หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 28 วันที่ 29 เมษายน 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 28 วันที่ 29 เมษายน 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 28 วันที่ 29 เมษายน 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 28
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 29 เมษายน 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เพียงแค่การสร้างการเจริญ พวกเรามีแล้วหรือยัง ศรัทธานั้นมีกันทุกคน ศรัทธาฝักใฝ่ในบุญในกุศลอยากจะทำบุญ ตรงนี้มีกันเป็นพื้นฐาน แต่การเจริญสติที่จะเข้าไปอบรมใจ ไปแก้ไขใจของเรา ตรงนี้อาจจะมีบ้างกระท่อนกระแท่น ยังเอาไปใช้การใช้งานไม่ได้

เรื่องจิตนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าเราไม่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ ไม่ขยันหมั่นทำความเข้าใจให้รู้ตั้งแต่ต้นเหตุ ตั้งแต่ต้นเหตุ ใจที่ปกติเป็นอย่างไร การเกิด การก่อตัว หรือว่าการปรุงแต่งของใจส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างไร อาการของขันธ์ห้าหรือว่าความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิด เขาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อะไรคือส่วนของรูป อะไรคือส่วนของนาม ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นเหตุ แล้วก็รู้จักแก้ไขจิตใจของเราตลอดเวลา มันก็ยากยากที่จะเข้าถึง เพราะว่ากิเลสมารต่างๆเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ

กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มลทินต่างๆ ยิ่งฝึกไปเท่าไหร่ ถ้าเรามีกำลังสติเพียงพอก็ยิ่งจะเห็นเยอะ ยิ่งฝึกไปเท่าไหร่ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่เราก็พยายามทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล ชี้เหตุชี้ผล ตามทำความเข้าใจว่าอะไรควรละอะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน อันนี้สำหรับบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรที่ถูกทางถูกที่ ถ้าขยันไม่ถูกที่ ก็ยากที่จะรู้ก็ยากที่จะเข้าถึง

แล้วก็พยายามดำเนินจิตใจของเราให้เบาบางจากกิเลส ใจของเรามีความโลภเราก็พยายามละความโลภ ด้วยการให้ด้วยการอนุเคราะห์ ด้วยการช่วยเหลือ ใจของเรามีความโกรธ เราก็พยายามดับความโกรธด้วยการให้อภัยอโหสิกรรม เรามีความเกียจคร้าน เพียงแค่ระดับสมมติ ระดับสมมติความเป็นอยู่ ปัจจัยในการดำเนินพื้นฐาน เพียงแค่ขั้นพื้นฐานสมมติของเรา เราทำหน้าที่ของเราได้ดีแล้วหรือยัง เรามีความขยันหมั่นเพียร รู้จักฝักใฝ่ รู้จักสนใจ รู้จักแก้ไข สิ่งไหนไม่ดีเราก็ละ สิ่งไหนที่มันดีนำประโยชน์มาให้ เราก็พยายามเจริญ พยายามทำให้มีให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เอาตั้งแต่งอมืองอเท้า ก็ขอให้กูอยู่ดีมีความสุข สิ่งรอบข้างจะเป็นอย่างไร ใครคนอื่นจะเป็นอย่างไร สถานที่จะเป็นอย่างไรอย่างงั้นใช้การไม่ได้!

เรามาอาศัยโลก อาศัยสมมติอยู่ มาอาศัยสถานที่อยู่ สถานที่ก็ไม่ใช่เป็นของคนใดคนหนึ่ง เป็นสมบัติของส่วนกลางเป็นสมบัติของโลก เรามีโอกาส เราได้มาอยู่ ณ สถานที่ตรงนี้ ทำอย่างไรถึงจะทำให้สถานที่ของเราน่าอยู่ น่าอาศัย น่ารื่นรมย์ ทำให้สถานที่เป็นแหล่งบุญแหล่งกุศล เป็นสิริมงคล ไม่ใช่ว่าจะมาเอาตั้งแต่งอมืองอเท้า เอาแต่ความเกียจคร้าน สร้างแต่ปัญหาให้ อย่างงั้นก็หนักตัวเอง หนักคนอื่น หนักสถานที่ ก็ต้องแก้ไข รีบแก้ไข ถ้ามีอยู่ที่ใครก็รีบแก้ไข

เรามีความเกียจคร้านก็ละความเกียจคร้านออกไปเสีย รู้จักฝักใฝ่รู้จักสนใจ รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สถานที่ของเราก็อยู่ดีมีความสุข ใครไปใครมาก็มีความสุข เราอยู่ก็มีความสุข เราจากไปคนรุ่นหลังก็จะได้สร้างสานต่อ ไม่ได้ลำบากก็ยิ่งจะมีตั้งแต่เป็นกองบุญอันยิ่งใหญ่ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ส่วนหลักของการปฎิบัติ การเจริญสติหลวงพ่อก็เล่าอยู่ทุกวัน พูดอยู่ทุกวัน สร้างความรู้ตัวที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ จนเอาไปอบรมใจของเราได้ สังเกตใจ รู้ลักษณะของใจของเราได้ ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างนี้ รู้ไม่ทันต้นเหตุเราก็รู้จักดับ ไม่ใช่ว่าไปนึกเอาไปคิดเอา จะไปหวังเอาตั้งแต่ผลแต่ไม่เคยวิเคราะห์ต้น ว่าเราจะดำเนินอย่างไร ไปอย่างไร

ถึงจะเก่งกาจมาถึงขนาดไหน ปัญญามากมายถึงขนาดไหน เราก็ต้องวางปัญญาโลกีย์ปัญญาโลกๆ น้อมนำเอาปัญญาของพระพุทธองค์มาวิเคราะห์ มาสังเกต มาทำความเข้าใจ จนใจคลายออก แยกรูปแยกนามได้ สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกถึงจะเปิดทางให้ เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ คำว่า 'อัตตา' เป็นอย่างไร 'อนัตตา' เป็นอย่างไร'อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา'ในกายของเราเป็นอย่างไร กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเป็นอย่างไร เราต้องรู้ด้วย เห็นด้วยทำความเข้าใจได้ด้วย ชี้เหตุชี้ผลให้ได้ด้วย ท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแบบงมงาย

ส่วนมากก็ปฏิบัติอยู่ในระดับของการทำบุญให้ทาน ตรงนี้มีกันเป็นพื้นฐาน แต่การทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล อะไรคือกองรูป อะไรคือกองนาม อะไรคือกองของขันธ์ห้า กองที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์ที่มันไม่เที่ยง มันเกิดๆ ดับๆ เป็นอย่างไร ตรงนี้ขาดการทำความเข้าใจกันมากเลยทีเดียว เพราะว่าความเพียรไม่มีเอาตั้งแต่เล่นสนุกสนาน ปัญญาโลกีย์ปัญญาโลก ปัญญากิเลสเขาปิดกั้นเอาไว้หมด ถึงอย่างน้อยๆ ก็ให้อยู่ในกองบุญเอาไว้ หมั่นสร้างบุญสร้างกุศลเอาไว้ ทำมากก็เป็นของเรา ทำน้อยก็เป็นของเราเห็นคนอื่นทำ เราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วย

การปฏิบัติกาย การปฎิบัติใจ เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ถึงจะถึงจุดหมายปลายทางได้ กายของเราเป็นอย่างไร เรารู้จักรักษากาย กายของเราก็ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น วาจาของเราก็ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ใจของเราก็ไม่อคติไม่เพ่งโทษ ไม่มองโลกในแง่ร้าย สูงขึ้นไปก็ดับความเกิดของใจนู่น กว่าจะสะสางออกไปได้มันก็ต้องใช้ความเพียรเป็นเลิศ แล้วก็ดำเนินตามวิถีทางที่ถูกต้อง ให้รู้ให้เห็น ให้ทำความเข้าใจ แล้วก็ค่อยละ ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บมันจะได้ปั๊บ เราก็ค่อยสร้างสะสมกันมา

ทุกคนก็มีบุญกันหมดนั่นแหละ สร้างสะสมกันมาดีอยู่ในระดับหนึ่ง ถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทีนี้เราก็มาสร้างกำไรในชีวิต หากำไรในกายก้อนนี้ของเราให้ได้ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ หมดลมหายใจก็มีแต่เรื่องบุญกับเรื่องบาป ท่านให้ละบาปสร้างบุญ สูงขึ้นไปก็สร้างบุญ สนุกสร้างบุญ ไม่ยึดติดในบุญ ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้น เราก็พลอยได้รับประโยชน์นั้นด้วย คนอื่นมาก็พลอยได้รับประโยชน์นั้นด้วย

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทั้งพระทั้งโยมทั้งฆราวาส มีหน้าที่เหมือนกันหมดนั่นแหละ มีหน้าที่เหมือนกันหมด แต่ต่างเพศต่างภาวะก็ให้รู้จักเคารพกันในทางสมมติ ทำหน้าที่ของแต่ละบุคคลให้ดี จุดหมายปลายทางก็คือไม่ต้องกลับมาเกิดกัน ถึงเกิดก็ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญ

พระเราก็มีอะไรก็ให้รู้จักฝักใฝ่สนใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ การดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่หนักเอาเบาสู้ มีอะไรเราก็ช่วยกัน สถานที่ก็น่าอยู่ อยากจะได้ธรรมชาติ แต่ไม่รู้จักสร้างธรรมชาติขึ้นมา อยากจะไปหาตั้งแต่ธรรมชาติ มันก็ไม่มีหรอก เราต้องทำสมมติของเรานี่แหละให้เป็นธรรมชาติขึ้นมา มีอะไรเราก็ช่วยกันดูแลธรรมชาติภายนอก ธรรมชาติภายในธรรมชาติภายนอกก็คือความเป็นอยู่ในสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อ ธรรมชาติภายในคือใจของเรา เราก็ต้องมองด้วยตาปัญญา รู้เห็นด้วยตาปัญญา ถึงจะมองหาหนทางออกได้ ก็ต้องพยายามกันนะ

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง