หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 51

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 51
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 51
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 51
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พวกท่านพากันเจริญสติหรือว่าสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสัก 5 นาที 10 นาที แล้วหรือยัง หรือว่าปล่อยปละละเลย ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ หลวงพ่อก็เพียงแค่บอกแค่กล่าวแค่เตือน

ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ อย่าไปบังคับลมหายใจนะ ร่างกายก็อย่าไปเกร็งปล่อยให้เป็นธรรมชาติที่สุด หายใจก็ให้เป็นธรรมชาติที่สุด การสูดหายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ กายก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้ากระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน ความรู้สึกรับรู้เวลาอารมณ์กระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละ ที่ท่านเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ หายใจเข้ามีความรู้สึกรับรู้อยู่ 1 ครั้ง หายใจออกมีความรับรู้อยู่ 1 ครั้ง หายใจเข้าหายใจออกเขาเรียกว่าต่อเนื่อง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ ถ้าเรามีความรู้สึกให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่าสติรู้กาย แล้วพยายามรู้ให้ต่อเนื่อง

ถ้าพลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ พลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ นี่แหละตรงนี้แหละไม่ค่อยจะเจริญขึ้นมา ไม่ค่อยจะสร้างกันเท่าไหร่เพราะว่าความเคยชินเก่าๆ ความคิดที่เกิดจากใจบ้าง เกิดจากขันธ์ห้า หรือว่าความคิดที่ไม่ตั้งใจกับตัวใจรวมกันไป บางทีก็รวมกันไปทั้งปัญญา รวมกันไปทั้งก้อน นั่นแหละหลงไปทั้งก้อน คิดก็รู้ ทำก็รู้ แต่เขาหลงอยู่ในความรู้ตรงนั้น เพราะว่าจิตใจยังเกิดอยู่ ความเกิดนั่นแหละคือความหลงความละเอียดที่สุด ถ้ากำลังสติของเราไม่มีเพียงพอ ยากที่จะทำความเข้าใจตรงนี้ได้ เพราะว่าต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียร และเป็นบุคคลที่มีตบะ มีความขยันในการสังเกต ในการสร้างความรู้ตัว ในการอบรมใจ แก้ไขใจของตัวเราอยู่ตลอดเวลา

ทุกคนก็มีบุญ ทุกคนก็มีศรัทธา ตรงนี้มีกันมาตั้งแต่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย หมั่นทำบุญ หมั่นให้ทานมีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป ปฏิบัติฝึกหัดอยู่ในระดับหนึ่ง แต่การทำความเข้าใจ อันนี้ใจที่ปกตินะ อันนี้ใจที่ไม่มีกิเลส อันนี้ใจที่เกิดส่งออกไปภายนอกเป็นลักษณะหน้าตาอาการอย่างไรใจเกิดความทะเยอทะยานอยาก เราหยุดเราดับได้หรือไม่ ความคิดเขาก่อตัวอย่างไร อะไรคือส่วนรูป อะไรคือส่วนนาม ตรงนี้เรายังไม่เข้าถึง เรารู้อยู่เพียงแค่ว่าเราคิด

ความคิดนั่นแหละคือความเกิด แต่ในหลักธรรมแล้ว ใจของคนเรานี้หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดหลงวนเวียนว่ายอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ซึ่งเราอาจจะยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจตรงนั้น แต่ในหลักธรรมแล้ว การวนเวียนว่ายตายเกิดมีอยู่ตลอดเวลา ท่านถึงบอกว่าไม่อยากเกิด ไม่อยากทุกข์ ก็ต้องดับความเกิด แต่เวลานี้ทั้งเกิดทั้งหลงทั้งยึด ทั้งเป็นทาสกิเลสหยาบกิเลสละเอียด มีอยู่ในกายของเราเยอะแยะ

ท่านถึงให้มาเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ หาเหตุหาผล รู้ไม่ทันต้นเหตุ ก็รู้จักหยุด รู้จักดับเอาไว้หมั่นอบรมใจอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ เรามีความรับผิดชอบเพียงพอหรือเปล่า จิตใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน จิตใจของเรามีพรหมวิหาร จิตใจของเรารู้จักละกิเลส ละความตระหนี่เหนียวแน่นออกจากใจของเราหรือไม่ มีความละอายซึ่งท่านว่าเรียกว่า ‘หิริโอตตัปปะ’ มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป กล้าหาญในสิ่งที่ควรกล้าหาญ ทุกเรื่องเป็นการฝึกหัดปฏิบัติขัดเกลาตัวเราทั้งนั้น

ถ้าเราเข้าใจ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา กายทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร กำลังสติของเราเข้าไปวิเคราะห์ รู้เท่ารู้ทัน รู้กันรู้แก้หรือไม่ อะไรที่เป็นบุญ บุญใกล้บุญไกล ประโยชน์มากประโยชน์น้อย ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์ส่วนตัวประโยชน์ส่วนรวม เราต้องพยายามหัดวิเคราะห์ ใจต้องคลายออกจากขันธ์ห้า หรือว่าต้องแยกรูปแยกนามให้ได้เสียก่อน

เราอาจจะได้ยินได้ฟัง หนังสือตำราครูบาอาจารย์ทุกองค์ทุกท่านก็อยากจะให้ทุกคนดับทุกข์ เข้าถึงความสุข เข้าถึงความหมายคำสอนของพระพุทธองค์กันทั้งนั้น แต่ว่าเราจะทำความเข้าใจให้ถึงจุดหมายนั้นๆ ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของเรา พยายามรีบเร่งทำความเพียร อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง อย่าไปปิดกั้นตัวเราเองว่าไม่มีโอกาส ทุกคนมีโอกาส ทุกคนมีบุญ ทุกคนมีวาสนาอยู่แล้ว

แต่การทำความเข้าใจด้วยการเจริญสติ ด้วยการเจริญปัญญา ตรงนี้แหละที่ยังไม่ช่ำชองกัน อาจจะทำอยู่บ้างไม่ต่อเนื่อง ท่านถึงบอกว่าให้ทำให้ต่อเนื่อง ให้รู้แจ้งเห็นจริง ชี้เหตุชี้ผลให้ได้ จนใจยอมรับความเป็นจริงได้นั่นแหละเขาถึงจะยอมปล่อยยอมวาง เรารู้จักขัดเกลากิเลสเพราะว่าสภาพเดิมของใจนั้นสะอาดบริสุทธิ์ ความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ ความหลง เขาถึงเกิด เขาถึงหลงเป็นทาสของกิเลสห่อหุ้มดวงใจของตัวเองเอาไว้ ก็ต้องพยายามแก้ไขกันนะ

พยายามแก้ไขขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ถ้าหมดลมหายใจก็มีแต่เรื่องบุญเรื่องบาป เพราะทุกคนเกิดมาเท่าไหร่ก็ตายหมด ไม่ตายช้าก็ตายเร็ว ที่ท่านบอกว่าต้องพลัดพรากจากกัน ไม่ได้พลัดพรากจากกันตอนเป็นก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย เพราะเป็นกฎของไตรลักษณ์ ยืมโลกเขามาใช้ ถึงวาระเวลาก็กลับคืนสู่โลกเขาคือ ดินน้ำลมไฟ แล้วก็ธาตุสี่ ขันธ์ห้า ถึงวาระเวลาก็ต้องแตกดับ ไม่อยากจะให้แตกดับก็ต้องแตกดับ เพราะว่าเป็นกฎของธรรมชาติ

แต่เราเข้าไม่ถึงกฎของธรรมชาติตรงนี้ ก็เลยมองไม่เห็นความเป็นจริง ก็เลยเกิดตั้งแต่ความกลัวมีตั้งแต่ความทะเยอทะยานอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากตาย อยากร่ำอยากรวยแทนที่จะให้มี มีให้เป็น ทำให้เป็น เอาให้เป็น มีด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติด้วยปัญญา บริหารด้วยสติด้วยปัญญา อยู่กับสมมติเคารพสมมติ ถึงวาระเวลาก็ต้องได้ทิ้งสมมติ

แต่เราพยายามฝึกปล่อยวาง ใจของคนเราจะปล่อยวางได้ก็ด้วยปัญญาที่จำแนกแจกแจง รู้เห็นตามความเป็นจริง อันนี้ส่วนรูป อันนี้ส่วนนาม ซึ่งท่านเรียกว่า ‘เป็นกองเป็นขันธ์’ ธาตุสี่ขันธ์ห้าเป็นกองเป็นขันธ์ แต่เรามองเห็นรวมกันเป็นก้อน ก็เลยไม่เข้าถึงตรงนั้น แต่ก็เป็นก้อนในทางสมมติ แต่ท่านให้จำแนกแจกแจงด้วยปัญญา

ส่วนนามธรรม ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่คลายจากขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ใจที่ว่างจากกิเลสเขาก็เป็นสมาธิ ใจที่ไม่มีกิเลสเขาก็บริสุทธิ์ ใจที่ไม่เกิดเขาก็นิ่ง แต่เวลานี้เขาเกิดอยู่ตลอดเวลา เราดับความเกิดไม่ได้ มีตั้งแต่สนองกิเลส กิเลสตัวเองก็มากขึ้นๆ มากขึ้นสะสมมากขึ้น ก็เลยกลายเป็นดินพอกหางหมู

ในหลักธรรมท่านให้คลาย คลายออกคือเจริญพรหมวิหารเข้าไปทดแทน ใจของเรามีความโลภเราก็ละความโลภด้วยการให้ ด้วยการเอาออก ใจมีความโกรธเราก็ดับความโกรธด้วยการให้อภัย มองโลกในทางที่ดี ละความอิจฉาริษยา ละนิวรณธรรมต่างๆ ละความเห็นแก่ตัว น้อมกายน้อมใจเข้ามาฝึกศึกษาตามแนวทางของพระพุทธองค์ สักวันหนึ่งเราก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางกัน

อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง งานภายนอกงานภายใน พยายามทำให้ถึงจุดหมายกัน ไม่ว่าอยู่ไร่อยู่นา อยู่ที่ทำการทำงาน เราก็หายใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราหยุดการหายใจเพียงแค่ 2-3 นาทีก็ไปแล้ว ถ้าเราไม่สังเกตวิเคราะห์เราก็ไม่เข้าใจ ยิ่งฝึกใหม่ๆ ก็ยิ่งอึดอัด ยิ่งอึดอัดเท่าไหร่ เราก็ยิ่งทำความเข้าใจ

ทำความเข้าใจจนให้รู้ธรรมชาติของการหายใจเป็นอย่างนี้นะ หายใจธรรมชาติเป็นอย่างนี้หายใจยาวหายใจสั้นเป็นอย่างนี้ ขณะที่เรารู้ให้ต่อเนื่องบางทีใจของเราก็ส่งออกไปภายนอกขณะที่กำลังมีสติอยู่เราก็จะเห็นเป็นส่วนๆ บางทีความคิดผุดขึ้นมาใจเคลื่อนเข้าไปรวม ถ้าเราสังเกตทันใจก็จะคลายออก เราก็จะตามเห็น เราก็จะเข้าใจ

คำสอนของพระพุทธองค์ คำว่า ‘อัตตา’ เป็นอย่างนี้ คำว่า ‘อนัตตา’ เป็นอย่างนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายเป็นอย่างนี้ ถ้าเรายังไม่รู้ ไม่เข้าถึง จะเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความเบื่อหน่ายไม่สนุกถ้าเราแยกแยะได้แล้วจะสนุก สนุกในการดู ในการรู้ ว่ากิเลสตัวไหนมาหลอกเรา เราจะพลั้งเผลอให้กิเลสหรือไม่ เราละกิเลสได้หรือไม่ เราละได้เราก็ชนะมันครั้งหนึ่ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง ถ้าเราไม่สนใจมันก็มากขึ้น สะสมมากขึ้นๆ อายุมากขึ้นมันก็ยิ่งเยอะตามเป็นทวีคูณ มันก็เลยขัดเกลาเอาออกยาก

ถึงอย่างไรก็อย่าไปทิ้งบุญ พยายาม บุญมากบุญน้อย บุญใกล้บุญไกล มีโอกาสเราก็ให้ทำ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ทำบุญให้กับตัวเรา ทำบุญให้กับลูกกับหลาน ให้กับพี่กับน้อง กับเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน คิดดี ทำดี ปรารถนาดี การกระทำของเราให้ถึงพร้อม ก็จะเกิดประโยชน์ไม่ว่าอยู่บ้าน อยู่วัด

หลวงพ่อก็ขอขอบใจ ทั้งเหล่ามนุษย์ที่มีใจเป็นบุญ ทั้งเหล่าเทวดาที่มาช่วยทำ มาสร้างอานิสงส์ร่วมกัน ไม่ให้ติดขัดอะไรสักอย่าง อะไรลำบากเทวดาก็ช่วยเหลือ หลวงพ่ออาศัยอำนาจแห่งบุญแล้วก็เทวดาก็มาคอยช่วยเหลือ เทวดาที่มีกายเนื้อก็คือพวกเรา เทวดาที่มีกายทิพย์ที่ดลบันดาลไม่ให้ติดไม่ให้ขัด บุคคลใดที่เคยสร้างบุญสร้างกุศลร่วมกันก็จะดลใจให้มาช่วยกัน นี่แหละเราได้ทำบุญ บุญใกล้บุญไกล บุญมากบุญน้อย ทำทุกอย่าง อะไรที่จะเป็นประโยชน์ ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์สมมติ สูงขึ้นไปก็มีทั้งประโยชน์ส่วนรวม

มีโอกาสก็ฝากเอาไว้ หลายอย่างที่จะต้องทำในวัดนี้ยังอีกเยอะ อีกเยอะเลยทีเดียว ทั้งทำความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน เราต้องช่วยกัน ห้องส้วมห้องน้ำอย่าไปปล่อยปละละเลย มีเวลาก็เดินไปดู ตรงไหนไม่ดีเราก็ช่วยกันทำเสีย ไม่ใช่ว่าไม่ใช่หน้าที่ของฉัน เป็นหน้าที่ของทุกคน

เราสร้างความขยันให้ติดตามตัวเราไป สร้างความขยัน สร้างความรับผิดชอบ มีความเสียสละไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน บุคคลประเภทนี้ก็จะเข้าถึงธรรมได้เร็วได้ไว ก็ต้องพยายามกันนะ

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง