หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 125

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 125
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 125
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 125
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 17 ตุลาคม 2556

พากันดูดีๆ นะ ภาระที่เราพิจารณาปฏิสังขาโย อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่เช้าตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ เราต้องทำความเข้าใจกับกายของเรากับใจของเรา จะลุกจะก้าวจะเดิน จนกว่ากําลังสติปัญญาของเราจะเร็วไว พยายามพิจารณาแก้ไขตัวเรา วันนี้อากาศก็ครึ้มแต่เช้านะ คงจะเป็นพายุฝนฟ้าตกหนักรอบข้างเรา แต่ยังไม่ได้ลงที่สถานที่ตามน้ำในบ่อ นำ้ในลำรางลำห้วย น้ำหลากมายัง คงจะยังน้อ คงจะยัง ใกล้แล้วแหละ เดี๋ยวก็มา ฝนฟ้าก็เริ่มตกโปรยปรายลงมาแล้วแหละ น้ำหลากเดือนสิบ สิบเอ็ด เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนหลาก น้ำหลาก สิบเอ็ดสิบสอง น้ำหลาก น้ำนอง ไม่ช้าก็เร็ว หัวคงจะได้มา แต่เวลานี้น้ำมันหลากอยู่ที่ใจของคน มันวิ่งมันเกิดอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้วิ่งไปที่ไหนบ้าง

แต่ละวันๆ ตื่นขึ้นมาก็วิ่ง คิดไปสารพัดอย่าง ไม่ว่าพระว่าชี ใจมันวิ่งไปโน้นวิ่งไปนี้ มีแต่เรื่องภายนอก ไม่ขัดเกลาเอาออกจากใจของตัวเราเอง มีตั้งแต่สร้างสะสม รู้จักการเจริญปัญญาตั้งแต่ตัวน้อยๆ การเจริญสติรู้จากลักษณะของการสร้างสติให้ต่อเนื่อง รู้จักเอาสติปัญญาไปใช้ ไปทำความเข้าใจกับจิตของตัวเราเอง ลักษณะของจิตที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร จิตที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร จิตที่ไม่มีความหลงเป็นอย่างไร ไม่รอบรู้ในดวงจิต ไม่รอบรู้ในกองสังขาร ไม่รอบรู้ในโลกธรรม

ได้แต่ทำบุญ เอาตั้งแต่บุญ อยู่กับบุญ ในหลักธรรมก็ยังหลงอยู่แต่หลงอยู่ในคุณงามความดี แต่ยังดับความเกิดไม่ได้ ยังละกิเลสไม่ได้ เราต้องพยายามดับความเกิด ละกิเลสภายในของเรา รู้ต้นตอรู้สาเหตุให้มันชัดเจน เวลาขบเวลาฉันก็เหมือนกัน กายของเราหิวหรือว่าใจของเราเกิดความอยากก็ต้องดูนะ ต้องดูใจเกิดความอยาก เราก็รีบดับ กายหิวๆ อันโน้นก็อร่อย อันนี้ก็อร่อย เอาน้อยๆ ก็กลัวไม่อิ่ม มันบอกว่ากิเลสมันสั่งเอาเยอะๆ เวลาเอาเข้าจริงๆ ก็ทานได้นิดเดียว ทานได้ไม่เยอะ ความอยากมันเล่นงาน

อยากจะเห็นตัวใจชัดเจน อดอาหารสักมื้อสองมื้อ กายมันหิว ใจมันจะปรุงแต่งความอยากได้เร็วๆ ไว เราก็ใช้สมถะเข้าไปหยุด เข้าไปดับ เข้าไประงับยับยั้ง ฝืนครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง ใจก็จะนิ่งขึ้น ถ้าเราไม่ฝืน เราปล่อยไปตามอำนาจของใจ อำนาจของขันธ์ห้า มันก็ไปตลอดเวลา กําลังเขาก็มีมากขึ้นๆ ก็เลยเอาไม่ค่อยจะอยู่ เราต้องพยายามหยุด พยายามดับ พยายามเจริญพรหมวิหารเข้าไปทดแทน มองโลกในทางที่ดี คิดดี มีความเสียสละ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักพิจารณา ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ความทะเยอทะยานอยาก ปรับสภาพความขยันหมั่นเพียรด้วยสติด้วยปัญญา เข้าไปทำหน้าที่แทน พยายามเอา ค่อยทำ ค่อยเป็น ค่อยไป ค่อยพัฒนาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเต็มรอบ

ไม่ใช่ว่าพัฒนาวันหนึ่งวันเดียว มันถึงจุดหมายเลยอย่างนี้ไม่ใช่ ต้องคอยพัฒนา คนเราก็พัฒนามาตั้งนานแล้วแหละ เกิดมาหลายภพหลายชาติแล้วแหละ ตราบใดที่ใจยังเกิด เกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เกิดอยู่ในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือลงนรก หรือสัตว์เดรัจฉาน พากันเกิดมาหมดนั่นแหละ ขณะที่เรายังมีชีวิตมีลมหายใจ เราได้เกิดมาอยู่ในภพของมนุษย์ ภพของมนุษย์เป็นภพที่มีสติปัญญาพอที่จะพร่ำสอนตัวเองได้ พระพุทธเจ้าจึงได้เลือกเกิดมา ในภพของมนุษย์ มาตรัสรู้ ตรัสรู้ธรรมก็รู้ใจนั่นแหละ ไม่ให้ใจเกิด ไม่ให้ใจหลงเป็นทาสของกิเลส รู้จักวิธีแก้ไข ชี้แนะแนวทางให้ การเจริญสติ การละกิเลส การเจริญพรหมวิหาร ท่านค้นพบมาหมดเลย แต่ก็เลยเอามาบัญญัติให้ได้เดินตาม ก็อยู่ในกายของเรานี่แหละ ไม่มีอะไรมากหรอก ขันธ์ห้าในกายของเรา สิ่งภายนอกจะอยู่ไกลถึงขนาดไหน ยังไขว่คว้ามาได้

แต่ในกายของเราใจของเรา อยู่ในกายของเราแท้ๆ ทำไมถึงไม่จัดการให้มันเรียบร้อย ให้ตั้งแต่กิเลสมารมาเล่นงาน ความอยากเล่นงาน ความยินดียินร้าย กิเลสมารเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เหมือนกัน อยากจะดับทุกข์ได้ เราก็ต้องขัดเกลากิเลสของเรา ตามคําสอนของพระพุทธองค์ ตามคําสอนของพระพุทธเจ้า การละกิเลสเป็นอย่างนี้ การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การเจริญพรหมวิหารเป็นอย่างนี้ เราก็น้อมดูรู้กายรู้ใจของเรา พยายามสร้างให้มี ให้เกิดขึ้น

บุคคลที่มีบุญย่อมจะพิจารณาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แก้ไขตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะลมหายใจเข้าออกหรือว่าทุกขณะจิต จนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ ในการทำความเข้าใจ ถ้าเราละกิเลสได้หมดจด เราดับความเกิดได้ เราไม่อยากให้ใจของเราสงบ มันก็สงบ เราไม่อยากให้ใจของเราสะอาด มันก็สะอาด เพราะว่าการละกิเลสของเรามี การหยุด การดับ การละ ของเรามี แต่คนทั่วไปมีแต่ส่งเสริมดิ้นรนแสวงหา

พระพุทธองค์ท่านถึงบอกว่าให้ละความอยาก ละความหวัง แต่การทำความเข้าใจด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล ดำเนินตรงนี้ให้ถูกต้อง ก็จะอยู่กับสมมติอย่างมีความสุข ก็กายของเรานี่แหละก้อนสมมติ รอบรู้ในกายในดวงใจของเรา ก็ล้นออกไปสู่โลกธรรม อะไรมันขาดตกบกพร่อง ก็รีบแก้ไข เรามีความเกียจคร้าน เราก็พยายามสร้างความขยัน เราไม่มีความรับผิดชอบ เราก็พยายามสร้างความรับผิดชอบ ใจของเรายังเกิด ยังยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆ เราก็พยายามแก้ไข

มีในความไม่มี เป็นในความไม่เป็น โลกธรรมก็ร่วมกันอยู่ อาศัยกันอยู่ ธรรมกับโลกก็อาศัยกันอยู่ แต่เราต้องมีเจริญสติปัญญาเข้าไปทำความเข้าใจ เราไม่ เราไม่ให้เอาตัวใจตัวขันธ์ห้าเป็นตัวบงการ อันตัวนี้มีกันทุกคน แล้วก็หลงมา หลงมาด้วย ถ้าไม่หลงไม่เกิด ไม่ได้เกิด หลงเกิดแล้วก็มาหลงในการมายึดๆ ติดอีกในสิ่งต่างๆ อีก แล้วก็ยึดติดในสิ่งที่ดีๆคือบุญกุศล ท่านให้ละทั้งบุญทั้งบาป แต่ให้สร้างบุญให้ละบาป แล้วก็ละบุญอีก ไม่ให้ยึดติด ถึงเราไม่เอาไม่ยึดเราก็ได้ เพราะว่าใจของเราเป็นบุญ ถึงละไม่ได้ก็ให้ยึดบุญเอาไว้เป็นเสบียงก็ยังดี

ตัวใจนั่นแหละคือตัวบุญ เวลาเราสร้างคุณงามความดีแล้วใจมีความสุข นั่นแหละบุญเกิดขึ้นกับเรา มันขัดเกลาตัวเราอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ทุกเรื่องทุกอิริยาบถ กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารตาทำหน้าที่อย่างไร หูทำหน้าที่อย่างไร แต่เรารู้จักอยู่ในภาพรวม แต่เราไม่ได้เจริญสติเข้าไปแจง เข้าไปแยกแยะ กําลังสติของเราถ้ายังไม่รู้ลักษณะของใจที่คลายออกจากความคิด เขาก็จะไม่เห็นชัดเจน

เพียงแค่การสร้าง การเจริญสติให้ต่อเนื่องก็ลําบากอยู่ ภายใน 5 นาที 10 นาที ก็ยังยากลําบาก ถ้าคนไม่มีความเพียร ถ้ามีความเพียรแล้ว ถ้าแยกแยะได้ ก็ตามทำความเข้าใจได้ทุกเรื่องจนหมดความสงสัยได้นั้น สติปัญญาจะรักษาเรา ธรรมจะรักษาเรา จะยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย จะร้องตะโกนอยู่ ใจก็สงบบริสุทธิ์ เพราะว่าเราได้ทำความเข้าใจให้ถึงจุดหมายเสียก่อน เกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับสมมติ ทุกเรื่องๆ เลย ระวังดีๆ นะความอยากนั่นแหละเป็นเหตุ

ความอยาก อยากมาให้กายตัวเราเอง อยากให้คนอื่นโดนเล่นงานเอา ต้องกําจัดความอยากตั้งแต่เรื่องการกินนี่แหละ กะประมาณในการขบฉันของตัวเรา สมัยก่อนหลวงพ่อก็ฝึกเอาการเหมือนกัน ความอยาก อยากอะไร ก็ไม่เอาให้มันนะ ต้องละ ละทีนั้นละทีนี้ บางทีก็ อดอาหารได้ทีละ14-15 วัน ดื่มแต่น้ำ อยู่บนยอดเขา อดอาหารได้เยอะจริงๆ 25 วันนะ อยู่บนยอดเขาที่อำนาจเจริญ เดินเหมือนกับเหาะเลยทีเดียว ตัวนี้เบา ใจนี้ว่างโล่งโปร่ง อดอาหารแล้วก็อดนอนๆๆ ได้ 9 คืน ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ดูว่าสติของเราจะเผลอยังไงช่วงหน้าหนาว อดนอนดู ถ้านิวรณ์จะเข้าลุกอาบน้ำ หนาวๆ เดินจนกระทั่งตามดูในนิมิต หลอกเราไม่ได้กระทั่งในนิมิต ตัวกิเลสมารต่างๆ จนจิตนี้ยิ้มเผล่ขึ้นมาทีเดียว ตามดูในนิมิต แม้แต่ในนิมิตก็หลอกเราไม่ได้ เราต้องทดสอบทดลอง ผ่านมาหมดน่ะ เจอภพภูมิวิญญาณก็มากมาย เราเล่นงานก็หนัก ไปนอนอยู่กลางป่าช้ากับกองกระดูกขาวโพลนอยู่ ไปอยู่ตามป่าตามเขาตามถ้ำ

กว่าจะได้มาเล่าให้พวกท่านฟังได้นี้ ไม่ใช่ว่าไม่เคยผ่าน ผ่านมาหมด แม้กระทั่งงูเหลือมตัวเบ้อเริ่มเลย อยู่ๆ นอนไปอยู่บนถ้ำ แบบเดินจงกรม เดินเหนื่อยๆ จะนอนพักเท่านั้นแหละ ออกจากถ้ำมาเล่นงานเอา ลูบจากขาขึ้นมาบนเอว มันโล่ง มันอยากจะกินก็ให้มันกิน มันเอาหัวมาวางอยู่บนตัว มันเหมือนกับรูปท่อนไม้นั่นแหละ แต่ว่าใจของเราไม่ได้มีความยินดียินร้ายอะไร อยากจะกินก็ให้มันกิน แต่มันก็กินไม่ได้ เพราะว่าใจของเรามันปล่อยวางหมดเสียแล้ว

เราจัดการกับใจของเราให้เรียบร้อย ทุกเรื่องให้มันเด็ดขาด จนถึงจุดหมายเราค่อยสบาย ยืน เดิน นั่ง นอนก็ สติปัญญา สมาธิ ความว่างจะรักษาเราเอง ทุกคนต้องผ่านหมดนั่นแหละ ผ่านการฝึกหัดปฏิบัติไปเจออันโน้น ไปเจออันนี้ ช่วงใหม่ๆบางทีเวลานั่งเราก็คันยุกๆ ยิกๆ เดี๋ยวก็คันคอ คันโน้นคันนี้ สารพัดอย่างล่ะ กิเลสมารมาเล่นงาน เราไม่ฝืนให้มันผ่านพ้นไป เวลานั่งก็เกิดทุกขเวทนา ต้องนั่งดูรู้ให้มันถึงจุดหมาย มันถึงจะเข้าใจนี้ นั่งนี้ ถ้านั่งแป๊บเดียว เวทนามันก็ไม่เกิด ถ้านั่งนานไปเวทนามันก็เกิด เวทนาของกาย มันก็เกิด เกิดแล้วมันก็คลาย ความเย็นความโล่งก็เข้าไปทดแทน สักพักระยะหนึ่งก็เกิดขึ้นมาใหม่ เวทนาเล็ก เวทนาน้อย เวทนาใหญ่ เหมือนกับจะฉีกร่างออกจากกันเลยทีเดียว จนอยู่เหนือเวทนานั่นแหละ

เรานั่งเพื่อที่จะรู้ความจริงว่ากายมันเป็น เป็นคนทุกข์ ใจมันก็ให้รับรู้ ทุกอย่างเราต้องทำความเข้าใจหมด ทุกอิริยาบถ ส่วนมากก็จะไปมอง ไปปฏิบัติธรรมก็ไปมองเอาทั้งสิ้น มันก็ภายนอกกัน ไปกำหนดกาลกําหนดเวลา อย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักแล้ว กําลังสติของเราต่อเนื่องแล้ว เราดูรู้ที่ใจของเรา ประหารกิเลสที่เกิดขึ้นจากใจของเราทันที ความอยากแม้แต่นิดเดียว ก็ไม่ให้เกิดขึ้นที่ใจ มีจําแนกแจกแจงออก อันนี้ส่วนรูป อันนี้ส่วนนาม อันนี้ภาระหน้าที่ของสมมติเพื่อยังสมมติให้เกิดประโยชน์ ได้ทั้งสมมติทั้งวิมุตติ ไม่ปล่อยเวลาทิ้ง เสียดายเวลา

ส่วนมากก็ไม่ค่อยจะเข้าใจกัน ปฏิบัติบางทีก็ปฏิบัติแบบหลงๆ แบบรูปแบบ มีความหมายของการปฏิบัติ ขัดเกลา ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ก็เพื่อที่จะละกิเลสความอยากออกจากใจของเรา ให้มันหมดจด กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด แต่ส่วนมากก็ไปยึดติดเล็กๆ น้อยๆ แค่นั้นก็ปล่อยวางไม่ได้ มันก็ไม่เข้าใจ แต่เราต้องทำความเข้าใจ สมมติเคารพสมมติ ทำหน้าที่ของสมมติ อะไรมันควร หรือไม่ควร ถ้าเรารู้ความจริงของชีวิต เราก็จะมีตั้งแต่ความสุข เราจะไปห้ามคนโน้นคนนี้ อย่าไปพูดอย่างนั้น อย่าไปว่าอย่างนั้น อย่าไปว่าอย่างนี้ อันนั้นเราห้ามไม่ได้หรอก เรามาห้ามใจของเรา แก้ไขใจของเรา ถ้าบอกไม่เชื่อฟังก็ยกให้เป็นกรรมเท่านั้นเอง

ตั้งใจรับพรกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง