หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 49 วันที่ 9 มิถุนายน 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 49 วันที่ 9 มิถุนายน 2563
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 49 วันที่ 9 มิถุนายน 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 49
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 9 มิถุนายน 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจนตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง หรือว่าได้เจริญสติแล้วหรือยัง นั่งตามสบายวางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย

ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ อย่าไปบังคับลมหายใจการสูดลมหายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจยาวๆ กายก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรา นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ หายใจเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่

พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน แล้วก็ฝึกให้ต่อเนื่อง ความสืบต่อ หรือว่าต่อเนื่องนั่นแหละ ท่านเรียกว่า ’สติสัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม อันนี้เป็นการเจริญสติลงที่กายของเรา

ถ้าเรามีความรู้ตัวทั่วพร้อม ใจปกติเราก็รู้ว่าปกติ ใจเกิดส่งออกไปภายนอกเราก็จะรู้เท่ารู้ทันแล้วก็ทำความเข้าใจ ใจกับอาการของใจ หรือว่าอาการของขันธ์ห้า เขาเคลื่อนเข้าไปรวมกันได้อย่างไร ความเกิดของใจที่ส่งออกไปภายนอกเป็นเรื่องอะไร อันนี้เป็นส่วนของรูป อันนี้เป็นส่วนของนาม ถ้าเราไปนึกไปคิดเอา เขาก็เรียกว่า ‘ปัญญาโลกีย์’

เราต้องพยายามเจริญสติเข้าไปรู้เท่ารู้ทัน รู้จักทำความเข้าใจ แล้วก็รู้กันรู้แก้ รู้จักอบรมใจของเราตลอดเวลา ใจของเราทำหน้าที่อย่างนี้ กายทำหน้าที่อย่างนี้ ทุกอย่างเขาทำหน้าที่ของเขาอยู่แต่เวลานี้เรารวมกันไปหมดเป็นก้อน คิดก็รู้ทำก็รู้ ความเกิดนั่นแหละ คือ ความหลงอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เราถึงได้มาเจริญสติเข้าไปอบรมใจ หนุนกำลังสติไปเกิดแทน ทุกเรื่องในชีวิต

แต่ละวันตื่นขึ้นมา เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความรับผิดชอบ จิตใจของเรามีความอ่อนโยนอ่อนน้อม มีความกตัญญูกตเวที มีความเสียสละหรือไม่

อันนี้ส่วนรูป อันนี้ส่วนนาม อันนี้สมมติ อันนี้วิมุตติ ทุกคนก็ปรารถนาหาทางหยุด หาทางดับทุกข์หาทางหลุดพ้น ถ้าเราไม่รู้จักจุดปล่อยจุดวาง เราก็วางไม่ได้หรอก เราต้องรู้จักจุดปล่อยจุดวางคือใจต้องคลายออกจากความคิด หรือว่า ฝแยกรูปแยกนาม สัมมาทิฏฐิถึงจะเปิดทางให้

ถึงเรายังแยกรูปแยกนามไม่ได้ จิตใจน้อมอยู่ในกองบุญกองกุศล หมั่นฝักใฝ่ หมั่นสร้างอานิสงส์บุญบารมี ก็เป็นการสร้างตบะบารมีให้แก่ตัวเรา สักวันนึงเราก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน

เรารู้จักเจริญสติแล้วก็เข้าไปทำความเข้าใจ รู้จักจำแนกแจกแจงแยกแยะ ในกายของเรานี้มีอะไรดีๆ อีกเยอะ ยิ่งฝึกไปเท่าไหร่ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะ เราก็ยิ่งทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน เอาไปใช้กับชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกระทั่งนอนหลับ จนกระทั่งหมดลมหายใจนั่นแหละ

ถ้าเรารู้จักจุดยืนของชีวิตของเราก็ต้องพยายาม ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ พยายามแก้ไขใหม่ปรับปรุงตัวเราใหม่ งานการสมมติเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ยืนเดินนั่งนอน กินอยู่ขับถ่าย หมั่นพร่ำสอนตัวเราอยู่ตลอดเวลา

บุคคลผู้มีสติมีปัญญาฟังนิดเดียว การเจริญสติเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ การเกิดของใจทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงเป็นทาสของกิเลส เราก็พยายามหมั่นขัดเกลา หมั่นอบรมอยู่ตลอดเวลา ถึงวาระถึงเวลาเราก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน

สร้างความรู้สึกรับรู้ การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง