องเชื่อมโยง


ส่วนการเกิดการดับของใจนั้นเขามีมาแต่เดิม เขาหลงมาแต่เดิม ความคิดก็ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ บางทีใจก็เคลื่อนเข้าไปรวมกับความคิด บางทีก็เกิดจากใจโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ใจเป็นธาตุรู้ แต่เวลานี้เขาทั้งรู้ทั้งหลง หลงเกิด หลงยึด เราว่าเราไม่ยึด นอกจากเราจะสังเกตจนกว่าใจของเราจะคลายออกจากความคิดได้ หรือว่าแยกรูปแยกนามได้ เราถึงจะรู้ว่าเราหลง


แค่แยกรูปแยกนามได้ เพียงแค่เห็นถูกนิดเดียว เราต้องทำความเข้าใจทุกเรื่องอีก ว่าหลักของอัตตาเป็นอย่างไร อนัตตาเป็นอย่างไร ความว่างเปล่าเป็นอย่างไร ความรู้สึกรับรู้เป็นอย่างไร ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจเกิดกิเลสสักกี่เที่ยว


แต่ละวันๆ ตื่นขึ้นมา เราสำรวจใจของเราตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ จะลุกจะก้าวจะเดิน จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำ ตัวไหนเป็นตัวสั่ง สติปัญญาเป็นตัวสั่งพากายไปให้ใจรับรู้ หรือว่าใจเป็นตัวสั่ง เราต้องวิเคราะห์ให้รู้เท่าทัน เห็นเหตุเห็นผล ทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุมีผล


ความขยันหมั่นเพียรระดับสมมติของเราเต็มเปี่ยมหรือไม่ เข้าไปยุ่งเกี่ยวปัจจัยสี่ ความเป็นอยู่ ที่พักที่อาศัยที่หลับที่นอน ปากท้องทางสมมติ เราจะแสวงหาอย่างไร เป็นเรื่องของเราหมดทุกอย่างเลยทีเดียว พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรื่องชีวิตของเรา ท่านบอกให้แจงให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ใจเป็นธรรมก็มองเห็นโลกเป็นธรรม ใจเป็นโลกก็มองเห็นโลกนี้เป็นโลก


เราพยายามพลิกปัญญาโลกให้เป็นปัญญาธรรม แต่เราต้องแยกภายในให้ได้เสียก่อน ถึงกันหมดทุกคนนั่นแหละ ไม่ว่าจะถึงช้าหรือถึงเร็วเท่านั้นเอง เพราะว่าใจไม่มีกิเลสแต่เดิม แต่พวกเรานี้เอากิเลสมาปกปิดเอาไว้เท่านั้นเอง ไม่ยอมขัดเกลาให้มันถึงจุดหมายเหมือนกับขุดน้ำ ไม่พยายามขุดให้มันถึงตัวน้ำจริงๆ การขึ้นตัวเรือนก็เหมือนกัน เทียวขึ้นเทียวลง บางทีก็ขึ้นๆ ลง ๆ ขึ้นไม่ถึงตัวเรือนสักที ก็ลงขึ้นใหม่ ลงใหม่อยู่อย่างนั้น ว่ายน้ำไม่ข้ามฝั่งสักที อยู่เฉพาะฝั่งใน เหมือนกับเราสวดเราท่องกันอยู่ทุกวัน ก็ต้องพยายาม


อะไรคือความจริงของชีวิต มันไม่เหลือวิสัยหรอก ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ลองอดคิดสังเกตดูความคิด ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมเขาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมเขาถึงหลง ทำไมเขาถึงเกิด ถ้ารู้ชัดเจนว่าอะไรคือสติ สติที่เราสร้างขึ้นมาก็จะกลายเป็นปัญญา จากปัญญาก็จะกลายเป็นมหาปัญญาคอยอบรมใจของตัวเราตลอดเวลา ไม่ให้ใจของเราเข้าไปหลงความคิด ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมด้วยกัน


ถ้าใจคลายออกแยกได้ มันก็วางความคิด วางอัตตาตัวตนได้ สมมติก็มีอยู่ เราก็ทำความเข้าใจสมมติ เคารพสมมติ ดูแลสมมติไปจนกว่าเขาจะหมดลมหายใจ ถึงจะได้ทิ้งสมมติก้อนนี้จริงๆ แต่เราวางทางด้านใจเสียก่อน รับผิดชอบด้วยปัญญาทุกเรื่อง พยายามทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย จากเรื่องง่ายก็จะง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน


มีเรื่องเดียวเท่านี้แหละในชีวิตของมนุษย์ที่จะต้องศึกษา ไม่ใช่ว่าไปศึกษานอกกาย เราต้องเอาในกายของเราให้ได้เสียก่อน รู้ความจริงในกายของเราให้ได้เสียก่อน มันจะล้นออกไปสู่สมมติสู่ภายนอกได้เอง ก็ต้องพยายาม


หลวงพ่อก็เพียงแค่พูดในสิ่งที่หลวงพ่อรู้หลวงพ่อเห็น ว่าจะเข้าถึงยังไงไปยังไงมายังไง แล้วก็เทียบเคียงดูกับพระไตรปิฎกดูว่าความเป็นกลาง ใจที่เป็นกลาง ใจที่คลายจากขันธ์ห้า ใจที่ว่างจากกิเลสเป็นลักษณะอย่างนี้ เราละกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ระดับใจของเราก็จะค่อยขยับขึ้นมา มีการทำใจให้สะอาด การรักษาใจ การทำใจให้มีพลัง สมถะหนุนกำลังสติปัญญา สมถะสร้างกำลังจิตหนุนกำลังสติปัญญา ประหัตประหารกิเลส กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด


ใจส่งไปภายนอก ภาษาธรรมะท่านเรียกว่าอย่างนี้ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง ท่านเรียกว่าอย่างนี้ สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟัง เป็นลักษณะอย่างนี้ คำว่าปัจจุบันธรรมเป็นลักษณะอย่างนี้ ให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา อะไรควรละ อะไรควรเจริญ หมดความสงสัย มีตั้งแต่ความเพียรทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ถ้าพลั้งเผลอให้กิเลสก็เริ่มใหม่ พลั้งเผลอให้กิเลสก็เริ่มใหม่ กิเลสเป็นลักษณะอาการอย่างไร หน้าตาอย่างไร ใจเกิดจากใจโดยตรง หรือว่าเหตุจากภายนอกมาทำให้เกิด


อะไรคือที่ท่านเรียกว่า ‘กรรม’ กรรมคือการกระทำ กรรม กิริยา กิริยาของการกระทำด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเราแยกรูปแยกนามได้ ตามดูให้ละเอียด เราก็จะเข้าใจในเรื่องวิบากของกรรมเก่ากรรมใหม่ ก็ไม่หลงไม่ยึด เลยอยู่เหนือกรรมเหนือบุญเหนือบาป อยู่กับบุญ สร้างแต่บุญ ไม่ยึดติดในบุญ อยู่ที่ไหนก็มีความสุข ไปไหนมาไหนก็มีความสุขกัน ก็ต้องพยายามกันนะ


ลองสร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่องกันให้ได้สักพักนึงก็ยังดีนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปทำความเข้าใจต่อนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง