ตามความเป็นจริง_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 31 วันที่ 15 เมษายน 2557

ตามความเป็นจริง_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 31 วันที่ 15 เมษายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
ตามความเป็นจริง_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 31 วันที่ 15 เมษายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
ตามความเป็นจริง ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
ตามความเป็นจริง ลำดับที่ 31
วันที่ 15 เมษายน 2557


ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง วางภาระหน้าที่การงานทางบ้านเราก็วางมาแล้ว ทีนี้เรามาหยุดเรื่องความคิดเรื่องอารมณ์ การทำบุญให้ทาน พวกเราก็เข้ามาทำบุญถวายทานทางด้านสมมติกันจบบริบูรณ์


ทีนี้เรามาสร้างความรู้ตัว เพื่อที่จะเข้าไปวิเคราะห์ใจ ทำความเข้าใจ สำรวจใจของเรา นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก พวกเราก็ขาดการสนใจ


หายใจอย่างไร ความรู้สึกถึงจะต่อเนื่อง หายใจอย่างไรถึงจะเป็นธรรมชาติที่สุด เราไม่รู้ลมหายใจ แต่เขาก็หายใจอยู่โดยธรรมชาติ เราพยายามมาสร้างความรู้ตัว มาเจริญสติลงอยู่ที่กายของเรา มีความรู้สึกรับรู้ลมหายใจหยาบ หายใจละเอียด หายใจเข้ายาว หายใจออกสั้น อันนี้เป็นแค่อุบายให้มีสติอยู่กับกายเท่านั้นเอง


ความหมายของการรู้ลมหายใจก็เพื่อที่จะให้มีสติต่อเนื่อง ลึกลงไปก็เพื่อที่จะรู้ลักษณะของใจซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม ว่าใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ใจที่สงบเป็นอย่างไร ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงเป็นทาสของกิเลส ทำไมใจถึงหลงความคิดหลงอารมณ์ ซึ่งเรียกว่า ‘ขันธ์ห้า’ ของเรา


มีอะไรบ้างที่พระพุทธองค์ท่านบอกว่าเป็นกองเป็นขันธ์ เราต้องเจริญสติเข้าไปรู้เท่าทัน จนกว่าใจของเราจะแยกออกคลายออก พลิกขึ้นมาหงายขึ้นมา เขาเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ถ้าแยกได้เมื่อไหร่ ใจคลายออกจากความคิดเมื่อไหร่นั่นแหล่ะเขาเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ-ความรู้แจ้งเห็นจริง’


เพียงแค่รู้แจ้งเห็นจริงยังไม่พอ กำลังสติของเราต้องตามดูรู้เห็นการเกิดการดับ ชี้เหตุชี้ผล ให้ใจยอมรับความเป็นจริงว่า ความไม่เที่ยงของขันธ์ห้ามันเกิดๆ ดับๆ รู้เข้าถึงอนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา ความว่างเปล่าของขันธ์ห้าของเรา ที่พระพุทธองค์บอกว่าไม่มีอะไร มีแต่ความว่าง มองเห็นโลกนี้เป็นของว่างไปหมด นี่แหละ


เราก็จะเห็นโลกนี้เป็นของว่าง แต่ใจนั้นมีอยู่ แต่ไม่มีตัวมีตน ความรู้สึกรับรู้มีอยู่ เราต้องพยายามเข้าถึงตามดูรู้เหตุทำความเข้าใจขัดเกลากิเลสของเราอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีอะไรที่จะเหลือ จนทำความเข้าใจกับกายก้อนนี้ว่าเขาทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหก ตาทำหน้าที่อย่างไร หูทำหน้าที่อย่างไร กายทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณทำหน้าที่อย่างไร เพราะว่าพระพุทธองค์ท่านแจงออกให้ทุกคนได้ประพฤติปฏิบัติแล้วชี้เหตุชี้ผล พวกเราอย่าพากันปล่อยเวลาทิ้ง เสียดายเวลา


ตื่นขึ้นมารีบสำรวจใจ ขยันหมั่นเพียร อยากร่ำอยากรวยก็ขยันหมั่นเพียรด้วยสติด้วยปัญญา รับผิดชอบด้วยสติด้วยปัญญา ไม่ให้ใจของเราหลง ไม่ให้ใจของเราเกิดกิเลส เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุมีผลหมด เหตุผลทางด้านสมมติ เหตุผลทางด้านวิมุตติ ไปโต้แย้งไม่ได้เลย


ถ้าเราทำความเข้าใจแล้วตามดูรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมรับความเป็นจริง จนใจของเรายอมจำนนได้นั่นแหละ ดับความเกิดของใจได้นั่นแหละ มองเห็นหนทางเดินได้นั่นแหละ เราถึงจะทะลุปรุโปร่ง ไม่ต้องกลับมาเกิดกัน


สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกันนะ ทุกสิ่งทุกอย่างวางเอาไว้เสียก่อน อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว ขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกัน


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง