ตามความเป็นจริง_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 18 วันที่ 29 มีนาคม 2557

ตามความเป็นจริง_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 18 วันที่ 29 มีนาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
ตามความเป็นจริง_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 18 วันที่ 29 มีนาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
ตามความเป็นจริง ชุดที่ 1 (ลำดับที่ 1-20)
ถอดความฉบับเต็ม
ตามความเป็นจริง ลำดับที่ 18
วันที่ 29 มีนาคม 2557


ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน


ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง เราได้วิเคราะห์กายของเรา เราได้วิเคราะห์ใจของเรา เราตามดูตามรู้ตามเห็น ความเกิดความดับของใจของเรา ตามดูตามรู้ตามเห็น ขันธ์ห้าของเรา หรือว่าความคิดของเราตั้งแต่เริ่มก่อตัวแล้วหรือยัง


ถ้ายัง ถ้ายังก็พยายามหัดสังเกต เป็นคนช่างสังเกต ช่างวิเคราะห์ อะไรคือส่วนสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ อะไรคือส่วนใจ ทำไมใจถึงเกิด ทำไมความคิดถึงผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ อันนี้มีกันทุกคน จะมีมากมีน้อย มีกันหมด เพราะว่าใจนี้หลงมาก่อน เขาหลงมาเกิดอยู่ในภพของมนุษย์ แล้วก็มาสร้างขันธ์ห้า ซึ่งมีส่วนรูป คือกายเนื้อของเรานี้มาปิดกั้นเอาไว้ แล้วก็มีส่วนนาม คือความคิดอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในกายของเรา รวมกันแล้วมีอยู่ห้าขันธ์ มีอยู่ห้ากอง มีวิญญาณเข้ามาครอบครอง เข้ามาสร้าง แล้วก็มาหลงมายึด มายึดมาหลงก็ยังไม่พอ ยังไปสร้างต่อยังไปหลงต่อ หลงเป็นทาสของกิเลส หลงเป็นทาสของอารมณ์ มีความทะเยอทะยานอยาก หลงตัวเอง ทุกอย่างมันปิดกั้นเอาไว้


นอกจากแนวทางของพระพุทธองค์เท่านั้นแหละ ที่จะค้นคว้า ท่านได้ค้นคว้า แล้วก็เอามาจำแนกแจกแจง ให้ทุกคนได้รู้เห็นตามความเป็นจริง ว่าทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง พระพุทธองค์ท่านเน้นลงหลักของอนัตตา ความว่างเปล่า ไม่มีอะไร แต่เราก็มองเห็นว่ามีอยู่ แต่พระพุทธองค์บอกว่ามองเห็นว่าไม่มี มีในความไม่มี เป็นในความไม่เป็น ไม่เข้าไปหลงยึดในสิ่งต่างๆ กายเนื้อก็กายของเรา แต่พระพุทธเจ้าว่าเป็นอนัตตา นี่แหละ ท่านบอกให้ปฏิบัติตามดังนี้ ดำเนินดังนี้ เข้าถึงแล้ว ท่านถึงบอกให้เชื่อ ก็ต้องพยายามกัน


แต่ละวัน แต่ละวัน เราอย่าปล่อยเวลาทิ้ง ความขยันหมั่นเพียร ความเสียสละ ความอดทน ความกตัญญูกตเวที การฝักใฝ่ การสนใจ การวิเคราะห์ การพิจารณา ใจวิเวกเป็นอย่างไร กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจไม่เกิดเป็นอย่างไร ลักษณะของใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ลักษณะของใจคือความว่างนั่นแหละ ใจก่อตัวตรงไหน เริ่มก่อตัวตรงไหน เราหยุดขณะเขาก่อตัว จะเข้าถึงตัวใจ ทีนี้ใจเกิดกิเลส เราจะละกิเลสได้หมดจดหรือไม่ ก็ต้องพยายามเอา ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ จิตแต่ละดวงมีการพัฒนามาเรื่อยๆ พยายามพัฒนาให้ถูกที่ถูกทาง ก็จะถึงจุดหมายปลายทางกัน


เอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปศึกษาทำความเข้าใจต่อกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง