หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 20

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 20
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 20
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 20
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 28 มีนาคม 2564


มีความสุขกับทุกคน วันนี้ก็เป็นวันพระ ก็พากันสมาทานศีลกันเสียก่อน มาสำรวจตัวเรา มาสำรวจกาย สำรวจวาจา สำรวจใจของเรา อะไรที่ขาดตกบกพร่อง เราก็มาสมาทาน แก้ไข ปรับปรุง ปรับปรุงตัวเรา ปรับปรุงกายวาจาใจของเรา นั่นแหละเขาเรียกว่า ทำความเข้าใจกับชีวิตของเรา อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง


ตามความเป็นจริงศีลก็มีกันทุกคน คือความปกติ ปกติของกาย ของวาจา ของใจ เราทำอย่างไรถึงจะรักษาความปกตินี้ได้ตลอด เราก็มาวิเคราะห์ อบรมบ่อยๆ ตนเป็นที่พึ่งของตน แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถตั้งแต่ตื่นขึ้น จนกระทั่งนอนหลับ จนกระทั่งหมดลมหายใจ


ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เราก็จะอยู่กับสมมติอย่างมีความสุข สุขทางโลก สุขทางธรรม ธรรมกับโลกก็อยู่ด้วยกัน สมมติกับวิมุตติก็อยู่ด้วยกัน จิตกับกายก็อาศัยกันอยู่ แต่เราเหมารวมกันเป็นก้อน เป็นกองเป็นก้อน ขาดการจำแนกแจกแจง ก็เลยไม่รู้ความเป็นจริง ก็รู้ความเป็นจริงอยู่ในระดับของสมมุติ แต่ในหลักธรรมเราต้องรู้จักจำแนกแจกแจง แยก วิเคราะห์ว่าเขาอยู่ด้วยกันอย่างไร ตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่ ก็ให้อยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้


มีโอกาส ยังมีกำลัง มีลมหายใจ ก็รีบตักตวงสร้างบุญสร้างกุศลในกายก้อนนี้ให้ได้ ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ตามแนวทางของพระพุทธองค์


ท่านสอนเรื่องชีวิต สอนเรื่องความเป็นจริง สอนเรื่องความทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ วิธีการดับทุกข์ คือหลักของอริยสัจ 4 เราต้องทำให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา การเดินปัญญา แยกรูปแยกนาม แยกรูปแยกนามได้ท่านถึงเรียกว่า 'สัมมาทิฏฐิ' ความเห็นถูก เห็นถูกแล้วก็ตามทำความเข้าใจ เราก็จะรู้เรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตาในกายของเรา ว่าในกายของเรานี้มีอะไรบ้าง ที่ท่านเรียกว่าธาตุ 4 ขันธ์ 5 ซึ่งประกอบกันเข้า มีหนังห่อหุ้มอยู่


อยากจะรู้ความเป็นจริง ก็ต้องเจริญสติลงที่กายของเรา ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล เห็นการแยกการคลาย การเกิดการดับ เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ว่าความจริงตรงนี้มีอยู่เราก็จะระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธองค์ ว่าสมัยหลายร้อยหลายพันปี ท่านยังมีอยู่ ถ้าไม่มีท่านก็คงไม่ค้นพบตรงนี้


แต่ทำความเป็นจริงนั้น ธรรมก็มีอยู่ประจำโลก พระพุทธองค์ได้มาค้นพบ ก็เอามาเปิดเผยจำแนกแจกแจง วิธีการ แนวทาง เพื่อที่จะเข้าถึงทรัพย์ตรงนี้ เราก็มองเห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อนพระพุทธองค์มองเห็นมีตั้งแต่ความว่างเปล่า อนัตตา ความว่างเปล่า เราก็ต้องดูรู้ให้เห็นความเป็นจริงเราถึงจะเข้าถึงทรัพย์ตรงนี้ หมดความสงสัย หมดความลังเล


การฝึกหัดปฏิบัติทำความเข้าใจกับชีวิตของเรา เราต้องเป็นคนขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ ถ้ามีตั้งแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ เกียจคร้านระดับสมมติก็ลำบาก เกียจคร้านในการขัดเกลากิเลสก็ลำบาก เกียจคร้านในการทำความเข้าใจ มันก็มีตั้งแต่หมักหมม กายก็หนัก ใจก็หนัก หนักตัวเอง หนักคนอื่น หนักสถานที่หนัก หนักทุกอย่างถ้าไม่รู้เรื่องการแยกรูปแยกนาม หรือไม่รู้เรื่อง ชีวิตของเรา


บอกตัวเองไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็น ก็ต้องพยายามฝึกหัดปฏิบัติให้รู้ จำแนกแจกแจงว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็รวมกันอยู่นี่แหล่ะ อยู่ในนกายก้อนนี้แหละ กายทำหน้าที่อย่างไร จิตวิญญาณทำหน้าที่อย่างไร ให้รีบตักตัวสร้างบุญสร้างกุศล ให้มีให้เกิดขึ้นในกายก้อนนี้ให้ได้ ขณะที่เรายังมีกำลัง ยังมีลมหายใจ


ถ้าเราปรับปรุงตัวเราไม่ได้ แก้ไขตัวเราไม่ได้ บอกตัวเองไม่ได้ มันก็ไม่มีใครที่จะบอกเราได้หรอก สอนเราได้หรอก นอกจากตัวของเรา แต่คำสอนของพระพุทธองค์นั้น ได้ค้นพบมาเปิดเผย ชี้เหตุชี้ผล จำแนกแจกแจง พวกเราจะปฏิบัติตามคำสอนให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเราได้หรือไม่ ตรงนี้แหละสำคัญ


ไม่ต้องไปหาที่ไหนหรอกมหาธรรมะก็หาที่กายหาที่ใจของเรานี่แหละ การไปศึกษาที่โน่นที่นี่ก็เพื่อที่จะไปศึกษาหาแนวทาง แล้วก็มาปฏิบัติ ไปที่โน่นบ้างที่นี่บ้างก็เป็นสิ่งที่ดี ตราบใดที่เรายังดำเนินไม่ถึงจุดหมาย เหมือนกับการปลูกผลหมากรากไม้เราก็หมั่นดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยเขาก็ค่อยเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงเวลาเขาก็จะออกดอกออกผลให้เรา


การปฏิบัติใจก็เหมือนกัน แต่ละวันเราละกิเลสได้ระดับไหน ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ จิตใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญูกตเวที มีความเสียสละ มีความกล้าหาญอาจหาญหรือไม่ เราละความตระหนี่เหนียวแน่นได้หรือไม่

ดูใจของเรามีความอิจฉาริษยาหรือเปล่า รู้จักสำรวมกายวาจาของเรา มีสัจจะกับตัวเอง สิ่งพวกนี้เป็นตบะบารมีทั้งนั้น ที่จะทำให้จิตใจของเราเบาบางจากกิเลสลงไปได้ ก็ต้องพยายาม อย่าพลาดกันปล่อยวันเวลาทิ้ง ไม่ใช่ว่ามาวัดแล้วถึงจะได้มาปฏิบัติ อันนี้เป็นเพียงเสี้ยว


ตามความเป็นจริงทุกคนก็ปฏิบัติธรรมกันอยู่ตลอดเวลา จะปฏิบัติธรรมระดับของสมมุติให้ถูกต้อง ส่วนระดับวิมุตติใจหลุดพ้นนั้น เราต้องมาเจริญสติให้ต่อเนื่องให้เข้มแข็ง จนรู้เท่ารู้ทัน รู้กัน รู้แก้ รู้เหตุ รู้ผล แล้วก็ทำความเข้าใจว่าอะไรควรละอะไรควรเจริญอะไรควรดำเนิน กิเลสหยาบเป็นอย่างไรกิเลสละเอียดเป็นอย่างไรมีอยู่ในกายของเราหมดไม่ต้องไปค้นหาที่ไหน ค้นหาลงที่กายลงที่ใจของเรา


รู้จักจำแนกแจกแจงว่าอันนี้เป็นส่วนสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้เป็นส่วนใจ อันนี้เป็นอาการของใจ คำว่าขันธ์ 5 วิญญาณในขันธ์ 5 เป็นอย่างไร วิญญาณในกายเป็นอย่างไร ความเกิดความดับเป็นอย่างไร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นอย่างไร ก็ต้องพยายามศึกษาค้นคว้าให้รู้ความเป็นจริง ท่านถึงให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแบบงมงาย ให้มีศรัทธา แล้วก็ให้รู้แจ้งด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าศรัทธาแบบงมงาย


ปฏิบัติธรรมไม่รู้จักทำ เจริญสติไม่รู้จักเอาสติปัญญาไปใช้ มันก็เข้าไม่ถึงความเป็นจริง ก็ต้องพยายามกัน ไม่รู้วันนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า ปีนี้ ปีหน้า ไม่รู้จริงๆ มันก็จะไปต่อเอาภพหน้า ตราบใดที่ใจของเรายังเกิดอยู่ ขณะนี้เรายังอยู่ในภพของมนุษย์ ในภพของมนุษย์นี่มีโอกาสมากที่สุด ก็ต้องพยายามกัน


ต่อไปก็ได้พากันสมาทานศีลกันเสียก่อน


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเรา ให้ต่อเนื่องกันสักนิดนึงก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ ทำใจของเราให้สงบ ทำใจของเราให้ปกติ แล้วก็จะเจริญสติลงที่กายของเรา สร้างความรู้สึกตัว ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย เสียงก็สักแต่ว่าเสียง


ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ สัก 2-3 เที่ยวอย่าไปบังคับนะ ให้สูดลมหายใจยาวๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ การสูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาว กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรา นั่นแหละ ที่ท่านเรียกว่า 'สติรู้กาย' ถ้ารู้ทั้งหายใจเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่หายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ รู้ให้ต่อเนื่อง ภาษาธรรมท่านเรียกว่า 'สัมปชัญญะ" มีความรู้ตัวทั่วพร้อม มีสติรู้อยู่กับกายของเรา


ส่วนการเกิดการดับของใจนั้นหรือว่าความคิดเก่าของเรานั้นมีอยู่ ความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิด หรือว่าอาการของขันธ์ 5 นั้นก็มีอยู่ เรารู้ไม่ทันตรงนั้น เราไปนึกไปคิดเอา ไปหมั้นใหม่เอาความคิดเก่าปัญญาเก่า ว่าเป็นสติปัญญาที่แท้จริง อันนี้ก็เป็นสติปัญญาระดับของสมมติไม่ใช่สติปัญญาที่จะเข้าไปดับทุกข์ที่ใจของเราได้ เข้าไปคลายความหลงที่ใจของเราได้


นอกจากการเจริญสติเข้าไปรู้เท่ารู้ทัน รู้จักทำความเข้าใจจนใจคลายออกจากขันธ์ 5 หรือว่าคลายออกจากความคิด เราถึงจะเข้าใจคำว่า 'สมมติกับวิมุตติ' เข้าใจคำว่า 'อัตตา อนัตตา' เราเพิกสมมติออกจากวิมุตติแต่เขาก็อยู่ด้วยกัน แต่เราก็ต้องรู้ด้วยปัญญา ที่เกิดจากการเจริญภาวนา รู้จักแก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้น มายืนเดินนั่งนอนให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ


อันนี้ส่วนใจ หรือว่าส่วนวิญญาณ หรือส่วนนามธรรม ส่วนกายนี้เป็นส่วนรูปธรรมเราต้องเจริญสติลงที่กายให้เข้มแข็ง ให้ต่อเนื่อง แล้วก็เอาไปอบรมใจของเราให้ได้ให้ใจอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเรา จนชี้เหตุชี้ผล จนเห็นเหตุเห็นผล เห็นการแยกการคลาย เห็นการเกิดการดับ การเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ลงสู่หลักของไตรลักษณ์ คือหลักความว่างเปล่า


เห็นเป็นกองเป็นขันธ์ ที่ว่าเป็นธาตุ 4 ขันธ์ 5 วิญญาณในกายของเราเป็นอย่างนี้ ความเกิดความดับเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติของโลกก็เป็นอยู่อย่างนี้ โลกภายนอก โลกภายใน โลกธรรม ก็เป็นอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องทำความเข้าใจให้รู้ทุกเรื่อง


กายของเราทำหน้าที่อย่างนี้ หู ตา จมูก ลิ้น กายทำหน้าที่อย่างนี้ เขาจำแนกแจกแจงกันอยู่ แต่เราไปเหมารวมกันหมด เขาเรียกว่าอัตตาปิดบังอนัตตา สมมติปิดบังวิมุตติ


ถ้าเราจำแนกแจกแจงไม่ได้ ชี้เหตุชี้ผลไม่ได้ เราก็จะไม่เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ เราก็จะไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องหลักการเกิดการดับ หลักของอริยสัจ ความจริงซึ่งมีอยู่ในกายของเรา


เราก็ต้องพยายามศึกษาค้นคว้า กายของเรานี้แหละคือสนามรบอันยิ่งใหญ่ เราชนะตัวเราแล้วเราก็จะชนะหมดทุกอย่าง ส่วนมากก็จะไปเอาตั้งแต่ภายนอกมาทับถมดวงใจของเรา เอาความโลภ ความโกรธ ความทะเยอทะยานอยาก สารพัดอย่าง กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มาทับถมดวงใจของตัวเราเอาไว้ เราก็เลยไม่รู้ความเป็นจริง


เราต้องหมั่นขัด หมั่นเกลา หมั่นคลายออก หมั่นละกิเลส ทำให้ใจของเราเบาบางจากกิเลส เบาบางจากกิเลสจนใจของเราละกิเลสได้หมด ไม่เกิด ดับความเกิดของใจ ใจของเราก็จะนิ่ง สะอาดบริสุทธิ์ อยู่ในความว่างความบริสุทธิ์ ความว่างั้นแหละเขาเรียกว่า 'วิหารธรรม' เครื่องอยู่ของใจ


แต่เวลานี้ใจของเราทั้งเกิด ทั้งหลง ทั้งยึด แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราหลง เรายึดหรอก เราอาจจะรู้อยู่ในความถูกต้องระดับของสมมติ นอกจากบุคคลที่มาเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล จนทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรได้นั่นแหละ ท่านถึงบอกให้เชื่อ ก็พยายามทำกัน อย่าไปทิ้ง


อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง ใหม่ๆ ก็อาจจะสับสนบ้าง เพราะว่ากิเลสมารต่างๆ เขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แม้แต่ตัวใจของเรา เขาก็ไม่ยอมอยู่นิ่ง เขาก็หาเหตุหาผลมาโต้แย้งขันธ์ 5 ก็หาเหตุหาผลมาโต้แย้ง กำลังสติของเราจะมีเพียงพอจนชี้เหตุชี้ผล จนใจของเรายอมรับความเป็นจริงได้หรือไม่เท่านั้นเอง ก็ต้องพยายามกัน อย่าไปทิ้งบุญเด็ดขาด


อยู่ที่ไหนก็ทำใจให้เป็นบุญ ทำกายทำวาจาให้เป็นบุญ เราก็จะอยู่กับบุญ อานิสงส์แห่งบุญ กุศล ศีล ผลบุญผลทานของเรานี่แหละ จะเป็นเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเราไป ตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่ ก็ให้อยู่ในกองบุญเอาไว้ ไม่ถึงวันนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า ไม่ถึงจริงๆ ก็ต้องไปต่อเอาภพหน้า


สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่ง ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กันพากันไปศึกษาทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง