หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 30

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 30
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 30
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 30
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 เมษายน 2564


มีความสุขกันทุกคน วันนี้ก็เป็นวันขึ้นปีใหม่วันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ปีใหม่เก่า พากันสมาทานศีล เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต


แต่ละวันแต่ละวันผ่านพ้นมา อุปสรรคก็เยอะแยะมากมาย ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งโรคระบาด เห็นว่าได้ยินข่าวทราบข่าว โควิดนี่ระบาดไปทั่วประเทศเลยทีเดียว ก็ให้ระวังอย่าประมาทกัน


ความไม่ประมาทนี้ก็ป้องกัน แต่ถ้าตามหลักของความเป็นจริง ถ้ามีวิบากกรรมต่อกัน มันก็ย่อมอยู่ที่ไหนก็เจอ ถ้าไม่มีวิบากกรรมต่อกัน นั่งหันหลังให้กันอยู่ก็ไม่เป็นไร เราก็อย่าไปวิตกกังวลอะไรมากมาย มันเป็นเรื่องของกรรม ระบาดทั่วประเทศ ทุกจังหวัด แล้วก็ระบาดทั่วโลก ไม่ใช่ว่าเฉพาะประเทศของเราอย่างเดียว คนตายก็เยอะหลายล้าน ไม่ใช่น้อยๆ


ขณะที่ยังมีกำลัง มีลมหายใจ เราพยายามรีบตักตวง สร้างบุญสร้างกุศล สร้างคุณงามความดีเท่าที่เราจะทำได้ หมั่นสำรวจกายสำรวจใจของเรา อะไรที่จะเป็นประโยชน์ อะไรที่จะเป็นบุญ ให้เรารีบทำเลย อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง เพราะว่าความตายนี่มาเยือนตลอดเวลา


ความตายไม่ได้เลือกว่าเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ มารับเอาโลงศพทุกวัน ทุกวัน บางทีตี 2 ตี 3 ก็มา ไม่ว่าเด็ก เห็นว่าเมื่อวันวานนี่ก็เป็นเด็กจากนครพนม พาลูกมารักษาที่โรงพยาบาล เด็กไม่ถึงเดือนหรือ 2 เดือน มารักษาแล้วก็ไม่มีเงินแม้แต่กระทั่งจะกลับบ้าน ก็มาขอความอนุเคราะห์ เมื่อคืนนี้ก็ตี 3 เห็นว่าทางบ้านหนองเบ็ญ ตี 3 มารับเอา


ที่ว่าไม่ได้เลือกกาลเลือกเวลา ความตาย เพราะว่าทุกคนเกิดมาก็แขวนความตายมาด้วย ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไร ถ้าถึงเวลาแล้วเอาอะไรมาฉุดมารั้งเอาไว้ก็ไม่อยู่ นี่แหละพวกเราอย่าพากันประมาท


มีโอกาสแล้วก็ให้รีบสร้างบุญสร้างกุศล ตั้งแต่ความคิด คิดในทางที่ดี มองโลกในทางที่ดี การกระทำของเราให้ถึงพร้อม ถึงจะเกิดประโยชน์มากมายมหาศาล ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ในโลกนี้ เราทำอยู่ในปัจจุบันดี ก็จะส่งผลถึงในอนาคตได้ดี ก็อย่าพากันประมาท ไม่ว่าอยู่ที่ไหน โอกาสเปิด กาลเวลาเปิด สถานที่เปิด ก็ให้รีบทำ


ต่อไปคุณหมอก็จะได้พาสมาทานศีล ไหว้พระ รับศีลเพื่อความเป็นสิริมงคล ในวาระขึ้นปีใหม่ของไทย


มีความสุขกันทุกคน ดูดีๆ นะพระเราชีเรา อย่าพากันปล่อยปละละเลย เวลาจะขบจะฉันนี่แหละสำคัญ เราดู พยายามรู้ รู้ว่ากายเราเกิดความหิว หรือว่าใจเกิดความอยาก หรือว่าใจปกติ


ความเกิด ความอยากเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละให้เราพยายามดับ พยายามหยุด ความคิดก็เกิดตรงที่มันก่อตัวความอยาก ความอยากก็เกิดความคิดปรุงแต่ง ยิ่งกายของเราหิว ใจก็จะเกิดความอยากได้เร็วได้ไว เราก็รู้จักดับ


ไม่ใช่ว่าเราจะไปดับเฉพาะกิเลสตัวใหญ่ๆ ความโลภ ความโกรธตัวใหญ่ๆ ไอ้ตัวเล็กๆ คนเรามองข้ามความอยาก อยากในอาหาร อยากในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ความยินดี ให้เรารู้จักพิจารณา ไม่ใช่ว่าไปปฏิบัติธรรม จะเอาเฉพาะเวลาไปนั่งไปเดิน ทุกอิริยาบถตั้งแต่ตื่นขึ้น จนกระทั่งถึงเวลาขบฉัน ดูทุกเวลา ดูทุกครั้ง ดูทุกเรื่อง


กายเราหิวหรือว่าใจเกิดความอยาก ใจเกิดความอยากเราก็รู้จักหยุด รู้จักดับ เอาสติปัญญาของเราเข้าไปเอา เขาไปพิจารณา กะประมาณในการขบฉันของตัวเรา อันโน้นก็อยาก อันนี้ก็อยาก อันโน้นก็อร่อย อันนี้ก็อร่อย เอาน้อยๆ ก็กลัวไม่อิ่ม มันบอกว่าเอาเยอะๆ บอกว่างั้น


เราต้องมองซ้ายมองขวา มองบนมองล่าง มองกลางใจของเรา อาหารแต่ละชิ้นแต่ละส่วน เรากะประมาณในการขบฉันของเราให้พอดี เอาเยอะมันก็เหลือ เอาไปทิ้ง เอาน้อยก็ไม่อิ่ม เราก็กะประมาณให้พอดีๆ ทุกเรื่อง จะเอา จะมี จะเป็น ไม่ใช่ว่าไม่ให้ทาน ให้เอาได้อยู่แต่ไม่เอาด้วยความอยาก


ทุกเรื่องนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าเอาตามอำเภอใจ เอาตามอำนาจกิเลสของตัวเอง ไอ้กิเลสตัวเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละสำคัญ ยิ่งอดอาหารมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเห็นความอยากมากเป็นทวีคูณ อยากอยากในอาหาร ต่อไปข้างหน้าก็อยากมั่งอยากมี อยากร่ำอยากรวย ถ้าอยากร่ำอยากรวยเราก็ขยัน ขยันหมั่นเพียรด้วยสติด้วยปัญญา รู้จักหารู้จักใช้ รู้จักบริหารด้วยสติ ด้วยปัญญาของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะมีตั้งแต่ความเจริญรุ่งเรืองด้วยเหตุด้วยผล แต่ไม่ให้ใจของเราเข้าไปหลงเข้าไปยึด


แต่ละวันตื่นขึ้นมาก็รีบสำรวจใจของเราเป็นหลัก แต่เวลานี้เรารู้ใจอยู่ แต่เราดับความเกิดของใจไม่ได้ ดับการปรุงแต่งของใจไม่ได้ ก็ขอให้ปรุงแต่งอยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ ไม่ได้สูญหาย


ส่วนกิเลสนั้นก็ค่อยละเอา กิเลสเกิดขึ้นเมื่อไหร่เราก็รู้จักละ รู้จักคลายออกจากใจของเรา ให้ใจของเราเบาบางจากกิเลส ถึงวาระเวลาใจก็จะสะอาดบริสุทธิ์ ดับความเกิดได้เร็วได้ไวขึ้น


แต่ละวันตื่นขึ้นมาเรามีความตระหนี่เหนียวแน่น เราก็ละความตระหนี่เหนียวแน่น เรารู้จักให้ รู้จักเอาออก รู้จักช่วยเหลือ รู้จักฝักใฝ่สนใจ ไม่ใช่จะเอาตั้งแต่งอมมืองอเท้า เอาความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ถ้าความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ครอบงำพระก็ไม่ดี ครอบงำชีก็ไม่ดี ครอบงำฆราวาสก็ไม่ดี ไปอยู่ที่ไหนก็มีตั้งแต่ความลำบาก


เราจงพยายามสร้างความขยันหมั่นเพียร เพียงแค่สมมติก็ขยันหมั่นเพียรให้เต็มที่ ทางด้านวิมุตติทางด้านจิตใจ ก็ขยันหมั่นเพียรในการขัดเกลากิเลสเอาออก มันก็จะถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วได้ไว


ถ้าเราไปเอาตั้งแต่งอมืองอเท้า สร้างความเกียจคร้าน สะสมความเกียจคร้าน ครั้งหนึ่ง สองครั้ง ก็มากขึ้นมากๆๆ เราก็ขัดเกลาเอาไม่ออกเหมือนกับดินพอกหางหมู ถ้าเราเสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจ กายของเราเราก็อนุเคราะห์ช่วยเหลือ ฝักใฝ่สนใจ ยังสมมติให้เกิดประโยชน์ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล มันก็ได้ประโยชน์ การปล่อยวางก็จะไปได้เร็วได้ไวขึ้น


รู้จักทำความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ คำว่า 'อัตตา อนัตตา' แยกรูปแยกนามได้ถึงจะเข้าใจคำว่า อัตตา อนัตตา เห็นการเกิดการดับของขันธ์ 5 ได้ เห็นการเกิดการดับของใจได้ ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ เราก็จะเข้าใจในคำว่าไม่เที่ยง อนัตตา คือความว่างเปล่า


ถ้าเราแยกรูปแยกนามได้ เราถึงจะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ เห็นการเกิดการดับของใจ ของขันธ์ 5 เราก็จะเข้าใจอริยสัจ 4 ที่เกิดขึ้นในกายของเราได้ตลอดเวลา เราเห็นอาการของความคิดที่เกิดจากใจ เกิดจากขันธ์ 5 ได้ เป็นกองเป็นขันธ์ เราจะเข้าใจในขันธ์ 5 ว่าเป็นกองเป็นขันธ์ได้อย่างไร


เราละกิเลสหยาบ กิเลสละเอียดได้ เราถึงจะเข้าใจในคำว่า 'วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาภูมิ' ละกิเลสได้ระดับไหน ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ ว่าใจของเราอยู่ในระดับไหน เราถึงจะได้เข้าใจว่า ใจของเราอยู่ในขั้นโสดาบัน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล นี่ความหมายของภาษาธรรม

เข้าใจคำว่าอนาคามิมรรค อนาคามิผล สกิทาคา อนาคา มีที่ภาษาธรรมะท่านบ่งบอกเอาไว้ จนใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ อยู่ในความว่าง ความบริสุทธิ์หลุดพ้น เราถึงจะเข้าใจคำว่า 'นิพพาน' เราถึงจะเข้าใจว่า 'ความว่าง ' ใจของเราอยู่ในวิหารธรรมคือความว่าง คือความว่าง ว่างจากการเกิด ว่างจะกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น


แต่เวลานี้ใจของเรายังเกิดอยู่ ยังปิดกั้นตัวเองอยู่ เพียงแค่กำลังสติของเราก็ยังมีไม่เพียงพอ กระท่อนกระแท่นก็เลยยากที่จะรู้ทรัพย์ตรงนี้ แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ไม่เหลือวิสัย ก็พยายามค่อยสร้างสะสมคุณงามความดี ค่อยสร้างบุญสร้างกุศลไปเรื่อยๆ


การทำบุญให้ทาน ตั้งแต่ทาน ทานเพื่ออะไร เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสให้จิตใจของเราเบาบางจากกิเลส ศีลเราก็ต้องพยายามเข้าใจถึงความหมายนั้นๆ คำว่า 'ศีล' ก็คือความปกติ ปกติของกาย กายของเราก็ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนโน้นคนนี้ ปกติของวาจา วาจาเราก็ไม่ได้ไปพูดส่อเสีย อคติเพ่งโทษ ไปพูดว่าคนโน้นคนนี้


ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาก็รู้ รู้ใจ รู้แจ้งแทงตลอด เห็นการเกิดการดับ รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเรา รู้เรื่องอัตตา อนัตตาในกายของเรา รู้เรื่องการละกิเลส การขัดเกลากิเลส เราก็จะเข้าถึงความหมายในสิ่งที่พระพุทธองค์ท่านได้ทรงสอนเอาไว้ เราก็จะระลึกนึกถึงคุณของท่าน ว่าสมัยก่อนหลายร้อยหลายพันปี ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านถึงได้ค้นพบตรงนี้ แล้วก็น้อมนำมาเปิดเผย เพราะว่าเป็นสัจธรรม ความจริงอันประเสริฐ ท่านถึงว่าอริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ หนทาง แนวทาง ท่านก็ได้บัญญัติเอาไว้คืออริยมรรคในองค์ 8 สัมมาทิฏฐิข้อแรก ความเห็นถูก เห็นถูกในหลักธรรม ก็คือแยกรูปแยกนาม แยกรูปแยกนามได้ ใจของเราหงายขึ้นมา ได้เมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่า 'สัมมาทิฏฐิ' อันนี้เพียงแค่เริ่มต้น เริ่มต้นความเห็นถูก


ถ้าเราตามดู ตามรู้ ตามทำความเข้าใจ แล้วก็รู้จักละ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก การงานชอบ ดำริชอบ พูดจาชอบ สมาธิชอบ ก็จะตามมาหมด หาความเป็นกลาง ความถูกต้อง ไม่เข้าข้างตัวเอง เข้าข้างคนอื่น นั่นแหละคือความเป็นกลาง


ส่วนมากก็มีตั้งแต่เรื่องของคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ เรื่องของตัวเราไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่ ท่านถึงบอกว่า ดูเราให้เป็น ใช้เราให้เป็น ทำเรื่องของเราให้มันจบ ส่วนของคนอื่นก็เป็นของคนอื่น เห็นคนอื่นได้ดี เราก็อนุโมทนาสาธุด้วย เห็นคนอื่นไม่ดี เราก็ไม่อคติไม่เพ่งโทษ พอช่วยเหลือได้เราก็ช่วย ช่วยเหลือไม่ได้เราก็อุเบกขา ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย


จงพยายามสร้างความขยันหมั่นเพียร ยิ่งการฝึกหัดปฏิบัติใจ ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ มีความเสียสละเป็นเลิศทรู้จักฝักใฝ่รู้จักสนใจ อย่าไปเที่ยวให้คนอื่นเขาบังคับ จงบังคับตัวเรา แก้ไขตัวเรา เพ่งโทษตัวเราอยู่ตลอดเวลา ผิดพลาดแก้ไขใหม่ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่อยู่ตลอดเวลา ให้ดูเรา รู้เรา อยู่ตลอดเวลา สักวันหนึ่งเราก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางกัน ก็ต้องพยายาม


ขอให้ทุกคนจงไหว้พระพร้อมๆ กัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง