หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 99 วันที่ 13 ธันวาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 99 วันที่ 13 ธันวาคม 2563
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 99 วันที่ 13 ธันวาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 99
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 ธันวาคม 2563

ญาติโยมท่านใด อยากฝึกหัดปฏิบัติ ตามความเป็นจริงก็ปฏิบัติกันอยู่ทุกคนนั่นแหละ ทำหน้าที่ของสมมติให้ดี แต่ในส่วนลึกๆ การเจริญสติ การเดินปัญญา การแยกรูปแยกนามตรงนี้ ที่พวกเรายังทำกันไม่ต่อเนื่อง ยังไม่คล่องแคล่ว ก็น้อมกายของเราเข้ามาฝึก

การเจริญสติที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ การควบคุมจิต ควบคุมอารมณ์ การสังเกต การวิเคราะห์การแยกรูปแยกนาม อะไรคือส่วนรูป อะไรคือส่วนนาม ว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องความทุกข์ อะไรคือทุกข์

ตอนนี้ทั้งกายก็ทุกข์ ใจก็ทุกข์ ทำไมถึงทุกข์ ท่านให้เจริญสติลงหาเหตุ ต้นเหตุ ชี้เหตุชี้ผล จนใจคลายออกจากขันธ์ห้าเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ แล้วก็เดินปัญญาแยกรูปแยกนามนั่นแหละ ที่ท่านเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูกในอริยมรรคในองค์แปด ถ้าแยกรูปแยกนามไม่ได้ ความเห็นถูกก็ไม่ปรากฎ ถ้าแยกรูปแยกนามได้ ความเห็นถูก เห็นแยกได้ ตามทำความเข้าใจได้ รู้เรื่องได้ รู้ด้วย ถึงด้วย เห็นด้วย ทำความเข้าใจได้ด้วย ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน นั่นแหละเราถึงจะเข้าถึง ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เพียงแค่การรู้ลมหายใจเข้าออก พวกเราก็ยังทำกันไม่ต่อเนื่อง จะลุก จะก้าว จะเดิน ความรู้สึกของการเดินเป็นอย่างไร ก็ไม่ค่อยจะสนใจ ทั้งที่ใจก็ฝักใฝ่ในบุญ อยากจะได้บุญอยากรู้ธรรมอยากเห็นธรรม ความอยากนั่นแหละเป็นตัวปิดกั้นเอาไว้เลยทีเดียว ความเกิดของใจนั่นแหละ อาจจะเกิดอยู่ในบุญในกุศล ในการปฏิบัติในคุณงามความดี แต่ก็ยังหลงอยู่ในส่วนลึกๆ คือความเกิด

ความเกิดคือความหลงอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด พระพุทธองค์ท่านถึงให้เจริญสติเข้าไปลงที่เหตุ ชี้เหตุ ชี้ผล กว่าจะดับความเกิดของใจได้ แต่เวลานี้ใจของเราหลง หลงมาเกิดอยู่ในภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้าคือร่างกายของเรานี่ พระพุทธองค์ท่านถึงให้เจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ว่ากายของเรามีอะไรบ้าง ที่เป็นกองที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์ กิเลสหยาบเป็นอย่างไรกิเลสละเอียดเป็นอย่างไร มลทินเป็นอย่างไร นิวรณ์เป็นอย่างไร วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาภูมิ เราต้องศึกษาให้ละเอียด

เป็นชาวพุทธเราต้องรู้เรื่องคำสอนของพระพุทธองค์ ท่านสอนเรื่องหลักของอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐซึ่งมีอยู่ในกายของเรา ความเกิดความดับ การแยกรูปแยกนาม การทำความเข้าใจเราก็ละกิเลสออกจากใจของเราให้หมดจด ทำใจให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ใจเดิมของทุกคนนั้นสะอาดบริสุทธิ์ แต่ความไม่รู้ทำให้หลง ทำให้เกิด เป็นทาสของกิเลส ก็มีกันทุกคนจะมีมากมีน้อยเราก็มาค่อยขัดเกลา

ที่เรามาวัดนี่ ก็มาขัดเกลากิเลส จะปฏิบัติธรรมคร่ำเคร่งมากมายถึงขนาดไหน จุดมุ่งหมายก็เพื่อละกิเลสออกจากใจของเรา เพื่อที่จะคลายความหลง ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง อยู่ที่ไหนก็จะเป็นวัด ทำกายให้เป็นวัด ทำใจให้เป็นพระ เจริญสติเข้าไปเยี่ยมพระบ่อยๆ หมั่นพร่ำสอนตัวเรา ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นเขาสอน เราสอนตัวเรา เจริญสติเป็นที่พึ่งของใจ ที่ท่านว่าตนเป็นที่พึ่งของตน เรายังไม่เข้าใจก็แสวงหาสถานที่ แสวงหาครูบาอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจแล้ว สติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมานั่นแหละเป็นครูบาอาจารย์คอยตรวจสอบใจของเรา รวบรวมใจของเราได้อยู่ตลอดเวลา บุคคลเช่นนี้แหละจะไปถึงฝั่งได้เร็วได้ไว

บุญเราก็ไม่ทิ้ง บุญสมมติเราก็ไม่ทิ้ง เราก็พยายามทำตามหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด มีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละหรือไม่ มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปหรือเปล่ามีความขยัน รู้จักการสังเกต รู้จักการวิเคราะห์ รู้จักการให้ อบรมใจของเราอยู่ตลอดเวลา ใจของเรามีความแข็งกร้าว เราก็ละความแข็งกร้าว สร้างความอ่อนน้อมถ่อมตน เรามีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองหรือไม่ มีสัจจะกับตัวเองหรือเปล่า เราก็ต้องพยายามกัน ไม่เข้าใจวันนี้ วันพรุ่งนี้เราก็ต้องเข้าใจ ตราบใดที่เรายังดำเนินอยู่ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ อย่าไปเกียจคร้าน ต้องสร้างความขยันหมั่นเพียรให้มีให้เกิดขึ้น

ไม่ว่ากับพระ หรือว่าฆราวาส ญาติโยม ทุกเรื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้น จนกระทั่งถึงเวลานี้และก็เดี๋ยวนี้เวลาจะขบจะฉัน เราก็รู้จักวิเคราะห์พิจารณา กายของเราหิวหรือว่าใจเกิดความอยาก ซึ่งท่านเรียกว่า แยกความอยากความหิวนั่นแหละ กายหิวก็รับรู้

ใจเกิดความอยากเราก็รู้จักดับ ไปเอาตั้งแต่ธรรม แต่ไม่รู้จักธรรม ไปเจริญสติ ไม่รู้จักเอาสติปัญญาไปใช้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราก็ต้องพยายามทำให้ได้ทุกอย่าง ให้เป็นทุกอย่างด้วยความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบบอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น สอนตัวเราให้ได้ไม่ต้องไปจำเป็นให้คนอื่นเขาสอนหรอก เราสอนเราอยู่ตลอดเวลา พูดคำสองคำรู้วิธีการแนวทางแล้วก็ไปรีบทำ

กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ การเกิด การดับ การแยก การคลายเป็นอย่างนี้ เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ระลึกนึกถึงคุณของท่าน ว่าจะได้ตอบแทนคุณของท่าน

ที่สร้างพระมหาเจดีย์ก็เพราะว่าตอบแทนองค์พระพุทธเจ้า ระลึกนึกถึงท่าน ตั้งองค์แทนท่านขึ้นมา คำสอนของท่านก็ยังอยู่ หลักอริยสัจก็ยังอยู่ เราต้องรู้เรื่องความเป็นจริงในกายของเรา เราถึงจะเข้าถึงคำสอนที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าเป็นชาวพุทธเฉพาะในใบกระดาษ มันต้องเป็นชาวพุทธเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ตลอดเวลา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง