หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 22

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 22
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 22
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 22
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 3 เมษายน 2564


แต่ละวันตั้งแต่เช้ามา ใจเกิดซักกี่เที่ยว ใจเกิดสักกี่เรื่อง เราเคยวิเคราะห์ เราเคยเจริญสติเข้าไปสังเกต เข้าไปอบรมใจของเราได้หรือไม่


ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นลักษณะอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นลักษณะอย่างไร ใจที่ทำไมท่านถึงว่าใจถึงหลง ความหลงนั่นหลงอะไรอีก หลงความคิด หลงขันธ์ 5 หลงทุกอย่าง ถ้าเรายังแยกแยะไม่ได้ ก็มองเห็นตัวเองว่าไม่หลง ถ้าเราไม่ได้สร้างความรู้ตัวหรือว่ารู้จักลักษณะของสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันให้ต่อเนื่อง เราก็ว่าเรามีสติมีปัญญา มีอยู่แต่เป็นสติปัญญาของโลกีย์ ของสมมติ ไม่ใช่สติปัญญาที่จะเข้าไปดับทุกข์ที่ใจ แก้ไขที่ใจ


สติปัญญาที่จะเข้าไปดับทุกข์ได้ เราก็ต้องสร้างขึ้นมา ลงที่กายของเรา รู้จักจำแนกแจกแจงเอาไปใช้กับสมมติ ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขารคือร่างกายของเรา อะไรคือส่วนรูป อะไรคือส่วนนาม ให้เห็นให้ชัดเจน ให้ชัดแจ้ง


พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องการดับทุกข์ วิธีการ แนวทาง สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นถูก ในหลักธรรมเป็นลักษณะอย่างไร ไม่ใช่ว่าเป็นนึกเอาไปคิดเอา อริยสัจ ความเกิด-ความดับเป็นลักษณะอย่างไร เราก็ต้องเข้าถึงเห็นการแยกการคลาย รู้เรื่องอัตตา อนัตตา รู้เรื่องสมมติวิมุตติ รู้เรื่องธาตุ 4 ขันธ์ 5 ว่าเป็นกองเป็นขันธ์อย่างไร


อันนี้กองรูป กองนาม กองนามมีกี่ส่วน ใช่ที่เราเคยสวดเคยท่องกัน ว่าอันนั้นก็ไม่เที่ยง อันนี้ก็ไม่เที่ยง คำว่า 'ไม่เที่ยง' คือไม่ได้ตั้งอยู่นาน เป็นสุญญตาคือความว่าง ในความว่างนั้นมีวิญญาณอยู่ วิญญาณในกายของเรา เราต้องเจริญสติมาสร้างผู้รู้เข้าไปอบรมใจ บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น


ทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้น จนกระทั่งถึงเวลานี้ เวลาขบเวลาฉันก็เหมือนกัน จำแนกแจกแจงดูว่า กายของเราหิวหรือว่าใจเกิดความอยาก ความอยากความยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต่างๆ ใจของเราหรือว่าวิญญาณของเราไปเสวยอารมณ์ได้อย่างไร มีอยู่ในกายของเราหมด


เราต้องหัดวิเคราะห์ หัดวิเคราะห์หัดสำรวจ แล้วก็สร้างอานิสงส์ สร้างตบะบารมี ให้มีให้เกิดขึ้น สร้างบารมีให้เต็มเปี่ยม ยังความเสียสละ กำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ก็เพื่อที่จะให้ใจของเราเบาบางจากกิเลส เป็นผู้ให้ กิเลสหยาบกิเลสละเอียด พยายามคลายออกจากใจของเราให้มันหมด หาวิธีแก้ไข


ใจเกิดความโลภ ก็พยายามละความโลภ ด้วยการให้ ด้วยการเอาออก ด้วยการคลาย ด้วยการช่วยเหลือ ใจเกิดความโกรธก็พยายามดับความโกรธ แล้วก็พยายามให้อภัย อโหสิกรรม มองโลกในทางที่ดีแก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา เรามีความเกียจคร้าน เราก็พยายามละความเกียจคร้าน สร้างความขยันหมั่นเพียร สร้างความรับผิดชอบ ในการฝึกหัดปฏิบัติตัวเรา แก้ไขใจของเรา เราต้องพยายามให้เต็มรอบทุกอย่าง


ทั้งสมมติ สมมติในเรื่องที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ก็ให้สมบูรณ์แบบ อย่างปัจจัย 4 ที่พัก ที่อาศัย ที่หลับ ที่นอนที่ อยู่ที่กิน ถ้าเราไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพวกนี้ การปฏิบัติกาย ปฏิบัติใจก็ไปยากลำบาก เราก็ต้องพยายามดำเนิน ถึงจะมีไม่มากก็พยายามทำให้ดี รู้จักรับผิดชอบ รู้จักช่วยเหลือตัวเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ไม่ใช่ว่าจะไปแบกกายของเราไปหาที่โน่นที่นี่หาธรรม หาไม่เจอหรอก หาลงที่ใจของเราที่กายของเรานี่แหละ


สมมติภายนอกเราก็พยายามทำให้มีให้เกิด เพื่ออำนวยความสะดวกสบายทางด้านสมมติไม่ให้ลำบาก ถ้าคนเราไม่เข้าใจ บริหารสมมติไม่เป็น การใช้ชีวิตสมมติก็ลำบาก มันก็ยากที่จะเข้าถึงตัวใจ เพราะว่าใจมันต้องดิ้นรน ดิ้นรนทำสมมติ ให้สมมติได้อยู่ดีมีความสุข ถ้าสมมติของเราเต็มเปี่ยมไม่ได้ลำบากแล้ว ทางด้านจิตใจก็จะคลาย ก็จะไปได้เร็วได้ไว ไปถึงจุดหมายได้เร็วได้ไว


ท่านถึงบอกให้ช่วยเหลือตัวเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น พึ่งตัวเราให้ได้เสียก่อน ก่อนที่จะพึ่งคนอื่น พึ่งคนอื่นเราก็พึ่งได้เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ในระดับของสมมติ ส่วนระดับวิมุตติเราต้องพยายามสร้างขึ้นมา ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล จนใจปล่อยวางได้ ไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุข อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุข


ถ้าเราเข้าใจ รู้จักวิธีการ รู้จักแนวทาง การสร้างบารมี สร้างตบะ เรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ เรามีความรับผิดชอบ เรามีความอนุเคราะห์ต่อหมู่คณะเพื่อนฝูงหรือไม่ เรามีความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ความเกียจคร้าน เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีจิตใจที่เป็นกุศล มองโลกในทางที่ดีหรือเปล่า หรือเอาแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ความเกียจคร้านไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เจริญ เป็นพระก็ไม่เจริญ เป็นชีก็ไม่เจริญ เป็นฆราวาสก็ไม่เจริญ ถ้าความเกียจคร้านเข้าครอบงำ


เราจงเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ ขยันหมั่นเพียรทั้งภายนอก ทั้งภายใน ภายนอกเราก็ได้อาศัยอยู่สมมติ ไม่ได้ลำบาก ส่วนทางด้านจิตใจเราก็จะคลายกิเลส เบาบางจากกิเลสได้เร็วได้ไวขึ้นก็ต้องพยายามกัน


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงไหว้พระพร้อมๆ กัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง