หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 18 วันที่ 16 มีนาคม 2563 (2/2)

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 18 วันที่ 16 มีนาคม 2563 (2/2)
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 18 วันที่ 16 มีนาคม 2563 (2/2)
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 18
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 16 มีนาคม 2563 (2/2)

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของตัวเราเองให้ต่อเนื่องกันสักนิดนึงก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย และก็วางใจให้สบายหยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ด้วยการสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆอย่าไปบังคับลมหายใจ อย่าไปฝืนลมหายใจ การสูดลมหายใจยาวๆ กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราย่อมสงบตั้งมั่นขึ้น

ความรู้สึกรับรู้นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ หายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ความรู้สึกรับรู้ตรงนี้แหละ เราพยายามสร้างให้เกิดความเคยชินทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่ายขณะที่เรามีสติรู้กาย ลึกลงไปเราก็จะรู้เท่าทันใจ รู้ลักษณะของใจ รู้การเกิดการดับของใจ รู้การปรุงแต่งของขันธ์ห้า ซึ่งมาปรุงแต่งใจของเรา ถ้าเรารู้ทัน ขันธ์ห้าผุดขึ้นมาใจเคลื่อนเข้าไปรวมใจก็จะคลายออกจากขันธ์ห้าเรียกว่า ‘หงาย’ ภาษาธรรมเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’

นี่แหละความเห็นถูกที่พระพุทธองค์ประกาศ ‘สัมมาทิฐิ’ ความเห็นถูก เห็นการแยก การคลายแล้วเราก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า ‘อัตตากับอนัตตา’ พอแยกได้ ‘ความว่าง’ ก็จะปรากฎขึ้น เราก็จะเห็นความเกิด ความดับ ของขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่าเห็น ‘อนิจจัง’ ความไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เวลาดับไปแล้วก็ความว่างเปล่าเข้ามาปรากฎ ใจของเราไปหลงตรงนี้ ก็เลยหลงยึดมั่นถือมั่น ก็เลยเกิดอัตตา กายก็เลยหนัก ใจก็เลยหนัก อันนี้สำหรับใจคลายออกจากขันธ์ห้า ส่วนกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ซึ่งมีอยู่ที่ใจของเรา เราก็ต้องวิเคราะห์ ชี้เหตุชี้ผล ละกิเลสออกไปอีก

แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีไม่เพียงพอ กำลังสติที่จะไปใช้การใช้งาน มีไม่เพียงพอ เพียงแค่จะดับจะหยุดก็ยังไม่ได้ จะไปแยกไปคลายได้อย่างไร ส่วนมากก็จะเอาตั้งแต่ผล ปฏิบัติก็จะเอาตั้งแต่ผล ไม่ดูที่ต้นเหตุว่าเขาเริ่มยังไง จุดปล่อย จุดวางอยู่ที่ไหน ความรู้ตัวพลั้งเผลอได้ยังไง ถ้าไม่เริ่มต้นคลายทุกสิ่งทุกอย่างออกจากใจของเรา ใจของเราจะบริสุทธิ์ได้ยังไง เราก็ต้องพยายาม

พยายาม ทำได้เท่าไหร่ก็ทำ อย่าว่าไม่ทำ การสร้างสติการสำรวจการทำความเข้าใจ จะได้บ้างไม่ได้บ้างก็พยายามทำ สิ่งพวกนี้แหละจะเป็นอนิสงค์เป็นบุญเป็นทุน เป็นข้าวพกข้าวห่อติดตามตัวเราไป การสร้างบารมีไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมากมายอะไรหรอก ขอให้ใจของเรามีความอดทนมีความเสียสละ มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเรา รู้จักการแก้ไขปรับปรุง รู้จักให้อภัย อโหสิกรรม มองโลกในทางที่ดี คิดดี

กายเป็นอย่างไร วาจาของเราเป็นอย่างไร
รู้จักสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ
วาจาของเราก็ไม่ได้พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด พูดนินทา กายของเราก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนโน้นคนนี้ กายของเราปกติก็คือศีล ศีลคือความปกติ วาจาของเราปกติก็คือศีล เพียงแค่กาย กับวาจา ใจของเราปกติ ก็คือศีลปกติในระดับของสมมติ
ในระดับของวิมุตติ ซึ่งท่านเรียกว่า อธิจิต อธิศีล อธิวินัย วินัย คือการทำความเข้าใจ ให้ใจของเราอยู่ในความปกติ ความปกติแต่ยังไม่ได้คลายจากขันธ์ห้า ถ้าแยกรูปแยกนามคลายจากขันธ์ห้า อันนี้ก็ยังต้องดำเนินขัดเกลากิเลสออกไปอีก

กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มันมีกันทุกวัน แต่ส่วนมากตัวหยาบๆ จะนานๆ ที ถึงจะเกิดให้เห็นบางทีความโลภ ความโกรธ ความทะเยอทะยานอยาก แต่ความคิดตัวละเอียด ตัวเล็กๆ น้อยๆตัวมลทินต่างๆ เราไม่ได้วิเคราะห์ และก็ลึกลงไปก็ ความเกิดของใจ กิเลสตัวละเอียดที่ปิดกั้นตัวใจเอาไว้

ใจนี่ก็แปลก ถ้าไม่ได้ฝึกเขาก็เกิดอยู่อย่างนั้น ถ้าเราฝึกหัดปฏิบัติอยู่บ่อยๆ เขาก็จะเชื่อฟังสติปัญญาของเรา จนกว่าจะอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเรา ชี้เหตุ ชี้ผล เห็นเหตุ เห็นผล ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุ มีผล เหตุผลในทางธรรมก็ความเกิดความดับความแยกความคลาย จะรู้ด้วยการเจริญสติ รู้ลักษณะ หน้าตา อาการ เหตุผลทางสมมติ ทางโลกีย์ โลกธรรมแปด เขาก็เป็นอยู่อย่างนี้ ปัจจัยสี่ สมมติเขาก็เป็นอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องรอบรู้ด้วยปัญญาถึงจะเข้าใจ ก็ต้องพยายามเอานะ

การได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม สติปัญญาทางโลกทุกคนก็มีพอที่จะพิจารณาได้ ก็ค่อยแก้ไขกันไป ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่อยู่ตลอดเวลา ก็จะเป็นผู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน

แต่เวลานี้ความรู้ตัวหรือว่าสติของเรามีไม่เพียงพอ หลวงพ่อถึงย้ำสิ่งพวกนี้อยู่ตลอดเวลา เพียงแค่การเริ่มต้นก็ทำให้ได้ก่อน อย่าไปทะเยอทะยาน ยิ่งอยากเท่าไหร่ก็ยิ่งห่างไกล ท่านถึงบอกให้ละความอยาก ละความหวัง การกระทำให้มี ความรับผิดชอบให้มี สักวันนึงเราก็คงจะมองเห็นหนทางเดิน ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว

สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจน ทำสมองให้โล่ง ทำกายให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง